ที่มา ประชาไท
เมื่อ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ โดยในปีวาระที่เมืองเชียงใหม่ครบรอบ 713 ปี ในปีนี้หลายองค์กรประชาสังคมในเชียงใหม่ ได้มีการจัดงาน “ไหว้สาวันพระญามังรายสร้างแป๋งเมืองเชียงใหม่ 713 ปี” โดยมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) และองค์กรต่างๆ ซึ่งได้นัดรวมตัวกันที่วิหารวัดพระเจ้าเม็งราย และมีการไหว้พระรับศีล ทานขันข้าว ถวายสัตตภัณฑ์ในวิหารพระเจ้าค่าคิง ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ปั้นเท่าพระองค์จริงของพญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้นได้มีการเคลื่อนขบวนเครื่องสักการะจากวัดพระเจ้าเม็งรายไปยังหอพญามังราย ถ.พระปกเกล้า (หลังอาคารเทเลวิซ ใกล้วัดดวงดี) โดยขบวนประกอบด้วยป้ายงานไหว้สา ขบวนรถถีบ ขบวนช่อ กลองชัยมงคล เครื่องสักการะ กลองมองเซิง และป้ายรณรงค์ โดยมี ดร. เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นผู้นำกล่าวไหว้สา
เวลาประมาณ 9.30 น. ได้มีการเสวนาถึงวาระสำคัญของเมืองเชียงใหม่ในประเด็นต่างๆ เพื่อร่วมกันพิจารณาทิศทางการดำเนินการต่อไป ได้แก่ การปรับปรุงทัณฑสถานหญิงเป็นพื้นที่สาธารณะ ปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองเชียงใหม่ การขยายถนนในเขตเมืองเชียงใหม่ และการบูรณะวัดสะดือเมือง โดยในปีนี้นั้นยังเป็นปีที่ครบรอบ 600 ปี พญาติโลกราช และครบรอบ 100 ปี กาดหลวง โดยมี รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง จากมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) กล่าวว่าเชียงใหม่นั้นยังต้องได้รับการพัฒนาอีกหลายเรื่อง เช่นปัญหาพื้นที่ทางเท้าที่ไม่เพียงพอและไม่เอื้อต่อการสัญจรด้วยการเดินเท้า หรือการที่ไม่มีรถไฟความเร็วสูงที่เดินทางระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้การเดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่นั้นก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศในสัดส่วนที่สูงโดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบิน
“ต้องช่วยกันทำให้มลพิษในเชียงใหม่น้อยลง โดยการเผานั้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศสูงมาก ไม่ว่าจะมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ หรือการเผาป่า เผาขยะ ซึ่งก๊าซดังกล่าวสามารถอยู่ในโลกได้ถึง 200 ปี แถมเมืองเชียงใหม่ก็เป็นเมืองในหุบเขา ทำให้มลภาวะทางอากาศไม่ออกไปไหน”
รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าของการปรับพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายครั้งเพื่อให้การปรับปรุงพื้นที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด โดย รศ.ดร.ธเนศวร์ กล่าวว่า หากมีการส่งมอบพื้นที่จากกรมราชทัณฑ์แล้ว ทางกรมศิลปากรจะเข้ามาร่วมตรวจสอบพื้นที่บริเวณใต้ทัณฑสถานว่ามีซากโบราณสถานหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นเดิมเป็นพื้นที่เขตพระราชฐานเก่าของกษัตริย์ล้านนาในสมัยราชวงศ์มังราย ซึ่งน่าจะมีร่อยรอยสิ่งก่อสร้างหลงเหลืออยู่ข้างใต้พื้นที่ดังกล่าว
ด้าน อ.เกริก อัครชิโนเรศ กล่าวถึงวาระที่ปีนี้เป็นปีครบรอบ “600 ปีพญาติโลกราช” ว่าในเดือนพฤษภาคมนี้จะถือเป็นวันเกิดของพญาติโลกราช กษัตริย์ล้านนา จึงควรมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึง นอกจากนี้ น่าจะใช้โอกาสนี้เป็นหมุดหมายในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืน เช่น การเพิ่มพื้นที่จักรยาน ลดการขยายถนน โดยอาจทยอยทำทีละพื้นที่ รวมถึงให้มีการพูดคุยกันระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนนอกเมืองเรื่องลดการเผา โดยการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ถ้าสามารถวางแผนระยะยาวได้ และกำหนดว่าแต่ละปีจะมีเป้าหมายทำอะไร ก็อาจกำหนดไปจนถึงปี 2585 หรืออีก 33 ปี ข้างหน้า ซึ่งเป็นวาระครบรอบพระยากาวิละ 300 ปี
ข่าวก่อนหน้านี้
นักวิชาการสถาปัตย์เสนอใช้หลักโบราณคดีพิสูจน์สิ่งก่อสร้างใต้ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่,
ระดมความเห็นปรับปรุงเรือนจำเชียงใหม่เป็นพื้นที่สาธารณะ,
ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต: ประสบการณ์จากญี่ปุ่นถึงไทย (ตอนจบ),
ฟื้นเมืองเก่าให้มีชีวิต: ประสบการณ์จากญี่ปุ่นถึงไทย (ตอนที่ 1),