ที่มา Thai E-News
เราหวังว่า “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ชุดนี้ จะมีส่วนในการเสริมสร้างความคิด สติปัญญาให้กับเราๆ ท่านๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของ “เขตแดน-พรมแดน-ชายแดน” ของ “รัฐสมัยใหม่” ที่เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ที่มีมาจากอดีต ..เรามีความหวังตามปณิธานของผู้ก่อตั้งของเรา คือ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
11 มกราคม 2554
หมายเหตุไทยอีนิวส์:สืบเนื่องจากเวบไซต์ASTVผู้จัดการ สื่อกระบอกเสียงชวนเชื่อของพันธมิตร ได้ตีพิมพ์รายงานเรื่อง เปิดชื่อนักวิชาการก๊วน"ชาญวิทย์"รับจ้าง กต.กล่อมคนไทยยอมเขมร เปิดรายละเอียดโครงการ 7.1 ล้าน "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" รับจ้าง กต. ศึกษาข้อมูล-จัดทำสื่อเผยแพร่ กล่อมคนไทยให้เห็นใจเพื่อนบ้าน อ้างเพื่อความสัมพันธ์อันดี ให้การปักปันเขตแดนเป็นไปอย่างราบรื่น เริ่มงาน พ.ค.53 ส่งมอบรายงานสุดท้าย ม.ค.54 นี้ เผยชื่อทีมนักวิชาการ ล้วนอยู่ในก๊วน "เสื้อแดง" หนุน "ชาญวิทย์" เข้าข้างเขมร
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ทำ“คำแจง” โครงการวิจัย “เขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” Our Boundaries-Our ASEAN Neighbors (เรื่องของหนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี)มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
อารัมภบท
“หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ชุดนี้ประกอบด้วยหนังสือ 6 เล่ม และดีวีดี-วีซีดี 1 ชุด
เป็นผลงานค้นคว้าวิจัยที่มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดทำขึ้นตามสัญญา “รับจ้าง” กับกระทรวงการต่างประเทศ
มูลนิธิฯ ของเรานี้ก่อตั้งขึ้นโดย ศ. ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2509 และปัจจุบันมี ศ. เพ็ชรี สุมิตร เป็นประธาน และมี ศ. เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม และ ศ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นรองประธาน
“หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ในโครงการ ““เขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา””ดังกล่าวนี้ ได้รับความสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้จัดทำขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2553-54 และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โครงการ สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสารคดี การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการฝึกอบรม” โดยมี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ ดร. พิภพ อุดร เป็นหัวหน้าและรองหัวหน้าโครงการฯ ดังมีรายชื่อ ต่อไปนี้
1. ประมวลสนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง บันทึกความเข้าใจ และแผนที่ ระหว่างสยามประเทศไทยกับประเทศอาเซียนเพื่อนบ้าน: กัมพูชา–ลาว–พม่า–มาเลเซีย (Collected Treaties – Conventions –Agreements – Memorandum of Understanding and Maps Between Siam/Thailand – Cambodia – Laos – Burma – Malaysia) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
2. ศาลโลก–ศาลอนุญาโตตุลาการ กับข้อพิพาทระหว่างประเทศ (International Court of Justices– Permanent Court of Arbitration)โดย พนัส ทัศนียานนท์, ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, วิพล กิติทัศนาสรชัย
3. เขตแดนเวียดนาม–จีน–กัมพูชา–ลาว (Boundaries of Vietnam-China-Cambodia-Laos)โดยพิเชฐ สายพันธ์ และ สุริยา คำหว่าน
4. เขตแดนจีน–รัสเซีย–มองโกเลีย (Boundaries of China–Russia and Mongolia) โดย พวงทอง ภวัครพันธุ์และ รณพล มาสันติสุข
5. เขตแดนฝรั่งเศส–เนเธอร์แลนด์–แม่น้ำดานูบ (Boundaries of France–The Netherlands and The Danube River) โดย มรกต เจวจินดา ไมเออร์ และอัครพงษ์ ค่ำคูณ
6. เขตแดนสยามประเทศไทย–มาเลเซีย–พม่า–ลาว–กัมพูชา (Boundaries of Siam/Thailand–Malaysia – Burma–Laos –Cambodia) โดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล, ธนศักดิ์ สายจำปา, ดุลยภาค ปรีชารัชช, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, อัครพงษ์ ค่ำคูณ
วัตถุประสงค์ของโครงการ “เขตแดนของเรา-เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา” นี้ คือ
1. ผลิตงานวิชาการในรูปแบบที่เป็น “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ที่เข้าใจง่าย ที่ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการ ครบถ้วนเกี่ยวกับองค์กร (ศาลโลก-ศาลอนุญาโตตุลาการ) สถานะและแนวทางการแก้ไขปัญหา เขตแดน-พรมแดน-ชายแดนระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย รวมทั้งกรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศต่างๆที่มีเขตแดน-ชายแดน-พรมแดนติดต่อกัน ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป เช่น เวียดนาม จีน รัสเซีย มองโกเลีย ตลอดจนฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และแม่น้ำดานูบ โดยครอบคลุมตัวอย่างทั้งที่ประสบความสำเร็จ และล้มเหลวในการแก้ปัญหาเขตแดน-พรมแดน-ชายแดน
2. นำผลงานวิชาการที่สำเร็จเป็น “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” แจกจ่ายอภินันทนาการ (ไม่มีจำหน่าย) ให้กับห้องสมุดมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โรงเรียนประจำจังหวัด หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสังคมและรัฐ ตลอดจนสื่อมวลชน จำนวนหน่วยละ 3,000
3. ดำเนินการจัดการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในรูปแบบของการเสวนา ประชุมปฏิบัติการ การฝึกอบรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554
4. ดำเนินการตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของประชาชนและสังคมไทย และสร้างความตื่นตัวถึงบทบาทการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน กับสถาบันการศึกษา ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการมีความสัมพันธ์อันดีในฐานะ “ประชาคมอาเซียน” Asean Communityร่วมภูมิภาคอุษาคเนย์ด้วยกัน ตลอดจนการหาวิถีทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีฉันท์มิตรประเทศที่มีความเท่าเทียมกันในโลกสมัยปัจจุบัน
ปัจฉิมกถา
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ขอขอบคุณความร่วมมือและความสนับสนุนที่ได้จากองค์กรของรัฐ เอกชน และตัวบุคคล อาทิ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวง การต่างประเทศ ตลอดจนข้าราชการทั้งอดีตและปัจจุบันนิรนามหลายท่าน
ขอบคุณกรมแผนที่ทหาร กองบัญชากองทัพไทย กองบัญชาการทหารสูงสุด สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยนครพนม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
ตลอดจน “กัลยาณมิตร” ต่างรุ่นต่างวัย ที่มีส่วนทั้งร่วมงานโดยตรง มีทั้งส่วนช่วยเหลือ ช่วยผลักดัน และให้คำแนะนำกับ “กำลังใจ” ในการดำเนินการโครงการฯ ที่ค่อนข้างใหญ่โตและอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-สังคม-และการเมืองที่อ่อนไหวและเปราะบางในปัจจุบัน
เราหวังว่า “หนังสือ-สื่อ-ดีวีดี-วีซีดี” ชุดนี้ จะมีส่วนในการเสริมสร้างความคิด สติปัญญาให้กับเราๆ ท่านๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของ “เขตแดน-พรมแดน-ชายแดน” ของ “รัฐสมัยใหม่” ที่เป็นมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ที่มีมาจากอดีต มาจากการกระทำของบรรพชน ที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ที่เราอาจจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ยังอยู่กับเราในปัจจุบัน
และจะคงยังมีต่อไปในอนาคต ที่เราจะต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขต่อไปทั้งนี้เพื่อเยาวชน-คนหนุ่มคนสาว-ลูก-หลาน-เหลน-โหลน “คนรุ่นใหม่” กับประเทศชาติบ้านเมืองของเรา
เรามีความหวังตามปณิธานของผู้ก่อตั้งของเรา คือ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 (1966) เป็นต้นมา ยึดมั่นเป็นแนวทางของวิชาการตามพุทธภาษิตในภาษาบาลีที่ว่า “นัตถิ ปัญญา สมาอาภา” และแปลเป็นไทยว่า “แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี” นั่นเอง
Charnvit Kasetsiri, Ph.D.
Help Rescuing Siam- click:
www.petitiononline.com/SIAM2008
www.petitiononline.com/siam2007
Thammasat University
Bangkok 10200, Siam (not Thailand)
Web: charnvitkasetsiri.com;
http://textbooksproject.com/HOME.html,
http://www.tu.ac.th/org/arts/seas;
662-424-5768, fax. 662-433-8713