กกต. 28 พ.ค. - “สดศรี สัตยธรรม” เผยร่าง พ.ร.บ.การทำประชามติ จะเข้าสู่การพิจารณาของ กกต. พรุ่งนี้ ก่อนส่งให้สภาฯ 30 พ.ค.นี้ เชื่อหากทุกฝ่ายมีเหตุผล การทำประชามติครั้งนี้จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองได้ นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2550 ว่า คณะกรรมการฝ่ายกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ที่มีนายบุญทัน ดอกไธสง เป็นประธาน จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ (28 พ.ค.) และจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ในวันพรุ่งนี้ (29 พ.ค.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ก่อนส่งให้สภาฯ ภายในวันศุกร์ที่ 30 พ.ค.นี้ ต่อไป “ที่จริงเราร่างเสร็จมานานแล้ว มีประมาณ 40 มาตรา ไม่แตกต่างจาก พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ฉบับปี 2541 มากนัก แต่ในส่วนของวิธีปฏิบัติอาจแตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็จะให้คณะกรรมการฯ ดูข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติ ส่วนการกำหนดคำถามในการลงประชามติ กกต.จะร่างเป็นแนวทางไปก่อน จากนั้นจะให้ฝ่ายสภาฯ พิจารณาต่อไป” นางสดศรี กล่าว นางสดศรี กล่าวว่า การทำประชามติจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาฯ ดังนั้น หากมีการประชุมร่วมกัน แล้วแปรญัตติ 3 วาระรวด ก็จะทำให้การพิจารณาเร็วขึ้น ต่อกรณีที่รัฐบาลเห็นว่า พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ปี 2541 ยังไม่สิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้น นางสดศรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กำหนดให้มี พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ปี 2541 ดังนั้น หากรัฐธรรมนูญปี 2540 สิ้นสภาพ ก็น่าจะสิ้นสภาพทั้งหมด “แต่หากคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ปี 2541 ยังไม่สิ้นสภาพ กกต.ก็คงไม่โต้แย้งอะไร กกต.ก็เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไปตามหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะทำให้การลงประชามติง่ายกว่า พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ปี 2541” นางสดศรี กล่าว นางสดศรี ยังกล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ที่มีผู้เป็นห่วงว่าทหารอาจเข้ามา ว่า บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น เราต้องดูว่าเราจะก้าวถึงจุดไหน หากถอยกันคนละก้าว อยู่กันด้วยเหตุผล บ้านเมืองก็จะเดินต่อไปได้ ในภาวะปัจจุบัน หากมีการแบ่งขั้วแบ่งข้าง 2 ฝ่าย อาจมีการแทรกแซงได้ และบ้านเมืองไหนที่มีความแตกแยกกัน เราคงอยู่กันไม่ได้ แต่หากเราปรับความเห็นตรงกันได้ อาจทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยุติลงได้รวดเร็ว “สำหรับ กกต. เราทำภารกิจที่ระบุไว้ตามกฎหมาย เราไม่ได้เอาใจใคร เชื่อว่าจากการทำประชามติครั้งนี้ อาจทำให้สถานการณ์ความเครียดทางการเมืองผ่อนคลายลงได้ หากทุกฝ่ายมีเหตุและผล” นางสดศรี กล่าว. - สำนักข่าวไทย
อัพเดตเมื่อ 2008-05-28 14:25:27