แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 เดือนมกราคม – มีนาคม 2551 จะขึ้นไปอยู่ที่ 6 %
แม้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก จะบอกว่าความน่าเชื่อถือทางการเงินของไทยเป็นบวก ด้วยนโยบายการบริหารที่ชัดเจนมากขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น
แต่ภายในไม่กี่วัน ที่มีการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ พร้อมด้วยภาพที่ถ่ายทอดออกไปสู่สายตาคนภายนอกซึ่งดูรุนแรง
เพียงเท่านั้น หุ้นบางตัวก็ร่วงดิ่งลงมาทันทีกว่า 18 จุด
สมกับความอ่อนไหวของสิ่งที่เรียกว่า “ระบบเศรษฐกิจ” เสียจริง
ปัญหา “ปัจจัยภายนอก” อันได้แก่ ราคาน้ำมันโลก มีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ แต่ก็ถือว่าเป็นปัจจัยเหนือการควบคุม ทุกประเทศทั่วโลกที่ไม่ได้ปิดประเทศ ล้วนแต่ต้องเผชิญปัญหาเดียวกันทั้งนั้น
หากแต่ความเชื่อมั่นที่หล่นวูบครั้งนี้ เกิดจากปัจจัย “ภายใน” ล้วนๆ
นั่นคือ ปัจจัยการเมือง
แม้แต่รายงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ยังระบุว่า ปัญหาการเมืองไทย เช่น เรื่องพรรคร่วมรัฐบาลที่มีโอกาสถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหาร ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็น “จุดอ่อน” ต่อภาพความน่าเชื่อถือของไทยทั้งสิ้น
เพราะสะท้อนความไม่แน่นอน ความผันผวน สะท้อนลักษณะของประเทศที่ “อะไรก็เกิดขึ้นได้” ในนามของ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
ที่น่าสมเพชใจ ความเสียหายเหล่านี้ล้วนมีผลมาจากการกระทำของคนที่อ้างว่ารักประเทศชาติ รักบ้านเมือง ถึงขั้นจะเข้ามา “กู้” กันทั้งสิ้น
ไม่รู้ว่ากู้กันประสาอะไร ยิ่งกู้ ก็ยิ่งง่อนแง่น ยิ่งกู้ ความน่าเชื่อถือของประเทศก็ยิ่งลดต่ำ
รายได้จากการจัดม็อบ อาจจะมากมายจนติดใจนัก แต่ก็เป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
ที่สำคัญ ถือเป็นเม็ดเงินที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับโอกาสทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลที่ประเทศต้องสูญเสีย
ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงอีกหลายสิบล้านคนในชาติต้องสูญเสียไปด้วย
และนี่คือ “รูปธรรม” ของคำว่า “ความเสียหายของประเทศชาติ” อย่างที่ทุกฝ่ายชอบหยิบมาพูดจากันเสมอ
หากปากบอกว่ารักชาติ แต่เมื่อได้เห็นตำตาว่าพฤติกรรมรักชาติของตัวเองมันนำไปสู่ความเสียหายหลานแสน(ล้าน)ขนาดนี้
จะสำนึกอยากกลับตัวกลับใจกันบ้างหรือเปล่าหนอ.