ที่มา ประชาไท
กิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่างรอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ |
ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ
ที่มา: แปลจาก THAILAND: Anti-Govt Protesters Cede Ground to Military, By Marwaan Macan-Markar, IPS News, 14 April 2009, http://www.ipsnews.net/news.asp?idnews=46496
โดย มาร์วัน มาแคน-มาร์คาร์
เพื่อขับไล่ม็อบ “เสื้อแดง”
ถ่ายโดย มาร์วัน มาแคน-มาร์คาร์/ไอพีเอส
กรุงเทพฯ, 14 เมษายน (สำนักข่าวไอพีเอส) -- เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์ที่นายไพโรจน์ โชติศรีพันธุ์พร ได้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ชุมนุมกันอยู่ด้านนอกของทำเนียบรัฐบาล พวกเขาสวมใส่เสื่อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหว
แต่นายไพโรจน์ตัดสินใจที่จะหยุดสวมเสื้อแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเขาอยู่ในกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล หรืออย่างน้อยพักการสวมเสื้อแดงไว้ระยะหนึ่ง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พ่อค้าวัย 52 ผู้นี้เลือกที่จะสวมเสื้อตาสีฟ้าพื้นขาวกับกางเกงสีเทา หลังจากที่ชัดเจนว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ของเขาต้องจำนนต่อกองกำลังทหารติดอาวุธครบมือ
"มันอันตรายเกินกว่าที่จะสวมเสื้อแดงในขณะนี้" นายไพโรจน์กล่าวขณะที่เขายืนอยู่ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่เคยสวมเสื้อแดงเกือบร้อยคน ซึ่งผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนจากการสวมเสื้อแดงที่เป็นสัญลักษณ์แสดงจุดยืนทางการเมืองมาใส่เสื้อสีที่ทำให้ดูเป็นกลางมากขึ้นเช่นเดียวกับนายไพโรจน์ "พวกเราถูกบุกโดยรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้หนุนหลัง แต่เราก็จะไม่ยอมหยุด"
ไม่ไกลจากจุดที่เขาพูดซึ่งเป็นจุดประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงของประเทศไทย มีทหารในชุดรบยืนอยู่หลายแถว นายไพโรจน์ และพรรคพวกผู้ชุมนุมเย้ยพวกทหารและร้องตะโกนด่าว่า "ไอ้ควาย! ไอ้ ...! กลับบ้านไป! "
อย่างไรก็ตาม เสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่มีผลน้อยมากในขณะนั้นซึ่งเป็นช่วงบ่าย สองชั่วโมงก่อนหน้านี้ สามแกนนำ นปช.ได้เข้ามอบตัวต่อตำรวจ และประกาศให้ผู้ชุมนุมเกือบสองพันคนที่ชุมนุมกันอยู่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลสลายตัวและเดินทางกลับบ้าน
การสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมนี้เกิดขึ้นเมื่อกองทหารนับร้อยนาย ติดตามด้วยผู้ถือโล่ห์กำบังอาวุธ เคลื่อนขบวนเข้าสู่บริเวณนอกทำเนียบรัฐบาลซึ่งนับเป็นฐานที่ตั้งสุดท้ายของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งแกนนำได้ใช้ศิลปะการพูดที่แข็งกร้าวตลอดเวลาในการขับไล่รัฐบาลปัจจุบันและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่
หลายฝ่ายหวาดกลัวต่อเหตุการณ์นองเลือด เมื่อทหารที่ปฏิบัติการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเริ่มเปิดฉากยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีระเบิดขวดแก๊ซโซลีนและระเบิดเพลิงที่เตรียมมาป้องกันตัว
การปะทะกันระหว่างทหารและกลุ่มเสื้อแดงทำให้มีผู้บาดเจ็บ 74 ราย บางรายมีบาดแผลจากปืน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตยังไม่สามารถสรุปแน่ชัด สมาชิกกลุ่มเสื้อแดงบางคนรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ราย ขณะที่อีกหลายคนอ้างว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่านี้มาก ทั้งนี้รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
การสลายตัวของกลุ่ม นปช. ครั้งนี้ ทำให้ความรุนแรงและสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียดที่ตรึงกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เช้าวันจันทร์ได้ยุติลงอย่างกระทันหัน เมื่อกลุ่มเสื้อแดงหลายร้อยคนได้เข้าปิดสี่แยกของถนนสายหลักทั่วกรุงเทพฯ และปะทะกับกองกำลังทหาร
นอกจากนี้ ยังเคยมีการแสดงพลังของกลุ่มเสื้อแดงเช่นนี้เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านที่เมืองพัทยา เมื่อผู้สนับสนุนกลุ่ม นปช. ประท้วงให้ยกเลิกการประชุมสุดยอดสิบหกประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ สองวันก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ กลุ่มเสื้อแดงได้รวบรวมกำลังพลกว่าแสนคนไปชุมนุมประท้วงหน้าบ้านประธานองคมนตรีเพื่อเรียกร้องให้ประธานองคมนตรีท่านนี้ออกจากตำแหน่ง
กลุ่มเสื้อแดงได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากคนจนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด และได้รับการสนันสนุนจากอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ถูกขับออกไป ซึ่งขณะนี้ได้ออกนอกประเทศเพื่อเลี่ยงการจับกุมข้อหาคอรัปชั่น
รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลชุดที่ 18 ของประเทศไทย ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากในปี 2544 และ ปี 2548 จนกระทั่งถูกปลดโดยทหารในการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายนปี 2549
รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในปี 2550 ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้หนุนหลังและดำเนินตามนโยบายของเขาเพื่อคนจน ได้ถูกทำลายโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือผู้ประท้วงกลุ่มเสื้อเหลืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ผู้นิยมกษัตริย์ และข้าราชการฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งต่อมารัฐบาลดังกล่าวได้ถูกบีบให้ลาออกหลังจากที่กลุ่มทหารปฏิเสธให้การสนับสนุนและมีคำสั่งพิพากษาของศาลที่เป็นที่ถกเถียงให้ยุบพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่ จากการตกลงที่จัดการโดยกลุ่มทหาร และมีรายงานว่ามีการจ่ายเงินสดก้อนโตให้กับสมาชิกรัฐสภาที่สนับสนุนการบริหารของเขาอีกด้วย
กลุ่มเสื้อแดงไม่พอใจอย่างยิ่ง โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลใหม่นี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมาจากอำนาจของกลุ่มทหาร รวมทั้งเกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยกลุ่มเสื้อแดงมีจุดประสงค์เรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ พวกเขาออกมาชุมนุมประท้วงอยู่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 มีนาคม
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่รัฐบาลอายุสี่เดือนของนายอภิสิทธิ์สามารถบริหารประเทศได้เพราะโชคเข้าข้าง ขณะนี้ได้มีสัญญาณที่ส่อให้เห็นว่าการตัดสินใจประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินและการหันไปพึ่งทหารเพื่อสลายกลุ่มสื้อแดงครั้งนี้อาจส่งผลตรงข้ามกับที่ตั้งใจไว้
เสียงแรกที่ไม่เห็นด้วย เป็นการประกาศโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกว่าสิบแห่งทั่วประเทศ ที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อหลายสิบปีก่อน
ครั้งนี้ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยสนับสนุนการเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดงให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ลาออกและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ประเทศได้มีรัฐบาลของประชาชนที่แท้จริง รวมทั้งเรียกร้องให้มีคำสั่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
"ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของนักศึกษายังคงเป็นไปอย่างเงียบๆ และไม่ได้ออกมาสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดง แต่เสียงเงียบนี้ได้ยุติลงเนื่องจากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อส่งกองกำลังทหารสลายการชุมนุม" น.ส.สุลักษณ์ หลำอุบล หนึ่งในกรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และนักศึกษาปริญญาตรีวิชาประวัติศาสตร์กล่าว "รัฐบาลต้องสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้"
"หลายฝ่ายเริ่มแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากทหารไม่ลังเลในการใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องรัฐบาลนี้," นายสุลักษณ์ให้สัมภาษณ์กับ IPS "ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้กลัวประชาชน"
คนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้แสดงตนว่าเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงได้แสดงออกถึงปฏิกิริยาที่คล้ายคลึงกันนี้ในหลายๆ ส่วนของกรุงเทพฯ
"ประชาชนจะไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงแบบนี้ เราไม่สามารถปล่อยให้ทหารยิงประชาชนได้" ข้าราชการวัย 39 แสดงความเห็นโดยไม่ประสงค์ออกนาม "ประชาชนจะลุกขึ้นต่อต้านเนื่องจากการปราบปรามของรัฐบาล"
ด้านนางสาวนฤมล ทับจุมพล นักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เพื่อขัดขวางแนวคิดต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้ การบริหารภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ต้องยืนยันว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม "สังคมกำลังรอว่ารัฐจะเป็นกลางและดำเนินการอย่างเหมาะสมตามกฎหมาย"
"รัฐบาลต้องไม่ทำให้ถูกมองว่า สนับสนุนกลุ่ม พธม. เสื้อเหลืองเพียงสีเดียว- ตั้งแต่แกนนำของพวกเขาได้ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระหลังจากเหตุการณ์วุ่นวายทั้งหลาย และได้กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว" เธอกล่าวเสริมในการให้สัมภาษณ์
"วีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อแดงเป็นบุคคลที่น่ายกย่องในการตัดสินใจปกป้องชีวิตของสมาชิกกลุ่ม และยอมมอบตัวกับตำรวจ"