ที่มา มติชน
คอลัมน์ ณ ริมคลองประปา
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติเสนอ "มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนหลายแห่ง" ต่อคณะรัฐมนตรี
เนื่องจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ข้าราชการระดับสูงหลายคนเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเกินกว่า 3 แห่ง ขัดต่อ พ.ร.บ.มาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และมีผลทำให้ประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ทั้งในหน้าที่ประจำและกรรมการรัฐวิสาหกิจลดลง
นอกจากนั้น การดำรงตำแหน่งดังกล่าวของข้าราชการและเจ้าหน้าในองค์กรอิสระ อาจมีปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน ระหว่างการทำหน้าที่ในส่วนราชการและองค์กรอิสระในฐานะผู้กำกับดูแลและตรวจสอบกับการทำหน้าที่กรรมการในรัฐวิสาหกิจด้วย
มาตรการที่ ป.ป.ช.นำเสนอนั้น มีทั้งระยะสั้น ซึ่งคณะรัฐมนตรี สามารถมีมติให้หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจปฏิบัติได้ทันทีและระยะยาวที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมและแก้ไขกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม มี 2 มาตรการที่น่าสนใจคือ
หนึ่ง ห้ามแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ ทั้งด้านนโยบายและด้านการปฏิบัติ (Regulator) เป็นประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือด้านสาธารณูปโภคและมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร
เนื่องจากส่วนราชการดังกล่าว มีหน้าที่ในการกำกับดูแลรักษาผลประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ จากการให้บริการที่ดี ในราคาถูกที่สุด แต่การข้าราชการระดับสูงไปเป็นประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้รัฐวิสาหกิจมีกำไรหรือเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น ทำให้บุคคลคนเดียวกันเป็นทั้งผู้ปฏิบัติและผู้กำกับดูแลในขณะเดียวกัน ซึ่งเป็นการขัดกันเองระหว่างหน้าที่ของตำแหน่งทั้งสอง
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานการบินไทย ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ปตท.(แต่ปลัดกระทรวงคนปัจจุบันลาออกแล้ว) ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน บริษัท กสท โทรคมนาคม ฯลฯ
สอง ห้ามแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในองค์กร(อิสระ) ตามรัฐธรรมนูญ (เช่น กกต. ป.ป.ช. สตง. องค์กรอัยการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ) เป็นประธานหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทในเครือ
เพราะเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระมีหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี ต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก แต่หน้าที่ประธานหรือกรรมการรัฐวิสาหกิจจะต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจให้มากที่สุด หน้าที่ทั้งสองประการนี้จึงขัดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีกรณีที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ที่มีเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระร่วมอยู่ด้วยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องถูกดำเนินคดี ก็อาจจะทำให้องค์กอิสระนั้นปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เต็มที่นัก เพราะจะต้องดำเนินการกับพวกเดียวกันเอง
ว่ากันตามจริงแล้ว การเสนอมาตรการนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อไม่ต้องการให้อัยการเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเพราะที่ผ่านมาไม่มีเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระใดไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจเลย หรือถ้ามีก็แทบนับตัวได้
ปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเป็นเรื่องอื้อฉาวคือ กรณีนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุดเป็นกรรมการ
บริษัท ท่าอากาศยานไทย ถูกดำเนินคดีกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ ทำให้เกิดปัญหาในการสั่งฟ้องคดีต่อศาล โดยสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นแย้งกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในคดีนี้
เดิมสำนักงานอัยการสูงสุดสังกัดฝ่ายบริหาร แต่ก็มีหลักประกันตามมกฎหมายมิให้มีการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายและมีอิสระในการสั่งหรือสั่งไม่ฟ้องคดีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อัยการดิ้นรนที่จะอิสระจากฝ่ายบริหารเช่นเดียวกับฝ่ายตุลาการจนประสบผลสำเร็จ
แต่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ไม่ยอมให้ข้าราชการตุลาการไปเป็นกรรมการใดในฝ่ายบริหารเลยยกเว้นกรรมการกฤษฎีกา
ขณะที่ คณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) มีอัยการสูงสุด เป็นประธาน อนุมัติให้ข้าราชการอัยการไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจในทุกกรณีที่มีการเสนอเข้ามาเพราะผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดเองก็เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจอยู่หลายแห่ง ล้วนเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี มีรายได้สูง ผลตอบแทนดี (ทั้งเบี้ยประชุมและโบนัส)
แม้รัฐธรรมนูญ 25550 มาตรา 2550 วรรคหก บัญญัติว่า "พนักงานอัยการต้องไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐในทำนองเดียวกัน เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอัยการ..."
แต่แทนที่ ก.อ.จะปฏิบัติตามบทบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ กลับอาศัยข้อยกเว้นแทนบทบัญญัติหลัก
ทำให้มองกันว่า การไม่ยอมทิ้งเก้าอี้กรรมการรัฐวิสาหกิจเพราะผลประโยชน์ทั้งในรูปตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน ขณะที่กลุ่มอัยการเหล่านั้นอ้างว่า ได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านกฎหมายรักษาผลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม(รัฐวิสาหกิจ) ในแต่ละปีจำนวนมหาศาล
ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าเช่นนั้น ทำไมไม่แต่งตั้งอัยการอาวุโสที่ไม่มีตำแหน่ง หรือนักกฎหมายอื่นที่มีความรู้เป็นอย่างดี เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาเหล่า
อดีตประธาน ก.อ.และอดีตอัยการสูงสุดท่านหนึ่งสรุปอย่างรวบรัดว่า พวกเขาต้องการคนที่มีตำแหน่งในสำนักงานอัยการสูงสุดมากกว่าคนที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าเพื่ออะไร