ที่มา ประชาไท
ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติแนะ กทม. อาจทรุดต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี หากยังไม่มีมาตรการรับมือที่เตรียมพร้อม ระบุสาเหตุจากโลกร้อนและแผ่นดินกทม. ทรุดจากการสูบน้ำใต้ดิน
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงาน ว่า กรุงเทพฯ อาจเผชิญความเสี่ยงภัยต่อการเกิดอุทกภัยมากกว่าเดิมสี่เท่าตัวในอนาคต เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น และการทรุดของกรุงเทพฯ ที่ยังคงลดต่ำลง และถ้าหากยังไม่มีการวางแผนที่ป้องกันที่ดีพอ อาจทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี
OECD เผย กทม. ติดลำดับ 1 ใน 10 เมืองในโลกเสี่ยงน้ำท่วมชายฝั่ง
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทย จะสูงขึ้น 19- 29 ซม. ภายในปี 2050 เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งทรุดตัวต่ำลงอยู่แล้วจากการสูบน้ำใต้ดิน เผชิญความเสี่ยงในการถูกน้ำท่วมสูงกว่าเดิม
นักวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า หากยังไม่มีมาตรการเตรียมพร้อมที่ดีเพียงพอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ อาจลดต่ำกว่าระดับน้ำทะเลภายใน 50 ปี
ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยังได้จัดให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองติด 10 ลำดับสูงสุดในโลก ที่เสี่ยงต่อผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วมชายฝั่งภายในปี 2070 ด้วย
เอเอฟพียังได้อ้างคำสัมภาษณ์ของผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำจากสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาแห่งฝรั่งเศส ว่า ในระยะยาวแล้ว กรุงเทพจะจมอยู่ใต้น้ำแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเมื่อใด
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้แนะว่า ทางการไทยจำเป็นจะต้องแก้ปัญหาการวางแผนและใช้ที่ดินให้เหมาะสม และคำนึงถึงการย้ายโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมออกไปจากพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการ น้ำท่วม
นอกจากนี้ ยังระบุว่า หากกรุงเทพฯ ต้องการที่จะไม่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมอีกเลย กรุงเทพฯ อาจจะต้องย้ายทั้งเมืองไปอยู่ที่ใหม่ในพื้นที่ที่อยู่สูง อย่างไรก็ตาม หากกรุงเทพฯ ยังคงจะตั้งอยู่ที่เดิม ก็จำเป็นต้องมีมาตรการตั้งรับภัยพิบัติที่ดีกว่านี้ในอนาคต นักวิชาการด้านวิศวกรแหล่งน้ำชายทะเลจากมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ยังคาดการณ์ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ จะทำให้มีการลงทุนด้านการป้องกันภัยพิบัติอย่างมหาศาลไปอีกตลอด 10-20 ปีข้างหน้า
ผู้เชี่ยวชาญแนะ พัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัยเพื่อลดความสูญเสีย
ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้สัมภาษณ์ เคลลี เลวิน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยทรัพยากรโลก โดยระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ในอนาคต เพื่อการรับมือภัยพิบัติโดยลดการสูญเสียให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การใช้เครื่องมือการพยากรณ์อากาศที่ถูกต้องและแม่นยำ การมีแผนที่และแนวป้องกันน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ และระบบเตือนภัยล่วงหน้า รวมถึงระบบประมวลข้อมูลการตัดสินใจการปล่อยน้ำจากเขื่อน ก็ต้องพัฒนาให้ละเอียดและแม่นยำกว่าเดิมด้วย
เลวินยังได้ยกตัวอย่างถึงตัวอย่างในประเทศบังกลาเทศ ที่เผชิญกับพายุไซโคลนนาเดียร์ เมื่อปี 2007 ในเหตุการณ์นั้น ระบบเตือนภัยล่วงหน้าได้ช่วยลดความสูญเสียลงอย่างเห็นได้ชัด เห็นจากมีจำนวนผู้เสียชีวิต 3,400 คน ในขณะที่เมื่อปี 1991 เกิดพายุไซโคลนรุนแรงในระดับเดียวกัน แต่มียอดผู้เสียชีวิตถึง 140,000 คน
เครก สเต็ฟเฟนสัน ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียประจำประเทศไทย กล่าวกับรอยเตอร์ว่า ถึงแม้ความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกกับเหตุอุทกภัยใน ประเทศไทย จะยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่ก็เห็นได้ชัดว่าอุทกภัยทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นจากเหตุการณ์ในภูมิภาค เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และปากีสถานตะวันตก ที่กำลังเผชิญกับอุทกภัยที่มีความรุนแรงเช่นเดียวกัน