* ยื่นยุบพรรค ปชป.ขวางประชาธิปไตย
แฉ! แผนร้ายม็อบพันธมิตรฯ เดินตามรอย 19 กันยาฯ กรุยทางสู่การปฏิวัติอีกครั้ง สอดรับคำพูด “พล.อ.สะพรั่ง” และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลุดปากส่งสัญญาณอันตราย ตั้งคำถามใครอยู่เบื้องหลัง “สนธิ” ทำการใหญ่ ด้านนักวิชาการเรียงหน้าดักคอรัฐประหารทำชาติพัง ถอยหลงลงคลองทั้งเศรษฐกิจ-การเมือง แถมสุขภาพจิตคนไทยย่ำแย่ จ่อยื่น กกต.ยุบพรรคประชาธิปัตย์ เข้าข่ายทำผิดกฎหมายพรรคการเมือมาตรา 94 ขัดขวางการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การเคลื่อนไหวปักหลักชุมนุมยึดถนนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่ม ประกาศว่าเป็นการชุมนุมครั้งสุดท้าย มีนัยที่หลายต่อหลายฝ่ายตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่องว่านายสนธิ ต้องการสื่อความหมายอย่างไรกันแน่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ก่อนหน้านี้กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เรียกร้องให้มีการทำประชามติ และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยืนยันว่าหากประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะหยุดการเคลื่อนไหวทันที แต่เมื่อรัฐบาลตกลงใจที่จะให้มีการทำประชามติ ก็กลับกลืนน้ำลายตัวเอง และปลุกระดมคนอกมาเคลื่อนไหวชุมนุม
ท่าทีต่างๆ เหล่านี้ จึงเกิดเป็นข้อสงสัยมาโดยตลอดว่าแท้ที่จริงแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ มีจุดประสงค์ในการเคลื่อนไหวอย่างไรกันแน่ โดยที่ก่อนหน้านี้ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย ภาคประชาชน และนักการเมือง ต่างก็ออกมาวิเคราะห์ไปในแนวทางเดียวกันว่าเจตนาของกลุ่มพันธมิตรฯ ส่อว่าจงใจจะล้มล้างรัฐบาลมากกว่า ส่วนเรื่องของ รธน. เป็นเพียงเหตุผลบังหน้า
ปชป.-พันธมิตรฯประสานเสียง
รวมไปถึงการปราศัยในเวลาต่อมาของนายสนธิ ที่ระบุว่า “รัฐบาลชุดนายสมัคร สุนทรเวช ก็เป็นเพียงแค่สายพันธ์ที่มาทำชั่วแบบนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อรัฐบาลนายสมัคร หมดไปแล้ว สายพันธ์นี้จะหมดตามไป มันยังอยู่ มันยังอยู่ เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องเปลี่ยนหรือหาทางสร้างระบบใหม่ ที่มาตอบสนองข้อเท็จจริงของสังคมไทย ก็คือว่าสังคมไทยที่เรารู้จักเป็นสังคมแบบไหน เราต้องเข้าใจตัวเราเอง เราถึงออกแบบการเมืองที่เหมาะกับเรา”
คำพูดดังกล่าวก็ยิ่งมองให้เห็นเจตนา ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในบ้านเมือง และล้างบางการเมืองในกลุ่มอำนาจเดิม ดังที่นายสนธิ เคยพูดถึงภารกิจที่ยังทำไม่เสร็จ
อย่างไรก็ดีข้อสงสัยต่างๆ ได้ปรากฎเป็นความชัดเจนมากขึ้น เมื่อกลุ่มคนที่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวางตัวเองอยู่ในฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล ได้ออกมาพูดจาประสานเสียงกันอย่างน่าสนใจ และชวนให้เกิดข้อสงสัย
พร้อมใจส่งสัญญาณอันตราย
เริ่มตั้งแต่การที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โทรศัพท์ข้ามประเทศ เพื่อเกาะแกะอดีตผู้สื่อข่าว “ประชาทรรศน์” ที่รู้จักกันตั้งแต่คราวไปทำข่าวรัฐมนตรีเงา ที่พรรคประชาธิปัตย์ และขณะนี้ลาไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยระบุว่า “ในเดือนหน้าก็จะไม่มีรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช” แล้ว
สอดรับกับที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ พูดบนเวทีปราศัยว่า “หลังจากนี้จนเสร็จศึกจะไม่มีวันถอย ที่ผ่านมาพันธมิตรฯ เราเคยใช้เวลาปักหลักบนถนนมากว่า 34 คืน แต่ครั้งนี้จะต้องเร็วกว่าแน่นอน”
ซึ่งคำพูดของพล.ต.จำลอง เสมือนเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างอีกครั้ง และยังไปคล้องจองกับคำพูดของ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ที่สงบปากสงบคำมานาน
สอดรับ “สะพรั่ง” พูดปฏิวัติ
โดยที่พล.อ.สะพรั่ง ได้พยายามกล่าวอ้างถึงสถานการณ์เผชิญหน้าในบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้ออ้างเดียวกับการรัฐประหารเมื่อคราว 19 กันยายน 2549 พร้อมทั้งตบท้ายว่า “หากสถานการณ์หาทางออกไม่ได้ การเผชิญหน้าก็จะต้องเกิดขึ้น มีทางเดียวคือฝ่ายรักษาความมั่นคงจะต้องรับผิดชอบในการคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้
การรักษาชาติบ้านเมืองให้อยู่ในสภาวะสงบเรียบร้อยโดยเร็วที่สุด ถือเป็นบทบาทของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องตัดสินใจทำ เราจะต้องออกมารับผิดชอบคลี่คลายสถานการณ์เพื่อรักษาบ้านเมือง เพราะทหารเพิกเฉยต่อสถานการณ์ไม่ได้ หากเกิดเหตุจลาจลบ้านเมืองวิกฤตทหารจะอยู่เฉยๆได้อย่างไร หากเกินกำลังที่ตำรวจจะดำเนินการ ทหารจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำชัดๆ ว่าหมายถึงยังจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกเช่นน้นหรือไม่ พล.อ.สะพรั่ง ก็ยังบอกว่า “ไม่ขอรับรองหรือยืนยันว่า จะมีหรือไม่มี...ถึงตอนนั้นก็เป็นความรับผิดชอบของทหารที่จะต้องปกป้องประเทศ”
เชื่อจงใจปลุกผีปฏิวัติ 19 กันยา
จากกรณีดังกล่าวนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชิปไตยต่อต้านเผด็จการ 2 (นปก.) กล่าวว่าการที่พล.ต.จำลอง กับ พล.อ.สพรั่ง มีการพูดจาสอดรับกันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเขามีการหารือกันตลอดระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ และทหารบางพวก และการกล่าวเช่นนี้เป็นไปตามแผนที่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 อีกคร้ง เป็นการเดินตามรอยเส้นทางเดิมเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป้นประชาธิปไตย
“การที่พันธมิตรฯ พยายามเรียกทหารออกมาปฏิวัติ โดยขู่ให้ถอดถอนญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเป็นจริงพรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้รับผลพวงไปด้วย แต่หากมองจริงๆ แล้วแม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลแน่ วิธีที่เรียกทหารออกมาจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับเขา ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการทุกอย่างไม่ให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดอำนาจจากรัฐบาลไปได้ “ นายสุรชัยกล่าว
ดักคอปฏิวัติทำชาติถอยหลัง
นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นเดียวกันนี้ว่า การพูดรับส่งเรื่องปฏิวัติขนาดนี้ คงเป็นการพูดเฉยๆ เหมือนหมาเห่าใบตองแห้ง เพราะเงื่อนไขที่จะดึงให้ทหารทำการปฏิวัตินั้นไม่มี นอกจากนี้อำนาจของทั้งสองคนก็ไม่มากพอที่จะคุมเกมการเมืองขนาดนั้น ทั้งนี้การจะเกิดเหตุการณ์เหมือน 19 กันยายนหรือไม่นั้น ไม่สามารถเดาได้ แต่ขอเรียกร้องเสียก่อนว่า แนวคิดดังกล่าวไม่ควรทำให้เกิดขึ้น เพราะกระบวนการการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่ถูกที่ควรยังมีหนทางอยู่
“การรัฐประหารไม่ใช่วิถีทางที่นานาอารยะเขาทำกัน ประเทศที่เจริญแล้วไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้ การเมืองของไทยจะยิ่งถอยหลังเข้าคลอง นอกจากนี้ยังเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนในประเทศ ทางที่ดีควรปล่อยให้ระบบการเมืองทำการแก้ไขด้วยตัวของมันเอง ควรให้เวลารัฐบาลมำหน้าที่ให้จบกระบวนการ 4 ปี แล้วก็มีการเลือกตั้งใหม่ โดยประชาชนจะตัดสินเองว่าควรกับมาบริหารบ้านเมืองต่อไปหรือไม่” นายสุธาชัยกล่าว
พันธมิตรฯจะสร้างชาติใหม่?
นายประชา ประสพดี ตัวแทนกลุ่มมหาประชาชนร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย กล่าวว่าคำพูดของ นายสนธิ ลิ้มทองกุลที่กล่าวว่าการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย และในภารกิจครั้งนี้ไม่ใช่การกู้ชาติ แต่เป็นการสร้างชาติ แสดงว่าพันธมิตรฯคิดจะสร้างชาติใหม่ขึ้นมาเอง
นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ระบุว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ใช้เงื่อนไขการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นข้ออ้างเพื่อล้มล้างขับไล่รัฐบาล เพราะหากพิจารณาดูในข้อเท็จจริงแล้ว เงื่อนไขและข้อเรียกร้องที่กล่าวอ้างมามีเพียงน้อยนิด โดยเป็นการนำเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อยกระดับ ปลุกระดมพลังมวลชนให้เกิดการต่อต้าน จนแตกหัก
เพื่อเรียกร้องให้ทหารยกกองทัพออกมาเพื่อทำการปฏิวัติ
ปฏิวัติทำการเมืองไทยย่ำอยู่กับที่
ทางด้านรศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามถึงพันธมิตรฯ ว่าเมื่อ 19 กันยายน 2549 หายไปไหน เหตุการณ์นั้นฉีกรัฐธรรมนูญของจริง แต่ครั้งนี้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แม้หากมองในเชิงรูปธรรมรัฐบาลอาจจะยังไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจน จนทำให้เกิดความสับสน แต่การเมืองภาคประชาชนไม่ใช่ว่าจะทำอะไรก็ได้ ต้องอยู่ในกติกา และอีกอย่างหนึ่งที่สงสัยมากคือการที่กลุ่มพันธมิตรฯ อ้างประชาชนอยู่ตลอดน้น หมายถึงใคร รวมถึงคนที่ไม่รับร่าง และเลือกพรรคพลังประชาชนด้วยหรือเปล่า เพราะในส่วนตนเองผมไม่เห็นด้วยแน่
พร้อมกล่าวถึงการชุมนุมว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศมหาศาล ทั้งระบบเศรษฐกิจ และการลงทุนภายในประเทศ เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลมีน้อย จากนั้นสุขภาพจิตของคนไทยก็จะย่ำแย่ เพราะไม่มีความสุข และเบื่อหน่ายการเมือง ทุกวันนี้การเมืองไทยย่ำอยู่กับที่เหมือน 30 ปีก่อน ทั้งๆที่น่าจะไปได้ไกลกว่านี้ เพราะมีรัฐประหารเป็นปฐมบทของความขัดแย้ง หากไม่มีการรัฐประหาร กลไกไม่แปรปรวน กระบวนการแก้ไขรธน.ก็ไม่เกิดขึ้น
มีใครหนุน “สนธิ” ทำการใหญ่?
นายคารม พลทะกลาง ทนายความ กล่าวว่าตอนนี้ นายสนธิ ไม่สนใจศาลแล้ว ขนาดศาลสั่งำม่ให้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมเคลื่อนไหว ก็ยังไม่หยุด ตรงนี้น่าสนใจ ว่านายสนธิคิดจะทำอะไรหรือคิดการใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับบ้านเมืองหรือไม่ และใครเป็นคนหนุนหลัง ถึงไม่กลัวเกรงอำนาจศาลเช่นนี้
ส่วนที่มีข่าวพรรคการเมืองเก่าแก่ขนคนร่วมชุมนุม หากเป็นจริงก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ถ่ายทอดได้ว่าไม่เคารพในกติการบ้านเมือง และใช้นอกระบบสภาในการต่อสู้ พรรคการเมืองที่ตกเป็นข่าวต้องทำการชี้แจง ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำการพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติพรรคการเมืองหรือไม่ รวมถึงอาจเข่าข่ายขัดกฎหมายความมั่นคง
ด้านนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า การที่นายสนธิ ออกมากล่าวว่าการชุมนุมในครั้งนี้เป็นการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยให้มาเป็นสาธารณะรัฐล้มล้างสถาบัน เพื่อนำพาสู่การเปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดี ข้อกล่าวอันนี้เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและขาดสติเพราะใครก็ตามที่เป็นไทย ไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดถึงเรื่องแบบนี้ได้เลย ถ้าหากใครคิดเรื่องเช่นนี้คงสมควรถูกประหารชีวิตแล้ว
“อภิสิทธิ์”เห็นดีกับ“สนธิ”หรือเปล่า
เมื่อข้อกล่าวนี้ถูกหยิบยกมาให้รัฐบาลในขณะนี้ซึ่งความจริงก็เข้าข่ายความผิด เพราะหากไปใส่ความรัฐบาลแล้วเกิดมีประชาชนหลงเชื่อจะก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง ทั้งที่จริงแล้วคนในรัฐบาลและคนของพรรคพลังประชาชนทุกคนไม่มีใครเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวและพร้อมจะต่อสู้กันด้วยชีวิต
ซึ่งประเด็นที่อยากถามกลับไปหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่าเชื่อสิ่งที่นายสนธิ บอกไว้หรือไม่ ถ้าหากนายอภิสิทธิ์เชื่อคำพูดเหล่านี้ก็ไม่สมควรที่จะคิดถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เพราะประเด็นเรื่องนี้เลวร้ายยิ่งกว่าประเด็นมาตรา 7 ซึ่งถือเป็นทัศนะคติที่เป็นอันตราย ทั้งต่อประชาธิปไตยและสถาบัน
ชี้ชัด ปชป.ขวางประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันนายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่าตนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่กำลังทำผิดต่อความเป็นพรรคการเมืองอย่างร้ายแรง ซึ่งสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำผิดคือ การกระทำที่ผิดหลักการของพรรคการเมืองซึ่งผิดหลักตามมาตรา 94 ซึ่งดำเนินการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้ากรณีเป็นแบบนี้ตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 94 นายทะเบียนพรรคการเมืองมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการยื่นเรื่องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินการยุบพรรคการเมืองที่กระทำผิด ตามกฎหมายพรรคการเมือง
ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏชัดเลยว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ผิดคือว่า 1.พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นคัดค้านยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง โดยมีแนวร่วมกับองค์กรต่างๆ ที่ร่วมคัดค้าน 2.ในการดำเนินการที่จะร่วมคัดค้านในเรื่องดังกล่าวนั้นจะมอบให้เลขาธิการพรรคคือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนหลักในการที่จะดำเนินการในตอนนี้โดยจะจะทำเช่นที่เคยดำเนินการมาคือการโหวตโนในการประท้วงช่วงมีการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2549 ซึ่งในขณะนี้ประชาธิปัตย์กำลังแสดงให้เห็นชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับระบบรัฐสภา ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องทำ
จ่อยื่นกกต.ยุบ “ประชาธิปัตย์”
ถ้าเป้นอย่างนี้แปลว่าการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ผิด ขณะเดียวกันมีส.ส.ขึ้นเวทีพันธมิตรฯอีก เป็นแกนหลักในการปราศรัย อีกทั้งยังมีพยานหลักฐานที่น่าจะเชื่อได้ว่าประชาชนที่มาร่วมชุมนุมจากต่างจังหวัดน่าจะเป็นการจักการโดยพรรคประชาธิปัตย์และส.ส.พรรค ซึ่งส.ส.บางคนที่ว่าอาจจะเป็นถึงกรรมการบริหารพรรค
เมื่อเป็นอย่างนี้ประธานกกต.ในฐานะที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องดำเนินการยื่นเรื่องเสนอให้อัยการส่งเรื่องให้ดำเนินการยุบพรรคการเมือง
นายศุภชัย กล่าวต่ออีกว่า ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่มีความรู้สึกว่าที่ผ่านในช่วงเหตุการณ์ 2เมษายน 2549 ที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงการคัดค้านการเลือกตั้งวันนี้ที่จะพยายามกระทำเช่นนั้นอีกครั้ง มองดูพฤติกรรมว่าเท่าที่ผ่านมาการเลือกตั้งที่มันปัญหา ในขณะที่สังคมจำนวนไม่น้อยผลจากที่ปัญหาในเรื่องนั้นกลายเป็นนำทหารเข้ามายึดอำนาจ และประเทศชาติเสียซึ่งในความเห็นของพี่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ส่งสมัครเลือกตั้งและโหวตโนจนทำให้เกิดเป็นสาเหตุของการปฏิวัติ และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายในครั้งนั้น