WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, January 14, 2011

รายงานเปิดตัวโครงการวิจัย “เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านของเรา”

ที่มา ประชาไท

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะเปิดตัวโครงการวิจัยว่าด้วยเขตแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางกระแสระอุเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา

งานเปิดตัวโครงการวิจัย “เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านของเรา” “Our Boundaries- Our ASEAN Neighbors” เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ร่วมกับภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานมีการมอบสื่อวีซีดี,ดีวีดีและหนังสือซึ่งเป็นผลงานจากโครงการวิจัย ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานฟรี

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้ชี้แจงถึงโครงการนี้ว่า ตนมีฐานะเป็น “ผู้รับจ้าง” จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยเป็นงานแรกของมูลนิธิโครงการตำราฯ ที่ได้รับจ้างจากราชการไทย เราจึงเป็น "ผู้รับจ้าง" จาก "ผู้ว่าจ้าง" ตามสัญญาที่เราลงนาม สำหรับโครงการนี้ เป็นโครงการย่อย ที่รับมาแต่งานวิชาการ จากโครงการใหญ่ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหากใครต้องการทราบรายละเอียดโครงการอื่นๆ หรือส่วนอื่นๆ รวมทั้งงบประมาณทั้งหมด ต้องสอบถามจากกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับงานศึกษาวิจัยโครงการนี้ได้เผยแพร่ในรูปแบบประกอบด้วยหนังสือ 6 เล่ม และดีวีดี-วีซีดี 1 ชุด เป็นผลงานค้นคว้าวิจัยของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งมูลนิธิฯ มีประวัติการก่อตั้งขึ้นโดย ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2509 และหาเงินเองโดยได้รับการบริจาคจากมูลนิธิร๊อคกี้เฟลเลอร์ ต่อมาได้รับบริจาคจากมูลนิธิโตโยต้า ญีปุ่น และปัจจุบันได้จาก มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย โดย ศ. เพ็ชรี สุมิตร เป็นประธานคนปัจจุบัน ซึ่งงานวิจัย "เขตแดนของเรา เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา" เป็นงานแรกที่ได้จากราชการไทย...

เลขาธิการอาเซียน ชี้ปัญหาเขตแดน-มรดกยุคล่าอาณานิคม
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า ปัญหาหลายอย่างในเรื่องเขตแดนควรปล่อยให้เป็นเรื่องเทคนิค ต้องลดอารมณ์ ลดการเมือง เพราะต้องกลับไปสู่หลักฐานข้อเท็จจริง ซึ่งความขัดแย้ง ความระหองระแหงในอาเซียน มีอยู่หลายคู่ในหลายจุด แต่เผอิญประเทศไทยอยู่ตรงกลางและมีมิตรประเทศอยู่รอบด้าน จึงมีประเด็นและมีข้อที่จะต้องเจรจาหาข้อยุติ จะต้องเข้าสู่กระบวนการมีบันทึกความตกลงหลายฉบับ ที่พูดถึงเรื่องความพยายามที่จะปักปันเขตแดน โดยหลักฐานที่เรามีคือหลักฐานที่เราทำไว้กับเจ้าอาณานิคม ขณะที่ประเทศเกิดใหม่ ก็เป็นรัฐที่รับมรดกต่างๆเหล่านั้นมาและเราจำเป็นจะต้องหาข้อยุติในเรื่องเขตแดนชายแดน

หกพันหกร้อยกว่ากิโลเมตร ซึ่งเป็นเขตแดนของเรา กับพม่า ลาว เขมร มาเลเซีย เรามีบันทึกข้อตกลงว่าจะทำการปักปัน กับหลายประเทศ เรื่องยังค้างคาอยู่ที่เรื่องการปักปันกับทุกประเทศ ยังไม่ได้ข้อยุติโดยสัตยาบันของทั้ง 2 ประเทศ ทั้งหมดจึงเป็น work in process เพราะฉะนั้นแผนที่อันใดก็ตามแต่ที่ท่านทั้งหลายชี้ไป คือแผนที่ที่อนุมานตามสนธิสัญญา ตามหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ตามข้อตกลงที่บันทึกเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีการปักปันจากหลักเขตหนึ่ง ไปหลักเขตหนึ่งที่ชัดเจน ทั้งหมดนี้ยังเป็น work in process ทั้งหมดนี้คือ legacy จาก colonial period

แนะขยับข้อตกลง-เคารพภาวะอารมณ์
ทางแก้ไขมีอยู่ 2 อย่าง ซึ่งอันหนึ่งเป็นไปไม่ได้แล้ว ส่วนอีกอันหนึ่งยังเป็นไปได้ ทางหนึ่งคือ กลับไปก่อนยุคอาณานิคม (colonial period) สมัยที่บรรพบุรุษของเรายังกราบไหว้บูชาสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน โดยไม่เคยคำนึงถึงพรมแดน เพราะแผนที่ มาพร้อมกับ colonialism คอนเซปท์เรื่องแผนที่ มากับลัทธิอาณานิคม ในยุคอาณานิคมฝรั่งเศสกับอังกฤษ เป็นการเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรา ต้องกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนโดยเอาแผนที่มาให้เห็น เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นทางหนึ่งคือถอยกลับไปก่อนมีการกำหนดแผนที่ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้แล้วในขณะนี้ แต่อย่างน้อยๆ สปิริตของมันน่าจะนำมาใช้ได้ คือยอมรับว่าคนทั้ง 2 ฟากฝั่งของเขตแดน (boundary) ซึ่งเกิดขึ้นโดยข้อตกลงตามอำนาจที่รัฐบาลพึงมี ก็ออกมาเป็นสนธิสัญญา ออกมาเป็นแผนที่ประกอบท้ายสนธิสัญญา แต่ในความเป็นจริงคือไม่เคยเดินจากหลักถึงหลัก ไม่เคยเดินตามร่องน้ำ ไม่เคยเดินตามสันปันน้ำ ทำกันเพียงบางส่วนแต่ยังไม่เสร็จ จึงยังถือว่ามันเสร็จสิ้นจบแล้วไม่ได้ แต่เป็นสปิริตของความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อนบ้าน

วิธีที่ 2 คือ รอให้อาเซียนเป็นประชาคม (community) เหมือนในสหภาพยุโรป เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่เคยใช้เป็นคำเตือน กรณีที่ผมแก้ไขเรื่องเนิน 491 สมัยผมเป็นรมช.ต่างประเทศ เป็นเขตแดนที่ยังไม่ชัดเจน ผู้ใหญ่ในแผ่นดินให้แนวคิดว่าในยุโรป มีรั้วที่เลื่อนได้เหมือนรั้วจราจร เดินทางข้ามประเทศกันได้ ถ้าเขาอยากจะตรวจก็ขอตรวจ แต่โดยปกติแล้วแทบจะไม่มีเส้นเขตแดน เพราะต้องการให้เกิดการไหลของประชากรได้ โดยไม่ต้องมีวีซ่า พาสปอร์ต เดินทางได้ทั่วยุโรป ดังนั้นต้องรออาเซียนเป็นประชาคม เขตแดนไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะต้องบูรณาการทางเศรษฐกิจต่อกัน ผลประโยชน์จากการมีพรมแดนติดกัน นั่นคือสปิริตหนึ่งของอาเซียน เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

เผอิญว่าประเทศไทยอยู่ตรงกลางไข่แดงของอาเซียน จึงมีประเด็นปัญหากับเพื่อนบ้านหลายคู่มากกว่าคนอื่น
ชาตินิยม อารมณ์ การเมือง เป็นปัจจัยที่มาเร่งมันคือ work in process ที่เราทำอยู่ในขณะนี้ ชาตินิยมดีในบางเรื่อง บางวาระ แต่ในอดีตดีกว่าปัจจุบัน เพราะบรรยากาศของโลกมันเปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะกฎเกณฑ์เปลี่ยนไปแล้ว ชัดเจนว่าแม้แต่คอนเซปชาตินิยม ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเวลาสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ ฉะนั้น การพูดเจรจาหาโอกาส หาข้อยุติ ด้วยสติ ปัญญา สมาธิ ด้วยหลักฐาน ด้วยข้อเท็จจริง เป็นวิธีเดียวที่จะนำไปสู่ข้อยุติให้การแก้ปัญหา มิเช่นนั้นจะหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะรีบไม่ได้ เร่งไม่ได้ ต้องไปตามขั้นตอนและกระบวนการ บ่อยครั้งความแตกต่างเรื่องเทคโนโลยีที่มีอยู่ก็เป็นปัญหา เช่น เราบอกว่าเราใช้หลักฐานอ้างอิงโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรามี แต่เขาบอกว่า เขาไม่มี เขาไม่พร้อม เพราะฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำเรื่องเทคโนโลยี เรื่องเทคนิคก็เป็นปัญหาเหมือนกัน จึงต้องใช้เวลาให้ทั้ง 2 ฝ่ายที่จะต้องเจรจาด้วย มีความมั่นใจว่าทุกหลักฐาน ทุกเทคโนโลยี ทุกเอกสารอ้างอิง ทุกแผนที่ สามารถสร้างความมั่นใจให้ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายก็ต้องเสนอหลักฐานเหล่านี้เพื่อประกอบการพิจารณา

ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเอาหลักฐานทั้งหมดมาพูดกันบนโต๊ะด้วยจุดประสงค์ของการหาทางออกด้วยสันติและมิตรภาพ มิฉะนั้นมันไม่สิ้นสุด

ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ถ้าตกลงกันจุดใดไม่ได้ ก็ไปตกลงกันจุดอื่นได้ไหม ขยับกันเพื่อให้มีข้อยุติ ต้องใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจา เช่น วัดจีน ที่ปาดังเบซา ทำที่ล้างจานล้ำเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน 2-3 เมตร จะให้ย้ายหรือทำลายสิ่งที่ชาวบ้านใช้ประกอบพิธีกรรมพิธีการเป็นเวลาหลายสิบปีอย่างนั้นหรือ ทำไม่ได้ เพราะภาวะอารมณ์ (emotion) มันแรง เคารพในภาวะอารมณ์ ถือเป็นปัจจัยในการเจรจาเหมือนกัน เราจะยอมรับไม่ปรับสิ่งที่เป็นอยู่ แต่ปรับตรงอื่นได้ไหม ฉะนั้น ตลอดแนว ต้องยอมรับว่ายังไม่ define (กำหนด) ยังไม่ demarcate (ปักเขต) และ delineate (ขีดเส้น) ชัดเจน มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใน 100 ปีนี้ ทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปตามปกติสังคมมนุษย์

การที่สังคมตื่นตัวเรื่องเขตแดนเป็นเรื่องดี สังคมประชาธิปไตยต้องการการมีส่วนร่วมและมีความรู้สึกผูกพันกับข้อตกลงต่างๆที่พึงเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลทำในนามของเราทุกคน แต่เราต้องเตรียมหลักฐานนำไปสู่การเจรจาพร้อมจะอะลุ่มอะหล่วย เพราะทุกอย่างยังไม่ตายตัวแต่เป็นมรดกในอดีต เราใช้อารมณ์ความรู้สึกของหมู่คณะของพวกไม่ได้ ท้ายที่สุดต้องใช้หลักฐาน เป็นประโยชน์ร่วมสร้างสปิริตอาเซียนสุดท้ายจะนำไปสู่ความปรองดองของประชาคมอาเซียน

ส่วนสัตยาบันของอาเซียนที่เกิดขึ้นช้าที่สุดคือประเทศประชาธิปไตย ที่ช้าสุดคือประเทศไทย เพราะไม่รู้จะเอาเข้าสภาตอนไหน

จากโลกาภิวัฒน์ ถอยหลังกลับไปทะเลาะเรื่องเขตแดน
ด้าน จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า จิตสำนึกแห่งความเป็นชาติ เกิดขึ้นไม่นานเมื่อถึงจุดหนึ่งก็สวิงไปสู่ชาตินิยมที่รุนแรง ไม่สนใจข้อเท็จจริง เอาแต่ความรักเป็นที่ตั้ง ทั้งที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพิ่งพูดกันเรื่องโลกาภิวัตน์ แล้วจู่ๆ ก็กลับมามีปัญหาเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ได้มีแค่เรื่องดินแดน แต่มีการทูตเชิงวัฒนธรรม เชิงเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระดับประชาชน ที่ไม่ได้ขึ้นกับเส้นบนแผนที่ เพราะระดับประชาชนมีความเกี่ยวดองกัน และความสมพันธ์ด้านรัฐก็มี Cultural Diplomacy ปัจจุบันตนเองก็ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเห็นด้วยกับสิ่งสร้างสรรค์เชิงบวก การให้การศึกษาสาธารณะในมุมกว้าง

ส่วนอารมณ์ความรู้สึกการเมืองที่วุ่นวาย จิระนันท์ กล่าวว่า สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมบริโภคนิยมไปเป็นสังคมบริภาษนิยม เพราะพูดอะไรออกไปก็โดนด่า และรู้สึกละอายใจที่ต้องนิ่งเสียตำลึงทอง ทั้งที่ไม่อยากได้ทอง แต่ต้องนิ่ง แล้วตอนหลังทำเรื่องทัศนศิลป์แล้วรู้สึกแฮปปี้มาก ไม่ต้องใช้ถ้อยคำที่ถูกนำไปตีความ

ที่ปรึกษารัฐบาลไทย ชี้ปัญหาเปิดเผยข้อมูลเจรจา จากมาตรา 190
พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ อดีตเจ้ากรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ และที่ปรึกษารัฐบาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทะเลและเขตแดนทะเลมาตั้งแต่สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน กล่าวว่าประเด็นเรื่องเขตแดนในการเมืองไทยจุดติดง่ายเหลือเกิน ในอดีต สงครามอินโดจีนก็เรื่องเขตแดน ก่อนจะขึ้นศาลโลกก็เรื่องเขตแดน ศาลโลกตัดสินแล้วก็เขตแดน ความจริงสมัยล่าอาณานิคมประเทศไทยเราไม่ได้เสียเอกราช แต่เราบอบช้ำและความเจ็บปวดในการสูญเสียห้าแสนตารางกิโลเมตรให้ฝรั่งเศสกับอังกฤษทำให้เรามีบาดแผลลึกอยู่ในอารมณ์ ฉะนั้น ใครจะจะเป็นนักการเมืองก็นำเรื่องเขตแดนไปใช้ปลุกม็อบได้ผล ถ้าต้องการปลุกม็อบด้วยเรื่องนี้ก็ใช้ได้ผลทุกครั้ง เช่นเรื่องปราสาทพระวิหาร ข้อมูลสับสนอลหม่าน เพราะคนอ่านคำพิพากษาและเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่ครบ ฉะนั้นใครพูดอะไรก็เชื่อเพราะเอาแต่ฟังเขาเล่า ใครเล่าก็เชื่อหมด

ขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศจะวางกรอบเอาไว้อย่างหลวมๆ เหตุผลเพราะเมื่อเวลามีอะไรจะได้คุยกันได้ระหว่าง 2 ประเทศที่เจรจากัน

นอดีต เราจะไม่เห็นการโจมตีกันของการเมืองภายในประเทศเอาเรื่องเขตแดนมาโจมตีกันเองโดยเฉพาะเมื่อเข้าสภาแล้วจะไม่เอาเรื่องเขตแดนมาตีกัน เพราะการปฏิบัติในอดีตพรรคการเมืองแยกการรักษาผลประโยชน์ของพรรคกับการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติออกจากกันได้ ไม่โจมตีเพื่อผลประโยชน์ของพรรคจนไปกระทบผลประโยชน์ของประเทศ ผมเคยเจรจาเขตแดนทางทะเลซึ่งให้สัตยาบันไปหมดแล้ว ไม่มีข่าวออกมาโจมตีในสิ่งที่ผมทำ รวมทั้งการประชุมในสภา ก็เห็นชอบทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะสมัยก่อนพรรคการเมืองเขาไม่เอาเรื่องผลประโยชน์ของประเทศระดับนี้ไปเล่นการเมือง เมื่อเราเจรจากลับมา ก็จะหอบเอกสารไปอธิบายที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ให้โอกาสซักถามในพรรค ไม่ต้องซักในสภาผู้แทนราษฎร เพราะถ้าพูดในสภาแล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะ จะส่งผลต่อการเจรจาระหว่างประเทศซึ่งมีได้มีเสีย ฉะนั้น อย่าซักในสภา ให้ซักถามได้เวลาไปอธิบายในพรรค เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค แต่สมัยนี้ ก็มีเจรจาเขตแดนทางทะเลแต่ผมจะไม่ยอมเป็นเจ้าหน้าที่เจรจาให้เด็ดขาดเพราะผมกลัว เดี๋ยวจะโดนรัฐธรรมนูญมาตรา 190

ขณะนี้เราเล่นกันไม่เลือกเวทีเลย เราตีกันเอง เหมือนกับไปตีกันที่ศรีสะเกษให้เขมรดู จำได้ไหม มีใครจะบุกเข้าไปและมีพวกที่ไม่ยอมให้บุกเข้าไป ส่วนเขมรก็นั่งกอดเข่าดูคนไทยตีกัน

สำหรับการแบ่งเส้นเขตแดนทำได้หลายวิธี เช่น เส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ทำได้ถึง 20 กว่าวิธี ขึ้นอยู่กับจะใช้วิธีไหน มี 20 ซินาริโอ เพราะฉะนั้น ขอฝากไปถึงใครก็ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ท่านไม่เคยนั่งอยู่ในห้องเจรจาเขตแดน ท่านไม่รู้ด้วยว่าการเจรจาเขตแดนเจรจายังไง ผมบอกท่านว่าผมมี 20 วิธี แล้วท่านจะให้ผมมาบอกท่านว่าทั้ง 20 วิธีทำยังไง แบบนี้กัมพูชาหรือประเทศที่เราจะไปเจรจา ก็นอนกระดิกตีนสิ ไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาแล้ว เพราะเอาจากบันทึกการประชุมสภาไทยก็พอแล้ว อย่ามาบอกว่าประชาชนต้องรู้รายละเอียดเรื่องเขตแดน ผมพูดในที่ประชุมกรรมาธิการ ในสภา บอกว่าเรื่องบางเรื่องผู้แทน(เจรจา)ต้องทำหน้าที่ผู้แทน(เจรจา) คุณจะคิดว่าคนขับแท็กซี่หรือแม่ค้ากล้วยแขกจำเป็นจะต้องมารู้เรื่องเทคนิคเจรจางั้นหรือ

ความสัมพันธ์เพื่อนบ้านต้องการอารมณ์ที่หลากหลาย
ด้านประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลายคนพูดว่าปัญหาคือเรามีอารมณ์ แต่ผมคิดว่า ปัญหาคือเราขาดอารมณ์ เราขาดอารมณ์ที่หลากหลาย เช่นอารมณ์ขัน หรืออารมณ์อื่นๆ ที่จะช่วยให้เรื่องเขตแดนและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้น แต่เรากลับมีอารมณ์หลากหลายน้อยเกินไปในการจัดการความขัดแย้ง

ผมคิดว่าพูดไปอย่างนี้เราก็รู้ตอนนี้มันยาก อย่างที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บอกว่าประเด็นปัญหาเรื่องนี้มันเกิดขึ้น ในสภาวะที่การเมืองตอนนี้มีความอ่อนไหวอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราเอง ตั้งแต่ต้นประเด็นนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการที่จะโจมตีฝ่ายตรงข้าม เป็นประเด็นทางการเมืองตั้งแต่ต้น ซึ่งยังไม่เห็นวี่แววว่า สภาวะทางการเมืองของเรา ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งขั้วที่ยังไม่นิ่ง จะไปสิ้นสุดตรงไหน โดยความขัดแย้งเรื่องไทย-กัมพูชามันเป็นส่วนหนึ่งไปแล้วของการต่อสู้ภายในประเทศ ไม่ใช่ไทยกับกัมพูชาเท่านั้น มันเป็นการต่อสู้ภายในประเทศ ระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ตราบใดที่การเมืองแบ่งขั้วไม่นิ่งอย่างนี้ ประเด็นปัญหาเรื่องเขาพระวิหาร เรื่องพื้นที่ทับซ้อนพวกนี้ก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่เสมอ

สำหรับผมคิดว่าตราบใดที่สภาวะการเมืองภายในประเทศไม่คลี่คลาย ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารหรือเขตแดนจะยังอยู่ เพราะจะคลี่คลายได้ก็เมื่อสภาวะการเมืองนิ่งทั้งคู่ในคู่ขัดแย้งขณะนั้น

ในทางรัฐศาสตร์ จริงๆ แล้วสิ่งที่เราทำบาปมาตลอด ก็คือเราสอนสิ่งผิดๆ ให้แก่นักศึกษา โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐหรือรัฐชาติ ถ้าใครเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก็ต้องเริ่มจากว่ารัฐคืออะไร เราจะต้องเริ่มจากว่ารัฐคืออะไร ซึ่งอันนี้เป็นรัฐศาสตร์เบื้องต้น รัฐชาติคืออะไร แล้วตามตำรา ก็จะบอกว่า มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ รัฐบาล อำนาจอธิปไตย ประชากร และดินแดนที่ชัดเจนแน่นอน ซึ่งตรงนี้เป็นมายาคติใหญ่หลวงที่วิชารัฐศาสตร์ ผลิตไว้ให้แก่มนุษยชาติ เป็นมายาคติ เพราะในความเป็นจริง เขตแดนของรัฐชาติไม่เคยนิ่ง ทุกรัฐชาติ มีหดมีขยายตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้ บางครั้งบอกไม่ได้ว่าตรงไหนเป็นของไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะตัวเขตแดนมันชัดเฉพาะบนแผนที่เท่านั้น พอไปสู่พื้นที่จริงมันไม่เคยชัดด้วยเหตุผลหลายประการ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยน หลักเขตแดนไม่ชัดเจน ขณะที่ในยุโรปหรือประเทศจำนวนมากในโลกนี้อยู่กับเพื่อนบ้านตัวเองโดยการที่ยอมให้มีการคลุมเครือเอาไว้ เพราะหลายจุดหลายที่ถ้าทำให้ชัดเจนหมด เราก็ต้องรบกับเพื่อนบ้านตลอดเวลา ต้องปวดหัวตลอดเวลา ฉะนั้นบางพื้นที่ต้องปล่อยเอาไว้ ท้ายที่สุดก็ใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ต้องแบ่งให้ชัดเจน มิเช่นนั้นจะทะเลากันไปไม่รู้จบ เป็นผลผลิตของรัฐชาติสมัยใหม่ที่อยากจะมีเขตแดนที่ชัดเจน แต่มันยากที่จะทำให้ชัดเจน ขณะที่ กฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดหลวมๆ จะสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ให้ระหว่าง 2 ประเทศอยู่ร่วมกันได้

คนเริ่มพูดถึงชาตินิยมน้อยลง แต่หันไปพูดเรื่องภูมิภาคนิยมหรือโลกานิยม คือการอยู่ร่วมกันโดยคิดถึงมนุษยชาติเป็นหลักและลดความเป็นชาติลง ซึ่งพรมแดนเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการที่จะทำให้เราก้าวข้ามพ้นจากรอบเรื่องชาติไปสู่เรื่องอะไรที่ใหญ่ขึ้น ทุกวันนี้สงครามระหว่างประที่เทศมาสู้รบกันด้วยอาวุธ แทบจะสูญพันไปจากการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ฉะนั้นใครคิดในโหมดว่า การใช้กองทัพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งประเทศเพื่อนบ้าน อยากจะให้เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ หรือควรจะสูญพันไปเลย เพราะทุกประเทศรู้ว่าเวลามีสงครามมันมีราคาที่ตามมาและเป็นราคาที่แพง

ปัญหาใหม่กับวิธีคิดเรื่องเขตแดน
ขณะที่ ดร.ธนาพล ลิ่มอภิชาต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรามักจะมองประวัติศาสตร์ว่าสยามเป็นเหยื่อที่ถูกรังแกโดยฝรั่งเศส แต่งานประวัติศาสตร์ในช่วงหลังค่อนข้างชัดว่ารัฐจารีตแบบเก่าของเราก็มีความเป็นจักรวรรดินิยมในความหมายแบบหนึ่งด้วย เราไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ว่าเราไปตีคนอื่น เราไม่ค่อยรู้มากนักว่าเราไปทำอะไรกับลาวไว้บ้าง ซึ่งความจริงเราจำเป็นต้องสถานะจารีตของสยามว่าเราคืออะไร รวมทั้งการเซ็นสนธิสัญญาในปี 1907 เป็นผลจากความพยายามตกลงผลประโยชน์ โดยชนชั้นนำไทยตกลงผลประโยชน์กับชาติตะวันตกแล้ว ถ้าไม่มีความรู้ชุดนี้เราก็คิดเพียงแต่ว่าเราเสียดินแดน ซึ่งเป็นเชื้อมูนสำคัญที่สังคมไทยคิดต่อประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นอคติที่เป็นปัญหาใหญ่ ฉะนั้น เรื่ององค์ความรู้มีความจำเป็นในการแก้ปัญหา

ในอนาคต เราอาจจะต้องคิดเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนกันใหม่ มีปัญหาใหม่ เช่นอิทธิพลของจีน ที่มีบทบาทต่อลาวเวียดนามกัมพูชาพม่า รวมถึงการสร้างเขื่อนของจีน ในอนาคตอาจจะไม่ใช่ปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่อาจจะมีผลกระทบที่มาจากเขื่อน จะทำให้เรามีวิธีคิดเกี่ยวกับเขตแดนด้วยวิธีใหม่เพราะมีปัญหาใหม่หรือเปล่า ผมคิดว่าเป็นอีกอันที่เราจำเป็นต้องคิดกับมันในอนาคต

แนวทางแก้ปัญหา ควรลืมไปซะว่าเราเสียดินแดน เพราะความจริงเราไม่ได้เสียดินแดน ถ้าเราลงไปดูประวัติศาสตร์ดีๆ มายาคติเรื่องเสียดินแดนทำให้เราเข้าใจอะไรผิดไปมาก รวมทั้งทัศนะในการมองประเทศเพื่อนบ้านต้องขยายออกไปให้มากขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม สร้างความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม เริ่มจากที่ตัวเราก่อน

000

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวถึงรายละเอียดโครงการดังกล่าวนี้ว่า ได้รับความสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้จัดทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2553-54 โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสารคดี การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการฝึกอบรม” และมี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ ดร. พิภพ อุดร เป็นหัวหน้าและรองหัวหน้าโครงการฯ ดังมีรายชื่อ ต่อไปนี้

1. ประมวลสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจ และแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน: กัมพูชา–ลาว–พม่า–มาเลเซีย (Collected Treaties – Conventions –Agreements – Memorandum of Understanding and Maps Between Siam/Thailand – Cambodia – Laos – Burma – Malaysia) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

2. ศาลโลก–ศาลอนุญาโตตุลาการ กับข้อพิพาทระหว่างประเทศ (International Court of Justices– Permanent Court of Arbitration)โดย พนัส ทัศนียานนท์, ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, วิพล กิติทัศนาสรชัย

3. เขตแดนเวียดนาม–จีน–กัมพูชา–ลาว (Boundaries of Vietnam-China-Cambodia-Laos)โดยพิเชฐ สายพันธ์ และ สุริยา คำหว่าน

4. เขตแดนจีน–รัสเซีย–มองโกเลีย (Boundaries of China–Russia and Mongolia) โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์และ รณพล มาสันติสุข

5. เขตแดนฝรั่งเศส–เนเธอร์แลนด์–แม่น้ำดานูบ (Boundaries of France–The Netherlands and The Danube River) โดย มรกต เจวจินดา ไมเออร์ และอัครพงษ์ ค่ำคูณ

6. เขตแดนสยามประเทศไทย–มาเลเซีย–พม่า–ลาว–กัมพูชา (Boundaries of Siam/Thailand–Malaysia – Burma–Laos –Cambodia) โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ธนศักดิ์ สายจำปา, ดุลยภาค ปรีชารัชช, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, อัครพงษ์ ค่ำคูณ

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ

1. ผลิตงานวิชาการในรูปแบบที่เป็น “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ที่เข้าใจง่าย ที่ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการ ครบถ้วนเกี่ยวกับองค์กร (ศาลโลก-ศาลอนุญาโตตุลาการ) สถานะและแนวทางการแก้ไขปัญหา เขตแดน-พรมแดน-ชายแดนระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย รวมทั้งกรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศต่างๆที่มีเขตแดน-ชายแดน-พรมแดนติดต่อกัน ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป เช่น เวียดนาม จีน รัสเซีย มองโกเลีย ตลอดจนฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และแม่น้ำดานูบ โดยครอบคลุมตัวอย่างทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวในการแก้ปัญหาเขตแดน-พรมแดน-ชายแดน

2. นำผลงานวิชาการที่สำเร็จเป็น “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” แจกจ่ายอภินันทนาการ (ไม่มีจำหน่าย) ให้กับห้องสมุดมหาวิทยาลัย โรงเรียน หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสังคมและรัฐ ตลอดจนสื่อมวลชน จำนวนหน่วยละ 3,000
3. ดำเนินการจัดการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในรูปแบบของการเสวนา ประชุมปฏิบัติการ การฝึกอบรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554

4. ดำเนินการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของประชาชนและสังคมไทย และสร้างความตื่นตัวถึงบทบาทการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน กับสถาบันการศึกษา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการมีความสัมพันธ์อันดีในฐานะ “ประชาคมอาเซียน” ร่วมภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยกัน ตลอดจนการหาวิถีทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีฉันท์มิตรประเทศที่มีความเท่าเทียมกันในโลกสมัยปัจจุบัน

มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขอขอบคุณความร่วมมือและความสนับสนุนที่ได้จากองค์กรของรัฐ เอกชน และตัวบุคคล อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวง การต่างประเทศ ตลอดจนข้าราชการทั้งอดีตและปัจจุบันนิรนามหลายท่าน ขอบคุณกรมแผนที่ทหาร กองบัญชากองทัพไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจน “กัลยาณมิตร” ต่างรุ่นต่างวัย ที่มีส่วนทั้งร่วมงานโดยตรง มีทั้งส่วนช่วยเหลือ ช่วยผลักดัน และให้คำแนะนำกับ “กำลังใจ” ในการดำเนินการโครงการฯ ที่ค่อนข้างใหญ่โตและอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-สังคม-และการเมืองที่อ่อนไหวและเปราะบางในปัจจุบัน

เราหวังว่า “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ชุดนี้ จะมีส่วนในการเสริมสร้างความคิด สติปัญญาให้กับเราๆ ท่านๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของ “เขตแดน-พรมแดน-ชายแดน” ของ “รัฐสมัยใหม่” ที่เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ที่มีมาจากอดีต มาจากการกระทำของบรรพชน ที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ที่เราอาจจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยังอยู่กับเราในปัจจุบัน และจะคงยังมีต่อไปในอนาคต ที่เราจะต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขต่อไปทั้งนี้เพื่อเยาวชน-คนหนุ่มคนสาว-ลูก-หลาน-เหลน-โหลน “คนรุ่นใหม่” กับประเทศชาติบ้านเมืองของเรา

เรามีความหวังตามปณิธานของผู้ก่อตั้งของเรา คือ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 (1966) เป็นต้นมา ยึดมั่นเป็นแนวทางของวิชาการตามพุทธภาษิตในภาษาบาลีที่ว่า “นัตถิ ปัญญา สมาอาภา” และแปลเป็นไทยว่า “แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี” นั่นเอง