โฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง เปลี่ยนผ่านจากห้วงปฏิวัติรัฐประหารกลับสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย
มาถึงวันนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า
เป็นรัฐบาลผสม 6 พรรค 315 เสียง
มีพรรคพลังประชาชน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคฯ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
โดยพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค ประกอบด้วย
พรรคชาติไทย ของนายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคเพื่อแผ่นดิน ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ของ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พรรคมัชฌิมาธิปไตย ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และพรรคประชาชราช ของนายเสนาะ เทียนทอง
มีการแบ่งสันปันส่วน แบ่งโควตากระทรวงกันไปแล้ว พรรคไหนจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ คุมกระทรวงใด พรรคไหนจะได้เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการ กี่ตำแหน่ง
เจรจาเรียบร้อยลงตัว แฮปปี้ทุกพรรค
โดยรัฐบาลชุดนี้จะมีนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างแน่นอน
เพราะที่ผ่านมาในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ทางพรรคพลังประชาชนได้ประกาศไปทั่วประเทศ
ถ้าชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
หัวหน้าพรรค คือ นายสมัคร จะเป็นนายกรัฐมนตรี เข้ามาผลักดันนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ให้เป็นจริง
ตรงนี้ ถือเป็นสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับประชาชน
เหนืออื่นใด พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก หรือมีเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หัวหน้าพรรคนั้นก็ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี
ถือเป็นหลักการของการเมืองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
ยากที่จะบิดพลิ้วจากหลักการนี้
แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการทุกอย่างในการ เดินไปสู่ขั้นตอนของการจัดตั้ง รัฐบาลจะต้องเดินไปตามกรอบปฏิทินเวลาของรัฐธรรมนูญ
วันที่ 21 มกราคม จะมีรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ เพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง
วันที่ 22 มกราคม สภาผู้แทนราษฎรจะเรียกประชุมเป็น นัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 คน
วันที่ 25 มกราคม ประธานสภาฯนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ ส.ส.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ และการลงมติให้กระทำโดยเปิดเผย
เมื่อเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง จากนั้นจึงมีการตั้งคณะรัฐมนตรี
โดยคณะรัฐมนตรีต้องเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณตน ก่อนเข้ารับหน้าที่ และรัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก่อนเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดิน
เบ็ดเสร็จไม่เกิน 1 เดือนจากนี้ ทุกขั้นตอนก็จะเรียบร้อย
ได้รัฐบาลที่สมบูรณ์ภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ หลังจากตั้งตารอคอยกันมานาน
และแน่นอน เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ในการบริหารประเทศในช่วงต่อจากนี้ไป ก็จะต้องเจอปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่ทับถมกันอยู่สารพัดเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจ น้ำมันแพง ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้น กระทบปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคม ความแตกร้าวทางความคิดที่ทำให้ เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ปัญหาด้านความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้
งานหนัก งานหิน ทั้งนั้น ที่รอให้รัฐบาลแก้ไข
อย่างไรก็ตาม “ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” ขอบอกว่า ปัญหาอุปสรรคหลักๆของรัฐบาลผสม 6 พรรคนั้น
อยู่ที่ตัวรัฐบาลเองทั้งสิ้น
โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาล คือ พรรคพลังประชาชน
ที่ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องของการเป็น “นอมินี” ว่า
พรรคนี้ ใครคือผู้ที่มีอำนาจอย่างแท้จริง
ใครกันแน่ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการตัดสินใจปัญหาสำคัญๆ
เพราะจากร่องรอยที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง มาจนถึงช่วงที่การเลือกตั้งใหญ่ผ่านพ้นไปแล้ว
มีแกนนำและผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน มากมายหลายคน ทยอยเดินทางไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฮ่องกง ไม่ขาดสาย
โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ ยกกันไปหลายคณะ
ถ้าเป็นการไปมาหาสู่พบปะเยี่ยมเยียนกันในฐานะนายเก่าที่เคารพนับถือ ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่มีสายสัมพันธ์กันมา
แต่ขณะเดียวกัน บางฝ่ายก็อาจมองไปในมุมที่ว่า เป็นการเดินทางไปปรึกษาหารือร่วมกันวางแผนทางการเมือง ก็มีสิทธิที่จะคิดกันได้
เพราะภาพความเคลื่อนไหว มันฟ้อง แต่ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัด
และจากความเคลื่อนไหวเหล่านี้นี่แหละ ที่จะกลายเป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญในการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่
เพราะถึงแม้นายสมัคร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน จะผงาดก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ปัญหานอมินีจะส่งผลให้ผู้มีอำนาจที่แท้จริงของพรรคพลังประชาชน ไม่สามารถเข้ามาบงการหรือตัดสินใจชี้ขาด ปัญหาต่างๆภายในพรรคและในรัฐบาลอย่างเปิดเผยได้
ตรงนี้จะส่งผลทำให้ปัญหาใหญ่ๆทางด้านบริหารของรัฐบาล และปัญหาใหญ่ๆทางด้านนิติบัญญัติในสภาฯ ไม่สามารถตัดสินใจชี้ขาดได้ทันที
เพราะต้องรอผู้มีอำนาจในพรรคที่แท้จริง หรือ “นายใหญ่” ตัดสินใจชี้ขาดก่อน
ดังนั้น การแก้ปัญหาที่สำคัญๆของรัฐบาลในบางเรื่องบางกรณีอาจล่าช้าไม่ทันกาล
ส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลทั้งในด้านบริหารและด้านนิติบัญญัติ เกิดอาการสะดุดได้ง่ายๆ
รวมไปถึงการบริหารจัดการของนายสมัครเอง แม้มีตำแหน่งเป็นทั้งหัวหน้าพรรคและเป็นหัวหน้ารัฐบาล
แต่เมื่ออำนาจการตัดสินใจอยู่ที่เจ้าของพรรคตัวจริง คนรอบข้างทั้งในพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล ย่อมให้ความเกรงใจน้อยลง
การเรียกร้อง ต่อรองผลประโยชน์ในเรื่องต่างๆ จะมากขึ้น
ดูง่ายๆในเรื่องการจัดสรรตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีภายในพรรคพลังประชาชน ยังไม่ทันไรก็เริ่มมีการแบ่งกลุ่มแบ่งภาคเรียกร้องต่อรองตำแหน่ง ขอแบ่งเค้กกันแล้ว
ยังไม่รวมยุทธการปล่อยข่าว ถล่มกันนัวเนียไปหมด
แน่นอน ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ในมือ “สมัคร” แต่อยู่ที่ “นายใหญ่” ที่อยู่ต่างแดน
การเคลียร์ปัญหาแต่ละเรื่อง ต้องต่อสาย ต้องปิดลับ และต้องใช้เวลา
ทั้งนี้ การที่ “นายใหญ่” ไม่สามารถตัดสินใจชี้ขาดปัญหาในพรรคและในรัฐบาลได้อย่างเปิดเผย ก็เพราะ ติดชนักบ้านเลขที่ 111
ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีในคดียุบพรรคไทยรักไทย ไม่มีสิทธิเข้ามา ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของพรรคการเมือง
ถ้ามีหลักฐานปรากฏว่า “นายใหญ่” ใช้นอมินีบงการร่างทรงที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนหรือรัฐบาล ก็อาจมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี
นี่คือ วิบากกรรมของผู้ที่มีอำนาจแท้จริงในพรรคแกนนำรัฐบาล
ฉะนั้น หากจะปลดล็อกปัญหาเรื่องนอมินี ก็มีอยู่ทางเดียว คือ ต้องเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งรวมถึงบรรดาแกนนำที่อยู่หลังฉากของพรรคร่วมรัฐบาลอีกอย่างน้อย 3 พรรค
แน่นอนว่า ด้วยเสียงของรัฐบาล 315 เสียง การยกมือผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมในสภาผู้แทนราษฎร
ไม่ใช่เรื่องยากเย็น
แต่อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลผสมชุดนี้จะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคนในบ้านเลขที่ 111
ก็ใช่ว่าจะทำได้ตามใจชอบ
เพราะต้องไม่ลืมว่า การตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบ้านเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเสียงในสภาฯเพียงอย่างเดียว
แต่ต้องฟังเสียงของประชาชนด้วย
โดยเฉพาะประชาธิปไตยยุคนี้ อำนาจของประชาชนไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่วินาทีหย่อนบัตรเลือกตั้ง
แต่ยังมีการติดตามตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
มีการเมืองภาคประชาชนคอยสอดส่อง จับตาอยู่ ตลอดเวลา
ผนวกกับประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือก ส.ส.ระบบสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ 12 ล้านเสียง สูสีกับคะแนนระบบสัดส่วนของพรรคพลังประชาชน
ก็ต้องจับจ้องตาเขม็งเช่นกัน
ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลพยายามขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม โดยไม่ฟังเสียงประชาชน
ก็เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะอาจนำไปสู่เหตุการณ์ ปะทะกันของมวลชน 2 ฝ่าย
กลายเป็นวิกฤติรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วง 2, 3 ปีที่ผ่านมา.
“ทีมการเมือง”
ข่าวการเมือง(วิเคราะห์)