ที่มา ประชาไท
Déjà vu เป็นคำฝรั่งเศส หมายถึงอะไรที่ “เคยเกิดขึ้นมาแล้ว” Refoulement ก็เป็นคำฝรั่งเศส ความหมายตรง ๆ ก็คือ “บังคับให้กลับ” หลังได้รับรายงานที่ออกเมื่อวันคริสต์มาสว่าทางการไทยเพิ่งจะผลักดันผู้ลี้ภัย 166 คนกลับพม่า ผมรู้ทันทีว่าเคยเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นมาก่อน อันที่จริงก็เกิดขึ้นเมื่อวันคริสต์มาสเมื่อปี 2552 นี่เอง
อันที่จริงแล้ว เมื่อหนึ่งปีก่อนในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อนร่วมงานและผมได้เขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วิจารณ์สถิติของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในปี 2552 ของรัฐบาลไทย ในช่วงปลายธันวาคม ซึ่งน่าจะเป็นช่วงสัปดาห์ที่เนิ่นช้าสุดของปี กองทัพบกไทยก็ได้ส่งกลับชาวม้งจำนวน 4,500 คนไปยังประเทศลาว ในจำนวนนั้นมีอยู่ 158 คน ซึ่งได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย และอีกหลายคนเป็นผู้แสวงหาที่พักพิง
หนึ่งปีต่อมา แม้ข้อเท็จจริงบางอย่างจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ทางการไทยก็ได้ผลักดันผู้ลี้ภัย 166 คนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม โดยที่พวกเขาหลบหนีการสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลพม่าและกลุ่มติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยในภาคตะวันออกของพม่ามา ในจำนวนนี้ 120 คนเป็นผู้หญิงและเด็ก พวกเขามาหลบภัยอยู่ที่หมู่บ้านวาเล่ย์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก และเป็นจุดเดียวกับที่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางการไทยก็ได้ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวพม่าออกไปอย่างน้อย 360 คน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ก็ผลักดันออกไปประมาณ 650 คน และเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ก็ผลักดันออกไปประมาณ 2,500 คน
ในช่วงเวลาเดียวกันของปลายปี การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นเหมือนเดิม ทุกคนมีสิทธิแสวงหาที่พักพิง ผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยมีสิทธิที่จะไม่ถูกส่งกลับไปยังพื้นที่ที่มีการต่อสู้หรือมีการคุกคาม หรือที่เรียกว่าหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) แต่รัฐบาลไทยปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิของผู้ลี้ภัย 166 คนจากพม่า ทั้ง ๆ ที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยตามการรับรองของหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR) การที่รัฐบาลไทยไม่ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติไม่ใช่ข้ออ้าง เนื่องจากเช่นเดียวกับข้อห้ามต่อการทรมาน หลักการไม่ส่งกลับเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ หมายถึงว่ามีผลบังคับใช้ต่อทุกรัฐไม่ว่าจะมีพันธกรณีตามสนธิสัญญาหรือไม่ก็ตาม อีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยได้ละเมิดกฎหมายผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
แม้เหตุการณ์ที่เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อน การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับครั้งนี้จึงเป็นเรื่องน่าตกอกตกใจ เพราะจริง ๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของไทยประกาศปฏิเสธว่า ไม่มี “แผนจะส่งตัวผู้พลัดถิ่นกลับไปยังพม่าภายหลังการเลือกตั้ง (ในพม่า)” แต่ในวันเลือกตั้งนั้นเอง วันที่ 7 พฤศจิกายน ผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกประมาณ 20,000 คนจากพม่าก็เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย และในวันที่ 6 ธันวาคม แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ผลักดันกลับหลายครั้งก่อนหน้านั้น นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดตากก็ได้ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ระบุว่าประเทศไทยจะไม่ส่งกลับผู้ลี้ภัยตราบที่การสู้รบยังดำเนินอยู่
น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้ว่าผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปพม่าแล้ว แต่อีกหลายคนอย่างเช่น 166 คนที่ต้องเดินทางกลับเมื่อวันคริสต์มาส พวกเขาเดินทางกลับอย่างไม่สมัครใจ และการสู้รบยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพื่อนร่วมงานและผมได้เขียนเป็นข้อสรุปในบทความที่ตีพิมพ์เมื่อหนึ่งปีก่อนว่า “การที่ประเทศไทยไม่เคารพต่อพันธกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่ประชาคมนานาชาติไม่อาจเพิกเฉยละเลยได้” ผมคงไม่สามารถเขียนประโยคนี้ซ้ำอีก UNHCR ซึ่งออกแถลงการณ์เมื่อปลายธันวาคม เรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ให้ผลักดันผู้ลี้ภัย 166 คนกลับ ควรประณามการกระทำครั้งนี้ และควรเน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยทั้งหมดที่ยังคงอยู่ในไทย หรือที่กำลังจะเข้ามาเพิ่มเติม สถานทูตต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ ก็ควรกระทำเช่นเดียวกัน ส่วนประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) (ซึ่งรวมถึงประเทศไทยและโดยที่ทูตไทยประจำกรุงเจนีวาก็ดำรงตำแหน่งประธานของคณะมนตรีฯ) ก็ควรแสดงข้อกังวลต่อการละเมิดที่เกิดขึ้น
อันที่จริงแล้ว คงสายเกินไปสำหรับผู้ลี้ภัยชาวพม่า 166 คนที่ถูกผลักดันออกไปแล้ว เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยชาวม้งลาว 158 คนที่ออกไปเมื่อปีก่อนหน้า แต่สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพม่า คงยังส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยข้ามพรมแดนเข้ามาต่อไปในช่วงปี 2554 ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นสู่อำนาจในไทย รัฐบาลไทยก็ควรยอมรับและปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ตนมี แม้จะเป็นการพูดย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกราวกับเป็นเรื่องราวด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยรู้ว่าเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม