ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
สับไก กระสุนธรรม
เหตุการณ์หนุ่มอเมริกันบุกยิงส.ส.หญิงที่เป็นข่าวใหญ่ตลอดสัปดาห์นี้ สะท้อนว่า สังคมอเมริกันก็แบ่งขั้วเหมือนกัน
ถึงจะไม่ใช้ 'สี' เป็นสัญลักษณ์แบบของไทย แต่ขั้วการเมืองซ้าย-ขวาแบ่งชัดเจน
เป็นบรรยากาศที่ลากยาวมาตั้งแต่สงครามต่อต้านการก่อการร้ายปี 2544 ที่รัฐบาล (จอร์จ ดับเบิลยู. บุช) ในตอนนั้นปลุกกระแส "รักชาติ" ขึ้นมา
ชัยชนะของ บารัก โอบามา ในศึกประธานาธิบดีเมื่อปี 2551 ทำให้ฝ่ายขวา-อนุรักษ นิยม ไม่แฮปปี้
ประเด็นการใช้วาทะ-โวหารปลุกระดมทางการเมืองโหมจึงร้อนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ
แม้การสอบสวนคดียิงส.ส.หญิง เกเบรียล กิฟ ฟอร์ดส์ ยังไม่สรุปว่า เชื่อมโยงกับบรรยากาศทางการเมืองที่ปลุกเร้ามือปืนหนุ่มวัย 22 ปี ให้ก่อเหตุมากน้อยแค่ไหน แต่ชาวอเมริกันจำเป็นต้องถกเถียงเรื่องนี้
ไม่ใช่วัวหายล้อมคอก แต่ต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจสังคมให้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา
เรื่องที่น่าติดตามคือประเทศประชาธิปไตยแบบสหรัฐจะเยียวยาอาการ 'แตกขั้ว-แบ่งแยก' นี้อย่างไร
บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดี สนับสนุนว่า ความแตกต่างทางการเมืองไม่ควรเดินไปสู่การสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย
โดยเฉพาะในยุคที่อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อปลุกเร้าบรรยากาศให้ลุกลามได้รวดเร็ว
ส่วนท่าทีของระดับผู้นำคนปัจจุบัน บารัก โอบามา ไม่ตอกย้ำซ้ำแผลเดิม เพราะอยู่ในฐานะ 'หัว หน้าทีมเยียวยา'
ในขณะที่กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวากล่าวโทษกันว่า ปลุกเร้าการเผชิญหน้าและเกลียดชัง โอบามาไม่ตำหนิว่าเป็นความผิดของฝ่ายไหน
แต่โอบามาไม่ถล่มซ้ำฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม ไม่มัวแต่ด่าคนร้าย
ทว่ากล่าวไว้อาลัยให้กับ'คนตาย' ก่อน
ตามด้วยวาทะ "ผมเชื่อว่าเราจะต้องดีขึ้น" ซึ่งเป็นการสร้างอารมณ์ร่วมของชาวอเมริกันโดยรวม
นอกจากนี้ ยังเลือกมุมมองที่ให้กำลังใจในเหตุการณ์ เช่น พลเมืองที่ช่วยกันระงับเหตุ ไม่ให้มือปืนยิงคนตายไปมากกว่านี้
เป็นการมองความหวังจากโศกนาฏกรรมที่ผ่านมา
'โอบามา'แสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำแล้ว 'โอบามาร์ค' น่าจะศึกษาดูบ้าง