จากกรณีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดย นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นพ.เหวง โตจิราการ นายสุชาติ นาคบางไทร และ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ได้เปิดแถลงข่าวที่รัฐสภา ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงม็อบปะทะม็อบ และแก้ข้อกล่าวหาของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร. ไม่ได้จ้องล้มล้างสถาบัน อย่างที่มีการกล่าวอ้าง และเกิดการกระทบกระทั่งกับผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา จนมีการแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และมีการร้องเรียนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร นั้น
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ได้เปิดใจในประเด็นดังกล่าวผ่านรายการ “โต๊ะข่าวประชาทรรศน์” ทางสถานีโทรทัศน์ MV news มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้
...ผมต้องขอบคุณทางรายการที่ให้ผมมาบอกเล่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมื่อวานมันเกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากปัญหาแรก คือพวกผมคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) มีสิทธิ์หรือมีความชอบธรรมอะไรที่ไปแถลงข่าวที่รัฐสภา ผมต้องขอเรียนสื่อมวลชนมาหาว่าผมเป็นคนนอกไม่มีสิทธิ์ จริงๆ แล้วผมเป็นคนนอกก็จริง แต่คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) เราได้ไปยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ตามมาตรา 291 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 พร้อมกับรายชื่อประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกว่าแสนคน
ขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกมาปราศรัยหลายครั้งว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คปพร. มีทิศทางในการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ และตั้งสาธารณรัฐประเทศไทยขึ้นมาเพื่อบิดเบือนประเด็น และขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่รัฐสภา จึงมีความจำเป็นที่ต้องไปแถลงข่าวที่สภา เพื่อให้ ส.ส. ส.ว. และประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงว่า ร่างของเราไม่มีหมวดใดมาตราใดที่เป็นการล้มเลิกสถาบันเบื้องสูง เรามีสิทธิ์ที่จะเข้าไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (3) โดยเราถือเป็นตัวแทนประชาชนหนึ่งแสนหน้าหมื่นรายชื่อที่เข้ายื่น ส่วนประเด็นที่กล่าวว่า ส.ส. นิสิต สินธุไพร เป็นคนจัดการให้นั้น ความจริงแล้วเป็นคนอำนวยความสะดวกให้เฉยๆ ไม่ใช่ว่าเราใช้สิทธิ์ของ ส.ส.
ผมเข้าไปแถลงที่ห้องแถลงข่าว ซึ่งมีนักข่าวอยู่กันเต็ม เราเองก็รู้สึกขอบคุณที่นักข่าวให้การสนใจ โดยเรื่องที่เราแถลงมี 4 เรื่อง คือ ชี้แจงข้อบิดเบือนของกลุ่มพันธมิตรฯที่กล่าวหาว่าร่าง คปพร.ของเราจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เหตุการณ์ปะทะกันของฝ่ายพันธมิตรฯ กับผู้ต่อต้าน ซึ่งสื่อกว่า 90 เปอร์เซ็นต์โยนความผิดให้กับกลุ่มนปก. ซึ่งคณะกรรมการของเรามีที่มาจาก นปก. ส่วนมาก จึงต้องทำการแถลง และพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงให้เห็นว่ามีการเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรอย่างชัดเจน
โดยมีการขึ้นปราศรัยต้องการจะโค้นล้มรัฐบาล พร้อมกับเรียกร้องให้มีการทำรัฐประหาร เป็นการใช้เสรีภาพที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะใช้เสรีภาพเพื่อขัดระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้นกระทำไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำประชาชนมาร่วมชุมนุม ถือเป็นการเล่นการเมืองนอกรัฐสภา ซึ่งถือว่ามีความไม่เหมาะสม
ตอนแรกผู้สื่อข่าวดูให้ความสนใจ แต่พอถึงช่วงที่เปิดโอกาสให้ซักถาม ราวกับพนักงานสอบสวน โดยใช้คำถามเพื่อหาความผิดให้เรา เช่นว่า กลุ่มที่ไปต่อต้านเป็นนปก.ใช่หรือไม่ ทำไมถึงมีการสะพายเป้ที่มีมีด และอาวุธ เป็นต้น โดยที่เมื่อเราทำการชี้แจงว่า กลุ่มพวกนี้เคยเป็นสมาชิกของนปก.จริง แต่เป็นการชุมนุมที่กระทำส่วนบุคคล เพราะกลุ่มนี้มีการชุมนุมกันอย่างต่อเนื่องทุกเสาร์-อาทิตย์มานาน และไม่ได้ดำเนินการภายใต้การเคลื่อนไหวของนปก. แต่ผู้สื่อข่าวทำเหมือนไม่เข้าใจ ยังถามจี้ต่อและใช้คำว่ากลุ่มนปก.
ส่วนกรณีที่กล่าวว่า นายสุชาติ นาคบางไทร เป็นผู้นำขบวน ความจริงแล้ว เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมามีข่าวลือเรื่อยๆว่าจะมีการทำรัฐประหาร คุณสุชาติ จึงเตรียมการต่อต้านรัฐประหาร โดยการชุมนุม ซึ่งนปก.ที่ร่วมชุมนุมก็ไม่ชอบพันธมิตรฯอยู่แล้ว ทั้งนี้คืนวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา มันมีหลายกลุ่มที่ร่วมชุมนุมต่อต้าน แต่มีปัญหาตรงที่ชุมนุมบางส่วนอยู่ทางด้านใต้ของกลุ่มพันธมิตร เมื่อทำการเดินขบวนตามกลุ่มพันธมิตร
ซึ่งที่ผ่านผมอยากจะบอกว่าพันธมิตรมีการชุมนุมที่ไม่ธรรมดา แต่มีเป้าหมายที่ล้มล้างรัฐบาล และมีบทบาทในการฉีกรัฐธรรมนูญ คนเลยไม่ชอบ ยิ่งพอมีเสียงพูดจากพันธมิตรมาว่า รัฐบาลคุณสมัครเป็นรัฐบาลโจร และโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯตลอด คนก็เลยโห่ไล่ไม่พอใจ ผมเองก็ไม่อยากให้เกิดแต่มันเป็นเหตุสุดวิสัย ช่วยอะไรไม่ได้
ทั้งนี้ในการแถลงข่าวที่รัฐสภา ผมได้เชิญ คุณสุชาติ นาคบางไทร เพราะว่าเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีการปะทะกันบริเวณ สะพานผ่านฟ้า ซึ่งมีฝ่ายต่อต้านที่บาดเจ็บหลายราย และคาดการณ์ว่านักข่าวจะต้องมีการซักถามแน่นอน เนื่องจากข่าวมีการนำเสนอว่าคุณสุชาติเป็นคนนำขบวนด้วย ความจริงแล้ว คุณสุชาติบอกว่าไม่อยากแถลงข่าว แต่ผมได้บอกเพียงว่าเขาถามมาก็ตอบไป แต่สื่อได้ตั้งคำถามกับคุณสุชาติราวกับเป็นจำเลยนักโทษ จึงมีการตอบโต้ จึงเริ่มมีอารมณ์ดุเดือด ผมเข้าใจว่าเป็นการทำข่าวแบบสอบสวน แต่คุณต้องดูก่อนว่าถามได้แค่ไหน ไม่ใช่ถามเอาเป็นเอาตาย เพื่อจนมุม นอกจากนี้ลักษณะท่าทีที่แสดง ผมเองก็ยอมรับว่าฉุนมากทั้งๆ ที่ปกติเป็นคนใจเย็น
จากนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มตรึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ คุณสุชาติก็กล่าวว่า “ผมไม่อยากมาพบกับพวกคุณหรอกนะ เพราะพวกคุณไม่ให้ความเป็นธรรม” จากนั้นจึงมีนักข่าวผู้หญิง 2 คนตะโกนลั่น ไล่คุณสุชาติออกจากห้องแถลงข่าว ผมเองก็ฉุนเพราะไม่เข้าใจว่า ห้องแถลงข่าวนี้เป็นของนักข่าวหรือของสภากันแน่ หากคุณไม่พอใจก็เดินออกไปสิ ไม่ใช่มาไล่กันอย่างนี้ จากนั้นก็เริ่มมีเสียงตะโกน ถามว่ามาทำไม แล้วหมอเหวงก็พูดพลาดไปว่า หลายครั้งที่สื่อบอกว่าเป็นนปก. ตนก็ไม่ได้ถือสา เรื่องแค่นี้ก็หยวนๆ กันไป “ขอกันกิน” ปรากฏว่ามีนักข่าวตะโกนว่า “เราไม่เคยกินของนปก.”
ต่อมาคุณสุชาติ หยิบกล้องถ่ายรูปมาถ่าย ผมอยากเรียนว่าคุณสุชาติเป็นคนโตมากับโลกไซเบอร์ ชอบเรื่องพวกนี้ จึงไม่คิดว่าการถ่ายภาพจะเป็นการคุกคาม ข่มขู่แต่อย่างใด จากนั้น นักข่าวคนหนึ่งก็พูดว่านี่เป็นการคุกคามสื่อ คุณสุชาติก็โต้ว่าคุกคามตรงไหน ผมเป็นเอกชนคนหนึ่ง แล้วทำไมคุณถ่ายผมได้ นักข่าวก็โต้ว่าคุณมาแถลงข่าวก็เลยต้องถ่าย ก็เลยโต้กันไปมา จากนั้นก็มาวกถามผมว่า ในฐานะที่ผมเคยเป็นอดีตคณะกรรมการสื่อจะชี้แจงอย่างไร ผมจึงเรียนว่ามันไม่มีกฎหมายมาตราไหนที่เอาผิด และพวกคุณพูดว่ามีการคุกคามสื่อเกินจริงมา 3 ปีแล้ว ผมจึงอยากรู้ว่ามีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนที่ถูกคุกคามบ้าง และมีนักข่าวเรียกร้องให้ผมรับผิดชอบในฐานะที่นำคุณสุชาติมา และให้ลบภาพนักข่าวออก ผมจึงบอกให้คุณสุชาติลบออก แต่คุณสุชาติไม่ยอมลบ ก็เป็นสิทธิ์ของเขา
ผมจึงเห็นว่าหากนั่งอยู่ต่อไปคงไม่ดีแน่ จึงลุกขึ้นเพื่อเดินออกจากห้องแถลงและบอกว่าไม่เอาแล้ว แต่ไม่มีคำหยาบว่า ..โว้ย! ไม่ได้ทุบโต๊ะ ทุบไมค์ เลยและหวังให้ นพ.เหวง เป็นคนเคลียร์สถานการณ์ จากนั้น ส.ส. นิสิตก็เดินเข้ามาถามว่าทำไม ผมก็พูดเล่นๆ กันเองว่า ถ้าอยู่ต่อไปอาจถึงขั้นชกต่อยกัน และผมบอกว่าผมไปก่อนล่ะ แต่มีนักข่าวเขียนว่าผมจะตะบันหน้า หากมองในความเป็นจริง ผมอยากเปรียบเทียบให้ฟังว่า
เมื่อวันก่อนที่กลุ่มพันธมิตรทำการยื่นรายชื่อเพื่อถอดถอน ส.ส.-ส.ว.ที่ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมไม่เห็นมีสื่อมวลชนซักถามอะไร ซื่อมวลชนอ้างเสรีพร่ำเพรื่อย ด่ารัฐบาลชุดที่แล้วจนล้ม ไปเลยแต่บอกว่าโดนคุกคาม สื่อส่วนใหญ่ที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเที่ยยด่าว่าคน เหมือน “ขโมยร้องจับขโมย” พวกคุณรู้หรือเปล่าว่าเสรีภาพสื่อมวลชนมีเนื้อหาอะไรบ้าง ผมกล้าตอบคำถาม พวกคุณเรียนเสรีภาพจริงจังเป็นระบบกี่คน ผมจึงประกาศว่า ผมเลิกนับถือสื่อมวลชนมานานแล้ว
ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ คปพร.ยังยืนหยัดเหมือนเดิม วันนี้เราไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนให้มีการลงประชามติ เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับงบประมาณ 2 พันล้าน เมื่อมีกระแสคัดค้าน เราก็กลัวว่ารัฐมนตรีอาจมีความลังเล เราจึงขอยืนยันกับรัฐมนตรีว่าเราพร้อมเคียงข้าง รวมทั้งในวันที่ 1 มิถุนายน คปพร.จะเปิดประชุมสภาประชาชน เพื่อเปิดโอกาสเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพมาพูดคุยกันถึงทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หอประชุมคุรุสภา
โดยจะมีการหารือกันใน 3วาระ โดยวาระแรกจะเป็นหลักการและเหตุผลต่อการแก้รัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 จะเป็นการพิจารณาเรื่องการลงประชามติ และวาระที่ 3 จะเป็นการหารือรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประชาชน ทั้งนี้จะมีการเชิญนักประชาธิปไตยอาวุโส มากล่าวเปิดงาน พร้อมกับอดีตสสร. และนักประชาธิปไตยมากล่าวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้เรายังมีการวางแผนว่าอาจจะมีการจัดการทุกเสาร์-อาทิตย์ และอาจมีการเดินทางสัญจรในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยหากเรามีมติความเห็นร่วมกันก็จะนำเสนอต่อรัฐสภา จะดำเนินการพร้อมรัฐสภา และยินดีต้อนรับสื่อทุกแขนงที่สนใจหากจะมีการถ่ายทอดสดจากสื่อมวลชนเราก็ยินดี แม้กระทั่ง สถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี ผมก็ขอเชิญ
วิภูแถลง พัฒนภูมิไท
“สื่อต้องตั้งสติ”
“เรื่องที่เกิดขึ้นคงเป็นความเข้าใจผิด ทางเราเองก็ต้องใช้ความอดทน เพราะเราคือฟากประชาธิปไตย แต่สื่อบางแห่งมีการวางบทบาทที่ไม่สมควรจริง โดยทำการพยายามตั้งข้อซักถามในมุมมองของตนเอง เพื่อให้แหล่งข่าวเกิดความจำนน แทนที่จะทำการซักถามเพื่อนำข้อเท็จจริงมานำเสนอ สาเหตุก็เพราะมีคำว่าธุรกิจเข้ามาเกี่ยวพันกับการทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชน
สื่อบางแห่งก็ยังเป็นที่น่าเคารพ แต่สื่อบางประเภทก็มีคำว่าธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง จนทำให้บางครั้งเกิดความเหลื่อมล้ำในการทำหน้าที่ จึงทำให้ต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการทำลายชาติในระยะยาว สื่อพวกนี้ต้องตั้งสติในการนำเสนอ คุณต้องให้ความเป็นกลางในการตีแผ่ ยกตัวอย่างผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนฟากพันธมิตรฯ หรือ ฟากต่อต้านพันธมิตรฯ ก็คนไทยด้วยกันทั้งนั้นที่บาดเจ็บ คุณต้องตีแผ่ทั้งหมด ไม่ใช่เสนอว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นม็อบถ่อยอย่างเดียว
ส่วนการนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 กับสื่อมวลชนนั้น แกนนำ คปพร. กล่าวว่า สื่อทุกแขนงทราบดีว่ารัฐบาลทำตามครรลองกฎหมายทุกประการ และมีเหตุผลที่ดีพอในการแก้ไข นอกจากนี้ยังมีการทำประชามติเพื่อฟังเสียงของประชาชน เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย ที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับประชาชน ไม่ใช่ ส.ส. หรือรัฐบาล สื่อก็มีหน้าที่ในการนำเสนอตามหน้าที่ ไม่เอนเอียงไปกับวาทกรรมของคนบางกลุ่มที่พยายามพลิกระบอบการปกครองให้เป็นไปตามความต้องการ