ที่มา ประชาไท
โดย… จอม เพชรประดับ
“สื่ออคติ ขาดความรับผิดชอบ”
“สื่อกระหายเลือด”
“สื่อไม่เป็นกลาง”
“สื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อสองมาตรฐาน”
ฯลฯ
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สังคมตั้งคำถาม และร่วมกันประณามการทำงานของสื่อมวลชนอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์นองเลือดกลางเมืองหลวงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีทั้งการออกแถลงการณ์ การให้สัมภาษณ์เรียกร้องสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อ ให้สื่อมีความเป็นธรรม เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ตรงไปตรงมา และมีความรับผิดชอบ
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มีแต่เฉพาะ ทีวีไทย และ ช่อง 11 เท่านั้น ที่เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้เวลากับการนำเสนอเหตุการณ์มากที่สุด ขณะที่ช่องอื่นนั้น ยังคงติดพันอยู่กับภารกิจสำคัญเหมือนที่เคยปฎิบัติกันมา นั่นก็คือ การแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะ แม้แต่ช่วง 9 อสมท.ก็ไม่มีข้อยกเว้น ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นอีกช่องที่มีภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับ ทีวีไทย และช่อง 11
และไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องคาดหวังอะไรกับการเปิดดูช่อง 11 ว่าจะเป็นช่องที่ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน เพราะเป็นช่องที่ถูกสร้างให้มีภารกิจแก้ต่างแทนรัฐบาลอยู่แล้ว ความคาดหวังก็เลยไปอยู่ที่ ทีวีไทย สถานีโทรทัศน์สาธารณะช่องแรกของประเทศไทยที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจพิเศษ นั่นคือ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ มุ่งรับใช้ประชาชนคนไทยทุกกลุ่ม
แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของทีวีไทย กลับไม่ต่างไปจากช่อง 11 คือเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกช่อง ทั้งๆ ที่ในบทบัญญัติของกฎหมาย อันเป็นที่มาของสถานีโทรทัศน์
ช่องนี้ ก็เพื่อจะเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระ รอบด้าน เป็นธรรม เป็นกลาง เพื่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งเพื่อทำหน้าที่สร้างความเข้าใจในความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อเป้าหมายคือการแก้วิกฤติของประเทศชาติ แต่เพราะเหตุใด ทีวีไทย จึงไม่ได้ทำหน้าที่นี้อย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งๆ ที่เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ผ่านการเรียกร้องต่อสู้มาจากประชาชน (อาจารย์จอน อึ้งภากรณ์ อธิบายเรื่องนี้อย่างไร)
หากการปฏิบัติหน้าที่ของ ทีวีไทย ในยามวิกฤติ ซึ่งประชาชนต้องการข้อเท็จจริง และต้องการเห็นทางแก้ปัญหาเพื่อยุติสงครามกลางเมือง เพื่อความสงบสุขของประเทศ ยังเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ ยิ่งจะเป็นการตอกย้ำข้อสังเกตที่ว่า ทีวีไทย เกิดจากการทำรัฐประหาร ก็ย่อมที่จะสนองความต้องการของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะสนองความต้องการของประชาชน
ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนระมัดระวังอย่างยิ่งกับการวิจารณ์ทีวีไทย เพราะอาจจะมีคนที่พาลคิดไปว่า เป็นแค้นฝังหุ่น เหตุเพราะถูกตะเพิดออกมาด้วยข้อหารับใช้ระบอบทักษิณ ได้เคยปฏิเสธข้อกล่าวหาลักษณะนี้เช่นนี้ไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง และถึงตอนนี้ก็ยังยืนยันที่จะให้มีทีวีสาธารณะ ทั้งเห็นด้วยและสนับสนุนอย่างเต็มที่ตั้งแต่เริ่มต้น (ถ้าไม่เห็นด้วยคงไม่ไปสมัครงานตั้งแต่วันแรกของการเปิดรับพนักงาน) ทั้งนี้ก็เพราะหวังที่จะให้คนไทยได้หลุดพ้นจากพันธนาการ การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากผู้มีอำนาจ รวมทั้งอยากเห็นเกราะกำบัง หรือภูมิคุ้มกัน สำหรับคนทำข่าวที่มีความรับผิดชอบ กล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประชาชนจะได้ประโยชน์โดยไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจใดๆ
คนทำสื่อโทรทัศน์อย่างทีวีไทย จะต้องเข้าใจว่า เพราะเหตุใดสถานีโทรทัศน์ช่องนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาให้มีอิสระ มีเกราะกำบังที่จะคอยคุ้มกันคนทำข่าวอย่างเต็มที่ มีการอุดหนุนเงินงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนมาสนับสนุนอย่างไม่ต้องกังวลว่าจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางธุรกิจและการเมือง ก็เพราะว่า ในยามวิกฤติ เมื่อโทรทัศน์ทุกช่องถูกฝ่ายผู้มีอำนาจเข้าแทรกแซงครอบงำ ทีวีสาธารณะช่องนี้ เป็นเพียงช่องเดียวที่ประชาชนหวังว่า จะทำหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงได้อย่างรอบด้าน ครบถ้วน และเป็นธรรมมากที่สุด แต่สำนึกนี้ดูเหมือนว่า ยังไม่เกิดขึ้นกับคนทำโทรทัศน์สาธารณะช่องนี้
อีกทั้งคนทำข่าว ทีวีสาธารณะ รวมทั้งนักข่าวไทยทุกคน จะต้องเข้าใจด้วยว่า การทำข่าวความขัดแย้งของคนไทยภายในชาติเดียวกันที่ถึงขั้นนองเลือดนั้น คนทำข่าวจะต้องไม่คิดว่า ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นศัตรูของชาติ ( อย่าคิดเหมือนฝ่ายที่กุมอำนาจในขณะนั้นคิด) จะต้องไม่คิดแบ่งเขา แบ่งเรา จะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า กลุ่มบุคคลที่กำลังต่อต้านรัฐบาล ด้วยวิธีการผิดกฎหมายทั้งหลาย ไม่ว่า ปิดถนน เผารถเมล์ ขว้างปาสิ่งของใส่ทหาร หรือทำลายอาคารบ้านเรือน พวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ต้องมองด้วยหัวใจที่ว่า พวกเขาเหล่านั้นก็คือพี่น้อง ลุงป้าน้าอา ซึ่งเป็นคนไทยเหมือนกันกับเรา แต่อาจจะมีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ หรือมีความคิดต่างไปจากเรา อย่าได้เอาความรู้สึกของตัวเราเป็นที่ตั้ง หรืออย่าได้เอาความรู้สึกหรือความต้องการของผู้มีอำนาจมาอยู่ในความคิดหรือความรู้สึกของเราซึ่งเป็นคนทำข่าวเด็ดขาด ที่สำคัญที่สุด นักข่าวทุกคน จะต้องคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรถึงจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้ คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง
สิ่งที่ประชาชนผู้กระหายข้อเท็จจริงในยามที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพจลาจลหรือยามวิกฤติ จึงไม่ใช่เพียงแค่การรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความขัดแย้ง เช่น การทุบรถนายกรัฐมนตรี การเผารถเมล์ การปิดถนน การทุบตีระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หรือการทุบตีระหว่างประชาชนกับทหาร แต่ควรจะมีบทวิเคราะห์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงที่ไปที่มาของปัญหา เหตุผล ความต้องการของแต่ละฝ่าย ที่สำคัญ คนทำข่าวจะต้องมีสำนึกความรับผิดชอบประกอบด้วย นั่นคือ ต้องพยายามหาทางออกเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เพื่อป้องกันการนองเลือดด้วย
(สถานการณ์ข่าวแบบนี้ คิดอย่างสื่อตะวันตก ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศไม่ได้ )
ผู้เขียนเองเฝ้าติดตามการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 13 เมษายน เริ่มจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและทหาร บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และอีกหลายจุดในบริเวณใกล้เคียง การรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่องไม่แตกต่างกัน คือเน้นไปที่เหตุการณ์ การรายงานสดจากนักข่าวในพื้นที่ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งน่าแปลกที่ไม่มีช่องไหนเลยรายงานสด หรือมีทีมโอบีรายงานสดในพื้นที่เลย (มีแต่ ซีเอ็นเอ็น และบีบีซี ที่ยืนรายงานเหตุการณ์จากสถานการณ์จริง) ทำให้ไม่เห็นภาพความจริงที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ได้ยินจากเสียงการรายงานของนักข่าว ซึ่งนักข่าวหลายคนก็อยู่ในอาการหวาดกลัว ตกใจ และใช้ภาษาคำบรรยายในลักษณะที่ทำให้คนดู คนฟัง ที่อยู่หน้าจอทีวี คิดไปในทำนองว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นผู้ร้าย เป็นโจรคลั่งที่มุ่งจะทำร้ายทุกคนที่ขวางหน้า และจะต้องรีบจัดการให้เด็ดขาด (เช่นคำบรรยายที่ว่า “…ชาวบ้านย่านนางเลิ้งต่างก็วิ่งกรูเข้าไปเพื่อจะจัดการกับคนเสื้อแดง.” )
เฉพาะทีวีไทย มีการรายงานเหตุการณ์ผ่านทางโทรศัพท์ของนักข่าวในพื้นที่บ่อยครั้งและยาวนาน และมีการปล่อย ภาพคนเสื้อแดงเผารถ ภาพคนเสื้อแดงปิดถนน ขว้างปาสิ่งของใส่ทหาร ภาพทหารยิงคนเสื้อแดง ภาพประชาชนไม่พอใจคนเสื้อแดง ออกมาทำร้ายคนเสื้อแดง ภาพและเสียงจากฝ่ายรัฐบาลที่ตอกย้ำความผิดของกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้งสัมภาษณ์ประชาชนที่ไม่พอใจการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยตำหนิอย่างรุนแรงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น ว่าเป็นการซ้ำเติมประเทศชาติ เหตุการณ์และข้อเท็จจริงเหล่านี้มีการบรรยายและนำเสนออย่างต่อเนื่องโดยไม่มีคำอธิบายหรือข้อเท็จจริงจากฝ่ายของเสื้อแดงเลย
การรายงานเหตุการณ์จลาจล โดยการนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียวและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงกลายเป็นการสร้างอารมณ์ความเกลียดชัง ความโกรธแค้นให้เกิดขึ้นกับคนดูที่เฝ้าติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ที่บ้าน สิ่งที่ทีวีไทย ขาดพร่องไป นั่นก็คือการ ‘อธิบายความ’ ถึงที่ไปที่มาของปัญหา การพูดถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่นำไปสู่การโกรธแค้น ไม่ช่วยลดอุณหภูมิความโกรธแค้นลง แต่กลับเร่งอารมณ์ความรู้สึกที่จะให้เกิดการเข่นฆ่ากันมากขึ้น
วันเกิดเหตุการณ์การจลาจลขึ้นนั้น ทีวีไทยควรที่จะปรับผังรายการใหม่ให้เป็นรายการพิเศษ ที่มีทั้งการรายงานสดในพื้นที่ การพูดคุยสัมภาษณ์บุคคลที่ต้องการที่จะคลี่คลายปัญหา หรือต้องการหาทางออกผ่านทางโทรศัพท์ หรืออาจจะเชิญมาร่วมรายการ ไม่ใช่รายงานสดเหตุการณ์ สลับกับการอธิบายความจากฝากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการอธิบายในเชิงการแก้ปัญหา หาทางลดอุณหภูมิความโกรธแค้นลง
การรื้อผังรายการปกติ เพื่อปรับเป็นรายการพิเศษที่จะเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในยามที่ประเทศชาติอยู่สถานการณ์วิกฤติ หรือเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นภายในบ้านเมือง จะต้องทำให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของทีวีไทย เพราะ ‘เป็นทีวีสาธารณะ’ ที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องความเสียหายทางธุรกิจ เพราะเป็นทีวีที่ใช้เงินภาษีของประชาชน
นอกจากนั้น คนข่าวทีวีสาธารณะ จะต้องเป็นต้นแบบของคนข่าวที่มีคุณภาพของประเทศ จะต้องมีจิตใจที่รักความเป็นธรรม มีความเป็นกลาง มีความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคม มุ่งทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะและส่วนรวมเป็นสำคัญ ถ้าคนข่าว ‘ทีวีสาธารณะ’ ทำไม่ได้ ก็ไม่อาจจะคาดหวังคุณภาพคนข่าว จากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นได้ เพราะนักข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นนั้น ไม่ได้มีภูมิคุ้มกันหรือเกราะกำบังอย่างแข็งแรงในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เหมือนกับคนข่าวของ ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ
คนข่าวโดยทั่วไป และโดยเฉพาะคนข่าวทีวีไทย จะต้องวิเคราะห์ให้ประชาชนเข้าใจว่า การแก้ปัญหาความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่อาจจะแก้ปัญหาให้ยุติได้ด้วยการใช้กำลัง ดังนั้นการที่รัฐบาล กองทัพ และตำรวจ สามารถประสานงานทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ จนนำไปสู่การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงได้ ก็ใช่ว่าปัญหาจะยุติลงได้ เป็นหน้าที่ของคนข่าวทุกคน โดยเฉพาะคนข่าวทีวีไทย จะต้องขบคิดต่อไปว่า จะร่วมกันแก้ปัญหาให้วิกฤตินี้ผ่านพ้นไปได้อย่างถาวรได้อย่างไร
จึงอยากเห็นการปรับเปลี่ยนทีวีไทยอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่บัดนี้ โดยน่าที่จะเอาหนังจีน หนังเกาหลี ออกไปจากหน้าจอก่อน แล้วเปลี่ยนมาจัดเวที เปิดพื้นที่สาธารณะ ระดมความคิดเห็นจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติของประเทศชาติ เพราะวิกฤติของบ้านเมืองเราเวลานี้มีหลายด้านหลายปัญหาเหลือเกิน จะหวังพึ่งทีวีช่องอื่นก็ยิ่งหมดหวัง ทีวีไทย จึงเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของสังคมไทย
เอาไว้ เมื่อสังคมไทยเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ค่อยกลับมาดูหนังจีน หนังเกาหลี หรือรายการที่สร้างสรรค์ จรรโลงใจ ให้ไอเดียอย่างบรรเจิดกันต่อไป