นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ว่า ที่ประชุมวางแนวทางการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไว้ 2 แนวทาง โดยแนวทางแรกมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจสอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชา มติ พ.ศ. 2541 ว่า ยังสามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ แต่ถ้าหากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่สามารถส่งเรื่องให้พิจารณาได้ทัน มีอีกแนวทางหนึ่ง คือ จะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการ ที่ กกต. ให้ความเห็นว่า จะร่างกฎหมายประชามติให้เสร็จทันก่อนเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนี้ โดยจะบรรจุเป็นวาระแรกของการประชุม นายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวต่อว่า แม้จะสามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้ (พ.ร.ก.) ได้ แต่คาดว่า จะมีคนพยายามทำให้เรื่องนี้ ให้เดินหน้าต่อไม่ได้ด้วยการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงจะใช้วิธีดังกล่าว ดังนั้น ในช่วงเวลา 45 วันจากนี้ ไป จะให้ทุกฝ่ายเปิดการรณรงค์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เต็มที่ “ตัดประเด็นการถกเถียงทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมีประชามติแล้วถ้าหากว่า ไม่แก้ ก็ต้องเลิกเรื่องนี้ ไปเลย ไม่มีอะไรเลย ถ้าแก้ก็ขอให้รู้ว่า การแก้จะอยู่ในความดูแลของคนที่รับเลือกตั้งมา ทั้งแต่งตั้ง 74 เลือกตั้ง 76 และเลือกตั้งอีก 480 จะเป็นคนดูแลเรื่องนั้น แต่จะเสนอขึ้นไปยังไงก็สุดแท้แต่ คนทั้งหมดนี้ เป็นคนวินิจฉัยว่า เรื่องใดจะผ่านได้ หรือ ไม่ได้ มาตราไหนควรจะแก้หรือ ไม่แก้” นายสมัคร กล่าว และว่า ส่วนเรื่องงบประมาณการจัดประชามตินั้น ยังไม่มีการพูดถึง เพราะต้องการให้เรื่องเหล่านี้ ชัดเจนก่อน