ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
11 มกราคม 2554
หลังจากเครือข่ายผู้บริโภคสีแดงได้ประกาศให้ประชาชนไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนเข้าร่วมแคมเปญคว่ำบาตรสินค้ามาม่าเป็นเวลา 1 เดือน และประกาศว่าก่อผลสะเทือนมากกว่าคาดหมายไว้ ล่าสุดจากการจัดทำแบบสำรวจ(โพลล์)ของไทยอีนิวส์พบว่า มีความต้องการยกระดับให้คว่ำบาตรสินค้าเครือสหพัฒนพิบูลทั้งเครือ โดยต้องการให้แกนนำเสื้อแดง เป็นเจ้าภาพในการรณรงค์ครั้งนี้
ทั้งนี้ไทยอีนิวส์ได้ทำโพลล์เรื่อง"ก้าวต่อไปหลังคว่ำบาตรมาม่าครบ1เดือน8มค.54" มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,798 ราย ผลการสำรวจเป็นดังนี้
-ยุติการคว่ำบาตรให้โอกาสกลับตัว 22 ราย (1%)
-ยกระดับคว่ำบาตรเป็น3เดือน 105 ราย (5%)
-ยกระดับเป็น3เดือน+คว่ำบาตรผงซักฟอกเปา 116 ราย (6%)
-ยกระดับ3เดือน+คว่ำบาตรสินค้าสหพัฒน์ทั้งเครือ 701 ราย (38%)
-คว่ำบาตรยาว+พุ่งเป้าคว่ำบาตรอินเตอร์เน็ตTRUE 344 ราย(19%)
-แกนนำนปช.ต้องใช้การคว่ำบาตรเป็นวาระแห่งปี 502 ราย (27%)
-อื่นๆ 8 ราย (0%)
ผลการสำรวจนี้ชี้ว่า ประชาชนคนเสื้อแดงต้องการให้ยกระดับการคว่ำบาตรองค์กรธุรกิจที่เป็นมือไม้ให้เผด็จการอำมาตย์ โดยต้องการยกระดับการคว่ำบาตรสหพัฒน์ทั้งเครือ และอาจพุ่งเป้าไปที่การบอยคอตอินเตอร์เน็ตทรูด้วย หากยังมีพฤติการณ์ปิดกั้นเวบไซต์ฝ่ายประชาธิปไตย โดยผู้ตอบแบบสอบถามได้เรียกร้องให้แกนนำนปช.เป็นผู้เข้ามามีบทบาทในการคว่ำบาตร โดยควรกำหนดเป็นวาระยุทธวิธีของปีนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาของการคว่ำบาตรมาม่านั้น มีเพียงพ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยชัย ประกาศต่อคนเสื้อแดงอย่างชัดเจนว่า ต้องร่วมกันคว่ำบาตรมาม่าอย่างจริงจัง ขณะที่แกนนำนปช.ยังคงไม่มีปฏิกริยาใดในเรื่องนี้
สินค้าเผด็จการ-ลังมาม่าที่ผู้บริหารเครือสหพัฒน์ส่งไปบำรุงพันธมิตรในช่วงยึดสนามบินสุวรรณภูมิ
ลำดับเหตุการณ์1เดือนแรกคว่ำบาตรมาม่า
8 ธันวาคม 2553 คิกออฟคว่ำบาตรมาม่า-เครือข่ายผู้บริโภคสีแดง ได้ประกาศเริ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อองค์กรธุรกิจที่ให้การสนับสนุนระบอบปกครองเผด็จการอำมาตย์ และได้รับการเกื้อหนุนจากฝ่ายเผด็จการ โดยประกาศเริ่มต้นคว่ำบาตรเศรษฐกิจต่อสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า ของบริษัท ไทยเพรสซิเด้นต์ฟู้ดส์ ในเครือสหพัฒนพิบูล ของตระกูลโชควัฒนา ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ
9 ธันวาคม 2553 มั่นใจเกิน 20 ล้านคนร่วมคว่ำบาตร-โดยเครือข่ายผู้บริโภคสีแดงกำหนดเวลาการคว่ำบาตร ไม่ซื้อ ไม่บริโภคเป็นเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2553 ถึง 8 มกราคม 2554 โดยตั้งเป้าหมายเชิญชวนให้ผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล และถูกระบอบอำมาตย์กับกลุ่มทุนบริวารโค่นล้ม ไม่น้อยกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศเข้าร่วมการรณรงค์ครั้งนี้
13 ธันวาคม 2553 มาม่าเอะใจทำไมส่วนแบ่งการตลาดวูบ10%-ช่วงเดียวกันนี้มีการศึกษาวิจัยหัวข้อเรื่อง "เหตุใด ส่วนแบ่งทางการตลาดของมาม่าจึงมีสัดส่วนที่ลดลง" ทั้งนี้กลุ่มผู้ทำการศึกษาวิจัยได้เผยแพร่เอกสารดังกล่าวไว้ในระบบข้อมูลlearners ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า ส่วนแบ่งการตลาดของมาม่าที่เคยสูงถึงง 60%ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ลดวูบลงมาเหลือราว 50%ในปัจจุบัน
รายงานระบุว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของ “มาม่า” ลดลงอย่างต่อเนื่อง และค่อนข้างคงที่ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น ”มาม่า” จึงต้องทำการวิจัยศึกษาว่า เพราะเหตุใด “มาม่า”จึงมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง และจะสามารถแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร เพื่อให้ตนเองนั้นได้กลับมามีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เท่าเดิม หรือมากกว่าเดิมได้
15 ธันวาคม 2553 ผู้บริหารมาม่าไหวตัวโดนรุมต้าน กระจายข่าวบิ๊กบริษัท-นางสาวพจนา พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการฝ่ายส่งออกของมาม่า และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพรสซิเด้นท์อินเตอร์ฟู้ด บริษัทในเครือของมาม่า ได้แจ้งต่อผู้ถือหุ้รายย่อยของบริษัทที่ร้องเรียนไปยังบริษัทมาม่าให้ชี้แจง หลังถูกบอยคอตว่า ขอขอบคุณที่ผู้ถือหุ้นไทยเพรสซิเดนท์ฟู้ดส์แจ้งข่าวการบอยคอตคว่ำบาตรมา ดิฉันจะส่งต่อ Link ข่าว ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
18 ธันวาคม 2553 ผู้บริหารกราดใส่คนบอยคอตไร้การศึกษา-มีรายงานว่า บิ๊กของบริษัทระดับการศึกษาสูงได้แสดงปฏิกริยาในทางลบหลังจากได้รับหนังสือเวียนจากนางสาวพจนา โดยระบุว่า
"ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลที่แจ้งมา
ฉันคิดว่า คุณคงทราบดี อะไรจริงไม่จริง ฉันไม่ได้สนใจหรอกว่า จะถูกประชาชนบอยคอตหากว่ามันมีเหตุผลที่ถูกต้อง หากกล่าวอย่างเกือบที่สุดแล้วก็คือว่า บริษัทของเรามีเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวเอง หากเพียงเพราะว่ามาม่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือสหพัฒนพิบูล แล้วพาเราไปสู่ความยุ่งยาก เราก็จะไม่ออกไปข้างนอกเพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ผิดๆนี้
ฉันหวังว่า ผู้ที่มีการศึกษาจะสามารถทำในสิ่งที่ดีที่สุด และเลือกในสิ่งที่เป็นทางเลือกดีที่สุด"
ซึ่งได้สร้างปฏิกริยาต่อต้านให้ขยายวงออกไป เนื่องจากผู้บริโภคมาม่าส่วนใหญ่ไม่ได้มีดีกรีการศึกษาสูงระดับด๊อกเตอร์ แต่เป็นคนจน เกษตรกร แรงงาน นักศึกษา และผู้มีรายได้น้อย เป็นส่วนใหญ่
20 ธันวาคม 2553 สามนักวิชาการสาวชี้คว่ำบาตรมาม่าเทียบเคียงคานธีบอยคอตอังกฤษ-3 นักวิชาการสาว ผศ.ดร.สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาจารย์หวาน) ,รศ.ดร.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อาจารย์ตุ้ม) และ ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก อาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (อาจารย์จา)ดำเนินรายการที่นี่ความจริง ทางโทรทัศน์ Asia Update-DNN กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในแคมเปญการรณรงค์คว่ำบาตรมาม่า-สินค้ากลุ่มทุนที่สนับสนุนเผด็จการ
ทั้งนี้นักวิชาการทั้งสามชี้ว่า หากใครเห็นว่าเรื่องนี้ตลก หรือคงไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ขอให้ลองย้อนมองไปถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญกรณีหนึ่ง คือกรณีที่ มหาตมะ คานธี เคยรณรงค์ในด้านเศรษฐกิจเพื่อเรียกร้องเอกราชอินเดียจากอังกฤษ
โดยมหาตมะ คานธี ใช้การดื้อแพ่งนำพาชาวอินเดียผลิตเกลือบริโภคเอง แม้อังกฤษจะมีกฎหมายบังคับให้ซื้อเกลือจากอังกฤษเท่านั้น และเป็นกรณีสำคัญที่นำไปสู่เอกราชของอินเดียใในเวลาต่อมา
22 ธันวาคม 2553 หุ้นมาม่าร่วง กลต.จี้เคลียร์ข่าว-ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า ราคาหุ้นมาม่าได้ร่วงลงหลังจากเสื้อแดงพากันคว่ำบาตร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)เปิดเผย มีนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นมาม่าร้องเรียนมายังสำนักงานขอให้แจ้งต่อบริษัท ไทยเพรสซิเด้นต์ฟู้ดส์ชี้แจงเป็นการด่วนเรื่องมีกระแสข่าวถูกคว่ำบาตร
"ผู้ถือหุ้นของไทยเพรสซิเด้นต์ฟู้ดส์(TF)ร้องเรียนมายังสำนักงานฯว่า ปรากฎข่าวโจมตีบริษัทไทยเพรสสิเด้นฟู้ดส์แพร่หลายในอินเตอร์เน็ตและสื่อต่างๆ ชักชวนให้คนต่อต้านไม่ซื้อสินค้ามาม่า ซึ่งเป็นรายได้หลักของTF อ้างว่าสนับสนุนเผด็จการ โดยแจ้งว่าจะมีคนเข้าร่วมการคว่ำบาตรเกิน20ล้านคน จึงขอให้สำนักงานกลต.ได้แจ้งให้บริษัทชี้แจงแก้ไขข่าวด้วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย" รายงานจากกลต.ระบุ พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ
ต่อมากลต.เผยว่าได้แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ประสานงานกับTF เจ้าของมาม่าแล้ว
25 ธันวาคม 2553 เครือข่ายลูกค้ารายใหญ่ของมาม่า 36 องค์กรแถลงการณ์หนุนคว่ำบาตร-องค์กรเครือข่ายต่างๆ 36 องค์กร ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษา คนจนเมือง เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และเครือข่ายประชาชนต่างๆรวมทั้งนักกิจกรรม และประชาชนทั้งในและต่างประเทศพากันออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์คว่ำบาตรมาม่า-สินค้าที่สนับสนุนเผด็จการ
7 มกราคม 2554 มาม่าประกาศตรึงราคาถึงสิ้นมี.ค. ส่อหนีตายไปหากินอินเดีย-นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ -"มาม่า" เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมตรึงราคามาม่าออกไปอีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2554 แต่ยอมรับว่าในขณะนี้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าปรับตัวขึ้นสูงมาก ทั้งน้ำมันปาล์ม และแป้งสาลี รวมทั้งราคาวัตถุดิบในด้านอื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วันเดียวกันนี้กระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ขึ้นราคาน้ำมันปาล์ม บรรจุขวดอีกขวดละ 9 บาท เป็น 47 บาท ทำให้ต้นทุนมาม่าพุ่ง ขณะที่ขึ้นราคาก็ไม่ได้ เพราะเจอแรงคว่ำบาตรกดดัน
นายพิพัฒกล่าวว่า มีแผนจะลงทุนในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นบริษัทมีแผนลงทุนในหลักหลายสิบล้านบาท เพื่อเปิดโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศอินเดีย
8 มกราคม 2554 คว่ำบาตรมาม่าต่อเฟส2ถึงสิ้นมีค54 ฮึ่มยกระดับคว่ำบาตรสหพัฒน์ทั้งเครือ-เครือข่ายผู้บริโภคสีแดงประเมินผลว่า ระยะ 1 เดือนแรกมีผลสะเทือนจากการคว่ำบาตรสูงเกินคาด จากการประเมินแล้ว มวลชนที่เข้าร่วมเกินกว่า 20 ล้านคน ต้องการให้บทเรียนสั่งสอนมาม่าต่อไปอีก 3 เดือน จึงจะขยายแคมเปญออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554
และอาจจะพิจารณาเริ่มต้นการคว่ำบาตรสินค้าเครือสหพัฒน์ทั้งเครือต่อไป หากมวลชนเสื้อแดงมีความพร้อมในระดับเกิน 20 ล้านคนทั่วประเทศ
'มีประชาชนที่ร่วมการรณรงค์เสนอเข้ามาว่าทำไมไม่แบนถาวร หรือบอยคอตยาวไปเลย คำตอบคือแคมเปญในลักษณะนี้ควรมีการกำหนดตัวสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน จำกัดวง โฟกัสระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมรณรงค์มีความตื่นตัวที่จะเข้าร่วมกิจกรรม และก่อผลสะเทือนชัดเจน หากกระจายไปในหลายๆสินค้า และกำหนดกรอบกว้างๆเช่น แบนตลอดชาติ การตื่นตัวที่จะเข้าร่วมแคมเปญจะไม่ดีนัก"เครือข่ายฯระบุ