ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ประชาไท เขียนคอลัมน์ “ใต้เท้าขอรับ” เกี่ยวกับบทบาทการทำหน้าที่สื่อมวลชน ในการเสนอข่าวความรุนแรงในการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไว้ดังนี้
‘สื่อ’ กับความรุนแรงในวันชุมนุมของพันธมิตรฯ
ความรุนแรงที่เกิดในระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เป็นเรื่องที่ต้องถูกประณาม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่าย ‘พันธมิตรฯ’ ฝ่าย ‘ต้านพันธมิตรฯ 1’ ฝ่าย ‘ต้านพันธมิตรฯ 2’ ฝ่าย ‘ต้านพันธมิตรฯ 3’ หรือฝ่าย ‘ต้านพันธมิตรฯ 4...5...6’
เราขอประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่าย และเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถป้องกันความรุนแรงนี้ได้ รวมทั้งขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ก่อความรุนแรงทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ
กระนั้น สังคมไทยมีเรื่องที่ต้องทำมากกว่านั้น โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับรากเหง้าของความรุนแรงเหล่านี้ เพราะการก้าวข้ามอย่างเข้าใจในสถานการณ์เหล่านี้ของสังคมไทยร่วมกัน จะนำไปสู่รากฐานวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชน เพียงแต่ว่าสังคมไทยจะใช้เวลาเรียนรู้และเก็บรับบทเรียนเหล่านี้ได้เร็วเพียงพอ และทันกับความสูญเสียหรือไม่
ในสถานการณ์แยกขั้วที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่ง่ายเลยที่จะมีใครยืนอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นกลางได้ ในท่ามกลางขวดพลาสติก ขวดแก้ว ไม้ ฯลฯ ที่โยนกันไปมา 2 ฝ่าย และต่างก็ตอบโต้กันด้วยความรุนแรง จนกระทั่งบาดเจ็บด้วยกันทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปห้ามก็อยู่ในสถานการณ์ที่ถูกมองว่าลำเอียง กระทั่งสื่อสารมวลชนเองก็กลายเป็นศัตรูกับฝ่ายต่อต้าน
ผู้ดำเนินรายการข่าวช่องหนึ่ง พยายามสอบถามนักข่าวในพื้นที่ ในวันแรกของการชุมนุมของพันธมิตรฯ ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ฝ่ายต่อต้านรวมพลอยู่ที่ไหน ผู้นำการต่อต้านพันธมิตรฯ ปราศรัยว่าอย่างไร ได้ห้ามปรามการขว้างปาหรือไม่ ฯลฯ แม้นักข่าวในพื้นที่จะเพียรตอบว่า การเผชิญหน้าและการปะทะนั้นเกิดขึ้นในหลายที่ และไม่มีผู้นำที่จะอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ แต่คำถามประเภทนี้ก็เกิดขึ้นอีกจนกลายเสมือนเป็นการยัดเยียดข้อหาให้ฝ่ายต่อต้านว่า เป็นขบวนการ หรือมีคนอยู่เบื้องหลัง
เราสามารถกล่าวได้ว่า ผู้ดำเนินรายการข่าวช่องนั้นไม่ได้มีเจตนาร้ายหรือจงใจปั้นภาพว่าฝ่ายต่อต้านกระทำการรุนแรงเป็นอันธพาล เราสามารถกล่าวได้ว่า ผู้ดำเนินรายการช่องนั้นไม่ได้มีเจตนาเพื่อเข้าข้างฝ่ายพันธมิตรฯ เราเชื่อว่าผู้ดำเนินรายการช่องนี้ก็เหมือนช่องอื่น และผู้สื่อข่าวอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ของตนไปตามที่เขาวาดภาพไว้ แต่ตรงนั้นแหละที่อันตราย
เพราะภาพที่วาดไว้ไม่ได้มาจากความเข้าใจในสถานการณ์ของกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ กลุ่มคนที่ไม่เคยมีพื้นที่ข่าวเหล่านั้นเลย คงต้องบอกด้วยว่า ที่ฝ่ายต่อต้านเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีพื้นที่ข่าวนั้นก็เนื่องมาจาก พูดจาไม่เป็นประเด็น บางทีดูเหมือนหลุดโลก และมักเริ่มต้นด้วยการก่นด่าด้วยคำหยาบคาย โดยเฉพาะกับสื่อเช่นคำว่า “สื่อระยำ”
สื่อส่วนใหญ่มองฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ ว่า เป็นพวกนิยมทักษิณ ซึ่งไม่จริงทั้งหมด หลายคนในที่นั้นก้าวข้ามเรื่องทักษิณ แล้วยกระดับไปสู่การต่อสู้เพื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกฉีกไป กระทั่งพอจะเรียกได้ว่า ‘มีสำนึกเพื่อประชาธิปไตย’ ไปนานมากแล้ว ขณะที่สื่อส่วนใหญ่ยังคงย่ำอยู่กับที่ มองฝ่ายต่อต้านพันธมิตรฯ ว่าเป็นขบวนการเดียวกัน มีการจัดตั้ง มีการชี้นำ และควบคุมได้ กระทั่งยังเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นลักษณะเดียวกับคาราวานคนจนที่ไปปิดเนชั่น หรือไม่ก็เป็นพวกเดียวกับ นปก. ซึ่งห่างไกลจากความเป็นจริงมาก
เมื่อสื่อไม่พยายามเข้าใจว่าทำไมคนเหล่านี้จึงเอาเวลา เอาชีวิตของตัวเอง มาต่อต้านพันธมิตรฯ เราจะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร คนเหล่านี้ไม่ได้ต่อสู้เพื่อมีที่ทางหรือเพื่อมีตำแหน่ง หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองใดๆ แล้วเขาต่อสู้เพื่อสิ่งใด หากไม่ใช่เพราะความคับแค้น และเพราะความไม่เป็นธรรมบางชนิดที่เขาได้รับมาตลอดหลายปี
น่าสนใจและตั้งคำถามกับสื่อในสังคมไทยว่า เราได้แต่ทำข่าวพันธมิตรฯ ฝ่ายเดียวหรือไม่ หรือได้ทำแต่ข่าวความรุนแรงหรือไม่ โดยได้ละเว้นหรือมองข้ามข่าวอีกด้าน
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกับที่รัฐไทยมองผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ ไม่หาว่าเป็นโจรกระจอก ก็โจรติดยาเสพติด โจรค้าของเถื่อน หรือเมื่อสรุปเอาว่า เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก็ไม่เคยได้ทำให้เข้าใจกันจริงๆ เสียทีว่า ความไม่เป็นธรรมอันใดที่เป็นเหตุให้เขาต้องมาแบ่งแยกดินแดน
เมื่อสื่อเข้าไม่ถึงคู่กรณี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เราจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้อย่างไร และเราจะหยุดความรุนแรงได้อย่างไร
เมื่อสื่อเสนอข่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่ข่าวอีกฝ่ายเข้าถึงได้ก็แต่เรื่องร้ายๆ นั่นก็เท่ากับสื่อเป็นผู้ก่อความรุนแรงเสียเองใช่หรือไม่