ที่มา ประชาไท
นายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์เรื่อง "สถานการณ์วิกฤตการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย" ว่า ตนในฐานะคนไทย ที่ติดตามสถานการณ์ด้วยความวิตกห่วงใย เช่นเดียวกันกับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหลาย และพยายามคิดใคร่ครวญถึงทางออกเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์วิกฤติ ขณะเดียวกัน ธำรงรักษาไว้ซึ่งพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยไทย เพื่อนำเสนอข้อคิดข้อปฏิบัติบางประการต่อทั้งรัฐบาลและพี่น้องประชาชน ในอันที่จะพึงร่วมมือร่วมใจกันมองไปในอนาคตข้างหน้า เพื่อป้องปรามมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง และสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้อีก
นายเสน่ห์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ขัดแย้งตลอดช่วง 3 เดือนเศษของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ส่อให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อการยึดครองผูกขาดอำนาจแต่ฝ่ายเดียว หรือไม่ก็เพื่อทำลายล้างซึ่งกันและกัน ทั้งสองประการต่างเป็นสมมติฐานที่มาของปัญหาความขัดแย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น เสียงเรียกร้องถึงรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ในขณะนี้ ล้วนแต่เป็นหลุมพรางบ่อนทำลายพัฒนาการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นข้อที่รัฐบาลและพี่น้องประชาชนคนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะต้องไม่ ผิดพลาดในบรรยากาศของเสียงเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองอย่างกว้างขวางในขณะนี้
นายเสน่ห์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่ภาคสังคมและประชาชน โดยเฉพาะในระดับชุมชนท้องถิ่นที่จะต้องมีบทบาทกระทำการโดยตรงในกระบวนการ ปฏิรูปและแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงมีส่วนร่วมรับฟังหรือเห็นชอบไม่เห็นชอบในสิ่งที่บรรดานักวิชาการจัดเตรียมมาให้ เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมืองในสภาวะพัฒนาการเมืองปัจจุบัน อยู่ตรงที่ส่งเสริมพัฒนาสิทธิอำนาจและขีดความสามารถในการปกครองของชุมชนท้องถิ่น นอกจากเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์และชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ยังเป็นการพัฒนาภาคประชาชนให้เป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและควบคุมผู้แทนของ ตนเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องอยู่ภายใต้แอกเพื่อการแสวงช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนในหมู่ นักการเมืองอาชีพ ดังเช่นที่เป็นมาโดยตลอด และซึ่งเป็นสมมติฐานที่มาของความล้มเหลวของระบอบรัฐสภาไทย
นายเสน่ห์ กล่าวด้วยว่าทั้งหมด ที่กล่าวมาคือวาระแห่งชาติ รัฐบาลและประชาชนคนไทยพึงรับผิดชอบร่วมกันในอันที่จะผลักดันให้สำเร็จ ลุล่วงไปในระยะเวลาอันควร ในฐานะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เอง เป็นผู้ริเริ่มประกาศเจตนารมณ์และนโยบายการปฏิรูปการเมือง จึงใครขอเสนอหลักการปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้
1.ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ด้วยความร่วมมือของกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย และภาคเศรษฐกิจสังคมฝ่ายต่างๆ โดยหลีกเลี่ยงจากภาคราชการ และนักวิชาการปัญญาชน อย่างเช่นที่ถือปฏิบัติกันมา ในอดีต
2.ยุติการเมืองแบบตอบโต้เหน็บแนมกันระหว่างพลพรรคฝ่าย ต่างๆ ไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์อะไรเลยในยามวิกฤติของบ้านเมืองที่กำลังต้องการ แสวงหาความเข้าใจต่อกันภายในชาติ
3. เปิดเวทีภาคสังคมและประชาชน โดยเฉพาะในหมู่ชุมชนท้องถิ่นชนบท ซึ่งกำลังตื่นตัวพัฒนาตนเองและปกป้องฐานทรัพยากรท้องถิ่นอันเป็นสมบัติของ ชาติ พร้อมด้วยภูมิปัญญาความสามารถและศักยภาพการพัฒนา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในยุคที่ประเทศชาติกำลังถูกรุกรานจากภายนอก ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ เป็นที่คาดหวังว่า ระบอบรัฐสภาไทยจะสามารถค่อยๆ สลัดคราบของความอ่อนแอล้มเหลวและทุจริตคอรัปชั่นจากอดีต และเข้าสู่ภายใต้การกำกับควบคุมของภาคสังคมและประชาชนทุกส่วนทุกระดับ อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
ที่มา : เว็บไซต์มติชน