วันนี้ผม นายพิธาน คลี่ขจาย ขอเนื้อที่ตรงนี้สักวัน เพื่อระบายความในใจ ซึ่งปกติการที่บรรณาธิการบริหาร ซึ่งมีหน้าที่รับใช้พี่ๆ น้องๆ ในกองบรรณาธิการ จะเขียนระบายความในใจกันในฉบับปฐมฤกษ์ และฉบับครบรอบปีของหนังสือพิมพ์
แต่บังเอิญว่า หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ รายวัน เกิดขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศอึมครึม ประเทศยังตกอยู่ใต้อำนาจของเผด็จการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ทำให้ทีมงานทุกคนตระหนักดีว่า มีงานใหญ่ที่ท้าทายรออยู่ข้างหน้า เมื่อทีมงานมีเจตนารมณ์ร่วมกันว่า จะทำหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ให้เป็นสื่อทางเลือกของประชาชน เพื่อประชาธิปไตย
สื่อทางเลือกของประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ที่ทีมงานมีเจตนารมณ์ร่วมกันนั้น คือ จะต้องต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เพื่อให้ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ
แม้ว่าในห้วงเวลานั้น ยังเหลือเวลาอีกไม่นานนัก 2 เดือนกับ 23 วัน ก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไป แต่พวกเรามั่นใจว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. คงไม่วางมือจากอำนาจที่ครอบงำประเทศอยู่หนึ่งปีครึ่งในทันทีทันใด ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งทั่วไป
ด้วยเหตุนี้ หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ รายวัน ฉบับปฐมฤกษ์ จึงไม่ได้มีการจัดงานเปิดตัวหรือเขียนระบายความในใจในหน้าพิเศษ เหมือนที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ทำกัน
ซึ่งสิ่งที่พวกเราตระหนักมาตั้งแต่แรกเริ่มก็เป็นจริงตามคาด หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ รายวัน ถูกมองว่ายืนกันคนละฝั่งกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. และผู้สนับสนุนเผด็จการ
นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เหลืออีก 2 วัน ก็จะมีอายุครบ 8 เดือน หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ รายวัน จะเปลี่ยนแปลงไปก็เฉพาะยอดจำหน่าย แต่เจตนารมณ์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่มีเปลี่ยนสี เพราะหนังสือพิมพ์ไม่ใช่จิ้งจก
แน่นอน เมื่อมีเจตนารมณ์แน่วแน่ ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์จึงถูกมองว่าเลือกข้าง ซึ่งผมก็จะตอบว่า ถูกต้อง พวกผมเลือกข้างความถูกต้อง
แต่ผมปฏิเสธทุกครั้งที่ถูกถามว่า เป็นหนังสือพิมพ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าเป็นหนังสือของ พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่บางแค่ 16 หน้า
จากคำถามของพรรคพวกเพื่อนฝูง ผมก็ได้รับการติดต่อจากน้องๆ นักข่าวว่า จะขอสัมภาษณ์แนวทางของหนังสือพิมม์ประชาทรรศน์ เพื่อนำไปลงในนิตยสารของสมาคมนักข่าวฯ โดยจะสัมภาษณ์ พี่สำราญ รอดเพชร จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ลงในนิตยสารของสมาคมนักข่าวฯ ฉบับเดียวกัน
ผมก็ตกลง หากปฏิเสธเดี๋ยวจะถูกครหาว่าไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรสื่อที่ตัวยึดเป็นอาชีพมาตลอดทั้งชีวิต และผมอยากจะเจอพี่สำราญ ซึ่งไม่ได้เจอกันมานาน แม้จะไม่ได้เจอกันโดยตรง เจอกันในบทสัมภาษณ์ก็ยังดี
พอถึงวันนัด น้องๆ นักข่าวก็มากัน 2-3 คน ผมก็ตอบคำถามทุกคำถามที่รู้และตอบได้ แต่มีคำถามหนึ่งถามว่า นสพ.ประชาทรรศน์ เป็นของนักการเมืองหรือไม่ ผมก็บอกน้องนักข่าวไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ เท่าที่รู้ นสพ.ประชาทรรศน์ มีการร่วมหุ้นของหลายฝ่าย จะมีนักการเมืองหรือไม่ผมไม่รู้ เพราะผมไม่อยากจะรู้ เพราะรู้มากไปจะเกิดความอึดอัดในการทำงาน นี่คือสิ่งที่ผมบอกกับน้องๆ นักข่าว และรอว่าเมื่อไรนิตยสารของสมาคมนักข่าวฯ จะออกมา เพราะผมจะได้เจอ พี่สำราญ รอดเพชร ในนิตยสารของสมาคมนักข่าวฯ
แต่ปรากฏว่า จนถึงวันนี้ผมยังไม่เห็นนิตยสารของสมาคมนักข่าวฯ แต่การให้สัมภาษณ์ของผมกลับไปปรากฏอยู่ใน นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม ซึ่งผมถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้มารยาท ซึ่งผมไม่ค่อยจะเจอนัก ตั้งแต่ผมทำงานหนังสือพิมพ์มาเกือบ 30 ปี
เพราะบางครั้ง ในการสัมภาษณ์นักการเมือง บางประโยค ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าห้ามลง เป็นที่รับรู้กันว่าไม่ลง หรือบอกว่าให้ใช้ว่าเป็นการเปิดเผยของแหล่งข่าว ก็ต้องเขียนข่าวไปตามนั้น เพราะนั่นเป็นมารยาท
ขนาดนักการเมือง ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ที่ผ่านมานักข่าวยังมีมารยาท แต่ผมเป็นเพียงนักหนังสือพิมพ์เล็กๆ ซึ่งตอบรับการติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ เพราะเห็นว่าเป็นนิตยสารของสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งเป็นเรื่องของส่วนรวม ผมจึงคุยกันสนุกนานสองนาน ไม่นึกว่าในยุคนี้มีน้องนักข่าวที่ไร้มารยาทอย่างนี้เกิดขึ้น
มิหนำซ้ำ ยังบิดเบือนไปลงว่า ผมบอกว่ามีนักการเมืองร่วมทุนในประชาทรรศน์ด้วย แต่เป็นใครผมไม่รู้ ทั้งๆ ที่ผมอุตส่าห์บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ
วันนี้ สมาคมนักข่าวฯ ร้องเรียนว่าสื่อถูกคุกคาม ผมไม่ใช่บุคคลสาธารณะที่จะไปนั่งแถลงข่าวให้นักข่าวสัมภาษณ์ แต่ผมก็ต้องพบกับการกระทำที่ไร้มารยาทของนักข่าว นสพ.คม ชัด ลึก คนหนึ่ง
ผมยอมรับว่าเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ร่วมอาชีพเดียวกัน ทำให้นึกสะท้อนใจว่า แล้วคนอื่นล่ะ ซึ่งเขาไม่มีพื้นที่ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง เขาจะต้องเจ็บปวดกว่าผมหลายเท่า
เอกฉัตร