ที่มา ประชาไท
ชื่อบทความเดิม
จดหมายเปิดผนึกถึงนักสันติวิธี : โปรดนับศพ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ ด้วย
ภัควดี วีระภาสพงษ์
16 เมษายน 2552
วันก่อนผู้เขียนได้ดูรายการ ‘ที่นี่ทีวีไทย’ ที่มีการสัมภาษณ์กลุ่มนักสันติวิธีที่ประกอบด้วย อ.นฤมล อ.ยุกติ คุณนารี คุณเจษฎา และ อ.ศรีประภา หลังจากฟังจนจบแล้ว ผู้เขียนรู้สึก ‘จึก’ ในอก อาการ ‘จึก’ นี้ยังคงอยู่แม้จะผ่านมาวันสองวันแล้ว ยิ่งเมื่อคืนนี้ได้ฟังการสัมภาษณ์นักข่าวสายทหารและอาจารย์ชื่ออะไรที่ผู้เขียนขี้เกียจจะจำ ความ ‘จึก’ นี้ยิ่งฝังลึกถึงขั้นทำเอาเมื่อคืนนอนไม่หลับทีเดียว
แม้ว่าผู้เขียนจะเป็นลูกศิษย์ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คนหนึ่ง แต่เปรียบไปก็เป็นแค่ ‘นักเรียนหลังห้อง’ ไม่ค่อยตั้งใจฟังเวลาอาจารย์สอน แถมตอนอยู่มหา’ลัย ก็มัวแต่เมาเสียเป็นส่วนใหญ่ (นี่เป็นอุทาหรณ์สอนใจสำหรับนักศึกษารุ่นหลัง โปรดตั้งใจเรียนให้มากกว่านี้) ดังนั้น ผู้เขียนจึงรับความรู้มาแต่งูๆ ปลาๆ และโดยเฉพาะเรื่องสันติวิธีนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เขียนรับมาจากอาจารย์น้อยถึงน้อยที่สุด
ผู้เขียนไม่ใช่นักคัดคำพูดของใครมาทีละท่อน และตอนนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจจำด้วยว่าคนไหนพูดว่าอะไร แต่ค่อนข้างแน่ใจว่า อ.นฤมลและคุณนารีพูดในทำนองว่า การปราบปรามของกองทัพต่อผู้ชุมนุมโดยไม่มีใครตายนั้น ถือว่ากองทัพและรัฐบาลทำได้ดี อดทน และเป็นที่น่าพอใจ (ถ้าผู้เขียนฟังผิดไป ก็ขออภัยทั้ง 2 ท่าน ขอให้ถือว่าผู้เขียนหูเฝื่อนและงี่เง่าไปเองก็แล้วกัน)
ในสายตาของผู้ไม่ใช่นักสันติวิธีอย่างผู้เขียน ผู้เขียนขอตั้งข้อสงสัยว่า การที่ทหารลากปืนออกมายิงขึ้นฟ้าและเล็งใส่ผู้ชุมนุมนั้น ถือว่าเป็นวิธีการควบคุมม็อบที่ “ดี อดทน และน่าพอใจ” จริงๆ หรือ
สมมติก่อนว่า สิ่งที่รัฐบาลแถลงนั้นเป็นความจริงทุกอย่าง 1) ไม่มีใครตาย 2) ทหารใช้ลูกกระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าและใช้ลูกกระสุนหัวกระดาษเล็งใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งมีแต่เสียงข่มขวัญ 3) ทหารเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ด้วยความแม่นยำประดุจโรโบค็อบ ไม่มีทหารคนไหนสับสนระหว่างปืนที่มีลูกกระสุนจริงกับปืนที่มีลูกกระสุนหัวกระดาษเลย ลูกกระสุนจริงทุกลูกที่ยิงออกไป ยิงขึ้นฟ้าหมดทั้งสิ้น และทุกลูกที่เล็งใส่ผู้ชุมนุมเป็นลูกหัวกระดาษหมดทั้งสิ้น
สมมติไว้ก่อนว่า ทั้ง 3 ประการข้างต้นนี้จริงทั้งหมด
ผู้เขียนขอสมมติว่า ถ้าตัวเองเป็นนักสันติวิธี ในสายตาของนักสันติวิธีจะคิดอย่างไร? ผู้เขียนขอตั้งคำถามแบบนักสันติวิธีชั่วคราวดังนี้คือ :
1) การลากอาวุธสงครามออกมาก็ถือเป็นความรุนแรงในตัวเองแล้วมิใช่หรือ? ดังที่ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนไว้ในบทความหลังรัฐประหาร 2549 (ผู้เขียนไม่ใช่นักวิชาการ ขี้เกียจค้นชื่อบทความมาอ้างอิง มันคือบทความในหนังสือที่ ‘ฟ้าเดียวกัน’ พิมพ์รวมเป็นเล่มนั่นแหละ ท่านผู้อ่านโปรดไปค้นดูเอง) อ.ชัยวัฒน์บอกว่า ถึงแม้ดูเหมือนการรัฐประหารครั้งนั้นจะไม่มีความรุนแรงทางกายภาพเกิดขึ้น แต่มันก็ยังเป็นความรุนแรงที่ยอมรับไม่ได้ (นี่คือข้อสรุปของผู้เขียนที่อ่านบทความจนจบ ไม่ใช่แค่อ่านประโยคสองประโยคแล้วด่วนสรุป จะสรุปผิดหรือไม่ ผู้เขียนรับผิดชอบเอง ไม่ต้องไปยุ่งกับ อ.ชัยวัฒน์ โปรดเข้าใจตามนี้)
ถ้ามีคนเอาอาวุธปืนมาเล็งใส่คุณ ปืนจะมีลูกหรือไม่มีลูก คุณจะถือว่ามันเป็นการใช้ความรุนแรงหรือไม่? ยิ่งอย่าว่าแต่ทหารทั้งกองวิ่งดาหน้าเข้าใส่คุณตอนตีสี่ เสียงปืนดังสนั่นปานสงครามกลางเมือง ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคุณแน่ๆ คือความตื่นตระหนก ภาพของเหตุการณ์ ‘พฤษภาเลือด’ และ ‘ทหารฆ่าประชาชน’ ในสภาพการณ์แบบนั้น คุณจะมีเวลาแยกแยะหรือว่าลูกกระสุนนั้นทำจากอะไร? มีใครตายจริงหรือไม่? ถ้าคุณเห็นเลือด คุณก็ต้องคิดว่ามีคนตายแน่นอน
2) ทำไมนักสันติวิธีทั้ง 2 ท่านไม่ตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า เหตุใดไม่สั่งให้กองทัพใช้ลูกกระสุนหัวกระดาษทั้งหมด ทั้งที่ยิงขึ้นฟ้าและเล็งใส่ผู้ชุมนุม ถ้าเจตนาแค่ข่มขวัญ ทำไมต้องแยกเป็น 2 ประเภท? แล้วลูกกระสุนจริงที่ยิงขึ้นฟ้า มันไม่มีโอกาสตกลงมาใส่กบาลใครตายบ้างหรือ?
เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา ผู้เขียนกลับไปฉลองวันปีใหม่ที่บ้านสามีที่ภาคใต้ คืนวันเคาท์ดาวน์นั้น ข้างบ้านที่ติดกันฉลองด้วยการเอาปืนพกมายิงขึ้นฟ้าไปหนึ่งนัด กระสุนนัดนั้นพุ่งขึ้นฟ้า แล้วตกลงมาทะลุหลังคากระเบื้องของบ้านแม่สามี ตกปุลงบนหมอนที่หัวเตียงห้องนอนห้องหนึ่งพอดิบพอดี โชคดีที่ทุกคนออกมาเคาท์ดาวน์กันหมด ไม่มีใครนอนอยู่บนเตียง
ผู้เขียนไม่ทราบว่า ถ้าลูกกระสุนจากปืนพกที่ยิงขึ้นฟ้าสามารถทะลุกระเบื้องหลังคาลงมาได้ ลูกกระสุนเอ็ม-16 ที่ยิงขึ้นฟ้าจะสามารถตกลงมาทะลุกะโหลกศีรษะหรือทะลุอกใครได้บ้างหรือไม่? หวังว่าจะมีนักฟิสิกส์สักคนสละเวลาช่วยคำนวณให้
นักสันติวิธีคิดว่านี่คือวิธีควบคุมม็อบที่ดี อดทนและน่าพอใจ อีกทั้งไม่ใช่การใช้ความรุนแรงตามหลักการสันติวิธีแล้วหรือ?
3) เท่าที่ความรู้งูๆ ปลาๆ ของผู้เขียนจะมีอยู่ เกิดมาจนบัดนี้ ผู้เขียนไม่เคยอ่านเจอที่ไหนมาก่อนเลยว่า วิธีการควบคุมและปราบม็อบของนานาอารยะประเทศ (ย้ำ อารยะประเทศ ไม่ใช่อนารยะประเทศ) ใช้วิธีให้กองทหารถือปืนเอ็ม-16 จะลูกกระสุนซ้อมหรือลูกกระสุนจริงก็ตามแต่ วิ่งไล่ยิงขู่ขวัญประชาชนแบบนั้น ทำไมในรายการวันนั้น นักสันติวิธีจึงไม่ตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า เหตุใดรัฐบาลจึงไม่เริ่มต้นการปราบม็อบด้วยแก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย รถฉีดน้ำแรงดันสูง (ซึ่งรัฐบาลสมชายเคยพยายามยืมจาก กทม. แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลแปลกๆ ว่า กลัวน้ำไม่สะอาด) หน่วยปราบจลาจลพร้อมโล่ กระบอง ดันม็อบ แยกม็อบเป็นกลุ่มย่อยๆ ใช้กระบองฟาดหัวร้างข้างแตกบ้าง จับใส่กุญแจมือ ยัดขึ้นรถ (อย่าทำแบบตากใบก็แล้วกัน) ฯลฯ ในสหรัฐอเมริกามีการใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะถูกยิงด้วยกระสุนยาง โดยทั้งหมดนี้ทำในตอนกลางวันแสกๆ สว่างๆ การที่อยู่ดีๆ ตอนตีสี่ รัฐบาลก็เอากองทหารถือปืนเอ็ม-16 ไล่ยิงประชาชนนั้น นี่หรือคือมาตรการปราบม็อบจากวิธีละมุนละม่อมแล้วค่อยเพิ่มดีกรีความแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ?
ถ้าผู้เขียนเป็นนักสันติวิธี ผู้เขียนจะแนะนำรัฐบาลว่า นับจากนี้ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน ควรมีการฝึกหน่วยปราบจลาจลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุดจริงๆ ถ้าตำรวจทำไม่ได้ ยกให้กองทัพทำก็ได้ งบประมาณกองทัพมีเยอะแยะ เผื่อกองทัพคิดไม่ออกว่าจะเอางบไปทำอะไร ก็ควรเอางบที่ได้มากมายมหาศาลทุกปีไปใช้ซื้อแก๊สน้ำตา (อย่าลืมว่าของดีไม่มีถูก) สเปรย์พริกไทย รถฉีดน้ำ กระสุนยาง ฯลฯ ถ้าขนาดสามารถฝึกทหารให้ไม่สับสนระหว่างปืนที่มีลูกจริงลูกซ้อมได้อย่างไม่ผิดพลาดแล้ว จะฝึกควบคุมม็อบคงเป็นแค่เรื่องขี้หมูขี้หมา ไหนๆ กองทัพก็ถนัดในการปราบม็อบอยู่แล้ว ก็ควรทำให้เป็นเรื่องเป็นราวกันไปเลย แถมยังช่วยให้มีรายการจัดซื้อพัสดุภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย วิน-วินกันทุกฝ่าย
4) การที่รัฐบาลและกองทัพใช้มาตรการปราบม็อบด้วยวิธีการแปลกประหลาดที่สุดในโลก นั่นคือ ทำให้ม็อบตกใจกลัวสุดขีด ทำให้ม็อบเข้าใจผิดคิดว่ามีคนตายแน่นอน (ม็อบที่ไหนจะมีเวลาไปนั่งดูข่าวว่าไม่มีใครตาย) ทำให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วม็อบและคนเสมอนอกว่า ‘ทหารฆ่าประชาชน’ อีกแล้ว เหตุนี้มิใช่หรือที่ทำให้เกิดสภาพ ‘นรกแตก’ ในวันรุ่งขึ้น เมื่อคนที่เข้าตาจน คนที่จนตรอก ตื่นตระหนกเสียขวัญ เลือดเข้าตา (เพราะเห็นเลือดเพื่อนตำตา โดยไม่รู้ว่าเพื่อนเป็นตายร้ายดีอย่างไร หมดสัญญาณชีพแล้วหมอไทยยังชุบชีวิตขึ้นมาได้) ลองจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในสภาพนั้นบ้าง คนที่คิดว่าตัวเองต้องพยายามเอาชีวิตรอด พวกเขาย่อมไม่คำนึงแล้วถึงวิธีการที่จะนำมาใช้ ไม่ต้องให้ใครวิดีโอลิงก์เข้ามาปลุกระดมหรอก วิธีปราบม็อบที่ดินแดงตอนตีสี่นั่นแหละ คือการปลุกปั่นม็อบให้ก่อวินาศกรรมได้ดีที่สุดในโลก !
ตอนนี้คนเสื้อแดงไม่ได้พ่ายแพ้ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ตอนนี้พวกเขายังถูกเกลียดชัง ถูกไล่ต้อนเหมือนหมูเหมือนหมา ถูกดูถูกเหยียดหยามว่าค่าจ้างแค่ 300 บาทก็ซื้อชีวิตได้ (คนกรุงนี่แปลก ตอนทักษิณด่าผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ว่า ‘โจรกระจอก’ ก็ด่าว่าทักษิณปากเสีย ตอนนี้ตัวเองก็ทำอย่างที่ทักษิณทำ ไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่แทบทุกเรื่อง) รัฐบาลที่กลัวไม่มีอะไรจะทำและสื่อที่กลัวไม่มีข่าวจะขาย ก็ช่วยกันปลุกปั่นขยายความว่า นปช.จะลง ‘ใต้ดิน’ สรุปว่ากลัวกระรอกไม่เห็นโพรง ก็เลยช่วยชี้โพรงให้กระรอก เผื่อกระรอกไม่ทันคิด เลยช่วยบอกทางให้เสียเลย สรุปว่าคนกรุงและชนชั้นสูงในเมืองหลวงเห็นว่าประเทศไทยมีแค่ 3 จังหวัดภาคใต้ยังไม่พอ เลยอยากให้ภาคเหนือและอีสานมี ‘กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ’ เพิ่มขึ้นเสียเลย?
ในช่วงหลายปีมานี้ ผู้เขียนศึกษาเรียนรู้เรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่รู้จะนิยามชื่อวิชาว่าอะไรดี แต่โดยเนื้อหาก็คือ การฝึกมองโลกจากสายตาของผู้อยู่เบื้องล่าง สิ่งแรกที่ผู้เขียนค้นพบด้วยความประหลาดใจอย่างยิ่งยวดก็คือ คนจนและคนชายขอบไม่ว่าที่ไหนในโลก นอกจากการเอาชีวิตรอดที่เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เขามี สิ่งที่เขาหวงแหน บางครั้งให้คุณค่ายิ่งกว่าชีวิต ก็คือ ‘ศักดิ์ศรี’ เรื่องนี้ใครๆ อาจจะรู้อยู่แล้วก็ได้ แต่ผู้เขียนโง่ ไม่เคยรู้มาก่อน ผู้เขียนนึกว่าสิ่งที่จะค้นพบคือเรื่องการเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรม เรื่องปากท้อง ฯลฯ ผู้เขียนไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า สิ่งที่คนจนไขว่คว้ามากที่สุดก็คือ ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’
ผู้เขียนไม่ได้โรแมนติกและไม่ได้อ่านนิยายมากไป
คนจนต้องการศักดิ์ศรี คนชั้นกลางและคนรวยต้องการอภิสิทธิ์ ศักดิ์ศรี vs. อภิสิทธิ์ สองอย่างนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว โฆษกรัฐบาลที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงเป็นบุคลาธิษฐานของสิ่งที่คนชั้นกลางและคนชั้นสูงปรารถนาอย่างสมบูรณ์แบบ สมบูรณ์แบบจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ในโลกความเป็นจริง
ผู้เขียนไม่รู้ว่า อ.นฤมลและคุณนารีหมายความอย่างที่พูดจริงๆ หรือเปล่าว่า ครั้งนี้รัฐบาลและกองทัพจัดการได้ดี เพราะไม่มีใครตาย แต่ศักดิ์ศรีของคนเสื้อแดงจนๆ ที่ถูกทำลายไปอย่างย่อยยับเล่า มันไม่มีคุณค่าให้คำนึงถึงเลยหรือ? นักสันติวิธีรู้จักแค่วิธีนับศพ แต่ไม่รู้จักนับหัวใจที่ตายแล้วในร่างที่ยังมีลมหายใจอยู่หรือ?
เมื่อคนเสื้อแดงเป็นได้แค่หมาจนตรอก เสียงพูดที่เป็นภาษาไทยแท้ๆ ของเขาจึงไม่มีใครได้ยิน ไม่มีใครฟัง มันกลายเป็นแค่เสียงหนวกหูเหมือนเสียงเห่าของหมาข้างถนน แน่นอน พวกเขาย่อมต้องลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้งและอีกครั้ง เพื่อไขว่คว้าศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์กลับคืนมา เพื่อให้เสียงอึกทึกของเขากลายเป็นภาษาที่ฟังรู้เรื่อง เพื่อให้สังคมของอภิสิทธิ์ชนรับรู้การดำรงอยู่ของพวกเขา
แต่ด้วยวิธีการแบบใดเล่า?
ความจนตรอกและความสิ้นหวังไม่ใช่หรือคือบ่อเกิดของการใช้ความรุนแรง?
ผู้เขียนมีข้อเสนอต่อนักสันติวิธีในสังคมไทยดังนี้คือ:
1) เราพูดกันมามากแล้วถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ข้อต่อที่เปราะบางที่สุดในสังคมที่ไม่เท่าเทียมก็คือคนจนที่สิ้นหวัง ความอัดอั้นคับข้องของพวกเขา หากไม่มีการระบายและแก้ไขอย่างถูกต้อง ย่อมปะทุระเบิดออกมาเป็นความรุนแรงได้เสมอ เราควรยอมรับกันได้แล้วว่า การประท้วงและการเมืองบนท้องถนนย่อมเกิดขึ้นต่อไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มคนที่ถูกกีดกันอื่นๆ ในสังคมด้วย
2) ผู้เขียนทึกทักว่า นักสันติวิธีคงต้องการให้สันติวิธีและการไม่ใช้ความรุนแรงลงหลักปักรากฐานในสังคมไทย และเนื่องจากนักสันติวิธีมักเป็นผู้มีศรัทธาในศาสนาด้วย การเผยแผ่แนวคิดสันติวิธีจึงไม่น่าแตกต่างมากนักกับการเผยแผ่ศาสนา และสามารถทำควบคู่กันได้
3) ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า หากเป้าหมายของนักสันติวิธีเป็นไปตามข้างต้นจริงๆ ป่วยการเปล่าที่นักสันติวิธีจะเสียเวลาไปกับกิจกรรมอย่างเช่น ธรรมยาตรา ซึ่งต้องไปทะเลาะกับพวกฮิปปี้ฝรั่งที่มาร่วมขบวน หรือเอาดอกไม้ขาวไปโปรยถนน ซึ่งทำให้คนกวาดถนนต้องมาคอยเก็บกวาด เผลอๆ จะถูกคนกรุงเทพฯ โกรธอีกเปล่าๆ ว่าไปทำให้เขารถติด
ตอนนี้ข้อต่อที่เปราะบางที่สุดในสังคมก็คือคนจน ซึ่งบางส่วนก็คือคนเสื้อแดงนี่เอง ถ้าเช่นนั้น ไฉนเล่า นักสันติวิธีไม่ดำเนินการเชิงรุก เดินเข้าไปหาพวกเขา เหมือนอย่างที่นักบวชสำนักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อยเดินฝ่าป่าดงเข้าไปหาคนจนพื้นเมืองในละตินอเมริกา แล้วอบรมพวกเขาเรื่องการประท้วงด้วยสันติวิธี (ขอทุนจาก สสส. บ้างก็ได้) นักสันติวิธีไม่จำเป็นต้องจำกัดกลุ่มคนเฉพาะพวกเสื้อแดง คนอีกกลุ่มที่ต้องการการอบรมเรื่องนี้อย่างขนาดหนักก็คือ กลุ่มคนเสื้อเหลือง ทหาร รัฐบาลและตำรวจ ถ้าหากพวกเขาต้องการสันติวิธีจริงๆ และไม่ต้องการอภิสิทธิ์มากเกินไป
เพราะสันติวิธีนั้นไม่ใช่สำเร็จได้ง่ายๆ ด้วยปากพูดหรือเขียนใส่ป้ายเดินชูให้คนเห็น เท่าที่ความรู้อันน้อยนิดของผู้เขียนมีอยู่ การใช้สันติวิธีในกระบวนการเรียกร้องทางการเมืองในต่างประเทศนั้น ต้องอาศัยการอบรมและการฝึกกันเป็นสัปดาห์ บางทีเป็นเดือน และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยอบรม ตัวอย่างก็มีเช่น องค์กรกรีนพีซ องค์กร Ruckus เป็นต้น
ผู้เขียนหวังว่า ในอนาคตจะได้เห็นค่ายอบรมสันติวิธีที่เปิดกว้างและเข้าถึงสำหรับคนทุกกลุ่มทุกชนชั้น เพื่อให้สันติวิธีได้หยั่งรากในสังคมไทยอย่างแท้จริง
และคราวหน้าโปรดอย่านับแค่ศพคนตาย แต่กรุณานับหัวใจของคนที่ตายทั้งเป็นด้วย!
ด้วยความนับถือ
ภัควดี วีระภาสพงษ์