ที่มา ไทยรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า หลังจากที่พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นำนายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายสุพร อัตถาวงศ์ และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม มาสอบปากคำที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล หลังประกาศยุติการชุมนุม โดยนำตัวทั้ง 4 คน ไปสอบสวนที่ห้องประชุมปารุสกวัน โดยมี พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าชุดสอบสวน ร่วมทำการสอบสวน
ล่าสุดมีรายงานว่า พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว นายวีระ นายณัฐวุฒิ และนพ.เหวง และให้ขังแยกเดี่ยว ตามสถานที่ต่างๆ โดยทั้ง 3 คนไม่ยินยอมจะไปที่ค่ายทหาร โดยขอให้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนในที่สุดตำรวจยอมให้ทั้ง 3 คน อยู่ที่ห้องประชุมชั้น 2 กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทั้งนี้หมายจับดังกล่าวออกมาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2551 ก่อนออกพรก.ฉุกเฉิน ทำให้นายณัฐวุฒิตั้งข้อสังเกตการออกหมายจับครั้งนี้ ว่า กอฉ.อาจมีมีอำนาจดำเนินการ ขณะที่นายสุพร รอดเนื่องจากไม่มีชื่อในหมายจับ
นายสุพร กล่าวด้วยว่า เหตุผลการยุติการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บจากการเผชิญหน้ากับทหาร รวมถึงมือที่ 3 ที่จะออกมาแทรกแซง พร้อมยืนยัน นายจักรภพ เพ็ญแข และนายจตุพร พรหมพันธุ์ จะเข้ามามอบตัวอย่างแน่นอน
บทวิเคราะห์ของเอเอฟพี ยังระบุว่า บทบาทของกองทัพไทย ที่เข้ามาเป็นผู้นำการกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดง ในครั้งนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึงบทบาทของเหล่านายทหารในกองทัพ ในฐานะ “ผู้มีอิทธิพลในการเลือกผู้นำหรือรัฐบาล” หรือ “เผด็จการ” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในประเทศอย่างไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า รัฐบาลพลเรือนได้เรียนรู้บทเรียนที่ขมขื่นว่า การสวามิภักดิ์ของกองทัพ หมายถึง ความแตกต่างระหว่างการอยู่รอด หรือการล่มสลายของรัฐบาล สถาบันพลเรือนที่อ่อนแอ และสถานภาพของกองทัพที่เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และมีระเบียบวินัยที่สุดในประเทศ บ่อยครั้งก่อให้เกิดเงื่อนไขที่สุกงอม ที่ทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เอเอฟพีระบุด้วยว่า หลังประสบความสำเร็จ ในการกวาดล้างกลุ่มคนเสื้อแดง สถานภาพของนายกฯ อภิสิทธิ์ แข็งแกร่งขึ้น แต่นับจากนี้ไป เขามีภารกิจอันยากลำบาก ในการทำให้ประเทศชาติที่แตกแยกมีเอกภาพ
ส่วนบทวิเคราะห์ของรอยเตอร์ ระบุว่า การก่อความรุนแรงของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งสนับสนุนอดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในสัปดาห์นี้ อาจเป็นความพยายามในยามเข้าตาจนครั้งสุดท้าย ของพ.ต.ท.ทักษิณ อภิมหาเศรษฐีพันล้าน ที่ลี้ภัยในต่างแดน ที่จะหวนคืนสู่อำนาจอีก การปลุกระดมกลุ่มคนเสื้อแดงให้บุกล้มการประชุมอาเซียน และคู่เจรจา ที่พัทยา และก่อความรุนแรงในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะมีเป้าหมายยั่วยุ ให้มีการกวาดล้างนองเลือด ซึ่งจะส่งให้กระแสสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ พุ่งขึ้นถึงขีดสุด แต่ถ้านั่นคือการแทงพนันของ พ.ต.ท.ทักษิณ โอกาสที่จะชนะมีน้อยมาก ยิ่งหลังจากกลุ่มคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม ดูเหมือนโอกาสของ พ.ต.ท.ทักษิณที่จะกลับประเทศไทย หรือหวนคืนมามีอำนาจทางการเมืองอีก ยิ่งลดน้อยลงอย่างมาก
ขณะที่เอเอฟพียังรายงาน โดยอ้างการเปิดเผยของนายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยวว่า ความรุนแรงจากวิกฤติการเมืองไทย ที่ถูกเผยแพร่เป็นภาพข่าวทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเสียหายอย่างหนัก การปลดพนักงานในภาคการท่องเที่ยว จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้นอย่างแน่นอน และอาจสูงถึง 200,000 คน ในปีนี้ ถ้าสถานการณ์ยังไม่ได้รับการแก้ไข