ที่มา ไทยรัฐ
รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ บอกว่า นปช.สูญเสียความชอบธรรมเมื่อมีการบุกโรงแรมล้มการประชุมเอเซียนซัมมิทที่พัทยา คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ม็อบแดงใช้
“ในทางการเมือง ถ้ารัฐบาลนิ่งกว่านี้ สังคมจะบีบม็อบแดง ต้องลดระดับลงมาเอง เพราะข้ามเส้นเกินไป...เริ่มต้นเป็นฝ่ายแพ้”
แต่รัฐบาลเลือกใช้วิธีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง ก็เท่ากับเป็นการยกระดับตามไปด้วย ทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นไป
นี่คือ ข้อที่รัฐบาลเดินไปในทางที่ผิด
อาจารย์ปริญญา บอกว่า สถานการณ์ฉุกเฉินประกาศไปแล้ว ย้อนกลับไปไม่ได้ ก็ต้องควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง และนำไปสู่การเปิดโต๊ะเจรจา หาทางออกทางการเมือง
“การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลต้องใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ เท่านั้น..ผมไม่เชื่อว่า จะสามารถจับแกนนำได้ โดยไม่เกิดเหตุลุกลามบานปลาย บทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ก็มีแต่ลุกลามมากขึ้น”
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516...พฤษภาทมิฬฯ 2535...หรือ 7 ตุลาคม 2551 ก็เห็นแล้วว่าไม่ใช่ทางออก
“สุดท้ายแล้ว...ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนที่สามารถจะอยู่ได้ ถ้าเหตุการณ์ เผชิญหน้าลุกลามถึงขั้นนองเลือด”
อาจารย์ปริญญาในฐานะอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยปี 2534 ผู้นำนักศึกษาร่วมอยู่ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ย้อนสถานการณ์ปลายปีที่แล้ว เมื่อครั้งม็อบสีเหลืองชุมนุมใหญ่
ครั้งนั้น...รัฐบาลก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เทียบกับสถานการณ์ม็อบแดงวันนี้ รัฐบาลก็ประกาศเช่นกัน
ข้อที่จะถูกตั้งคำถาม คือ ท่าทีของกองทัพ?
“ตอนที่คุณสมัคร สุนทรเวช ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รับผิดชอบ ก็บอกว่าจะใช้อำนาจในทางที่จะป้องกันไม่ให้มีการปะทะกัน เข่นฆ่ากันระหว่างประชาชนสองกลุ่ม....
ที่ไม่ทำ คือ การเข้าไปสลายการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล”
สถานการณ์วันนี้ ยังคาดเดาไม่ถูกว่า กองทัพจะทำอย่างไรต่อไป แต่สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือวิถีทางในการแก้ปัญหา วิกฤติการณ์ในบ้านเมืองที่เกิดขึ้น
“ต้องใช้วิถีทางทางการเมือง ไม่ควรใช้วิถีทางด้วยกำลัง”
เหตุการณ์สลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงปิดถนน บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เช้ามืดวันที่ 13 เมษายน แม้ว่าจะมีมาตรการจากเบาไปหาหนัก แต่สุดท้ายก็ต้องมีการยิงปืนขึ้นฟ้า ใช้แก๊สน้ำตา
เข้าใจว่า มีผู้บาดเจ็บกว่า 50 คน
ประเด็นสลายการชุมนุมที่ดินแดง เป็นสิ่งที่น่าจะทำให้รัฐบาล...กองทัพ ได้ตระหนัก ลำพังเฉพาะเพียงแค่ต้องการเปิดการจราจร...ก็ยังทำได้ยาก ในการชุมนุมหน้าทำเนียบ จะทำอย่างไร
“หากใช้วิธีการทำนองเดียวกัน เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่ามาก เพราะจำนวนคนต่างกันเป็นสิบเท่า”
อาจารย์ปริญญาตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่...ไม่ว่าตำรวจ ทหาร ทักษะในการควบคุมฝูงชนมีน้อย เพราะไม่มีการฝึกอย่างจริงจัง หากมีพอ ม็อบเสื้อแดงที่ไปชุมนุมพัทยาคงเข้าไปไม่ถึงโรงแรมรอยัลคลิฟ บีชฯ
“การใช้ทหารออกมาควบคุมม็อบ จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง”
กองทัพมีวัตถุประสงค์เปิดทางจราจร...ก็เปิดได้ แต่ถึงขั้นต้องยิงปืนขึ้นฟ้า ยิงแก๊สน้ำตา แค่นี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่เป็นชนวนให้ม็อบลุกฮือได้แล้ว
“เหตุการณ์พฤษภาปี 35 ก็เริ่มต้นจากยิงปืนขึ้นฟ้า แล้วสถานการณ์ก็ลุกลามบานปลาย สถานการณ์วันนี้...ถึงจุดนึง ถ้ามีใครสักคนหันปืนยิงใส่คน เหตุการณ์จะยิ่งลุกลาม”
ข้อนี้...เป็นความอ่อนไหวที่อันตรายมาก
ปลายปีที่แล้ว มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า อำนาจที่เป็นอำนาจพิเศษนี้ ถึงจะเหนือกฎหมายอื่นๆ...เหนือรัฐธรรมนูญหลายข้อ แต่ยังมีข้อจำกัด
ด้วยธรรมชาติในตัวของมันเอง และสภาพแวดล้อมทางสังคม
“ภาวะฉุกเฉินครั้งนี้ เป็นอำนาจฉุกเฉินในยามสันติ ไม่ใช่อำนาจฉุกเฉินในยามสงคราม”
ในสภาวะสันติ สถานการณ์ฉุกเฉินหมายถึงอุทกภัย วาตภัย ก่อการร้าย และสถานการณ์ความไม่สงบในแง่ของการเมือง มีสาเหตุ...ที่มาที่ไปซับซ้อน
ฉะนั้น ยามสันติประชาสังคมจะรับได้กับอำนาจพิเศษเหล่านี้หรือไม่ จะมีผลทางจิตวิทยา ที่จะยังยั้งอารมณ์มวลชนได้ไหม
“ถ้าไม่เห็นว่าวิกฤติ...แล้วใช้ ก็อาจจะกลายเป็นวิกฤติขึ้นมาได้”
อาจารย์ ปณิธาน ย้ำว่า ต้องระวังการใช้อำนาจ ต้องใช้เพื่อสกัดสถานการณ์ ไม่ให้ลุกลามบานปลาย ด้วยการใช้ที่สุขุม...รอบคอบ ได้สัดส่วนกับความรุนแรง มีเหตุผลเพียงพอ...ให้คนรู้สึกว่าเป็นธรรม
ท่ามกลางสถานการณ์นี้ การป้องกันเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะเอาอำนาจไปแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองคงยาก
“พูดง่ายๆ จะเอาอำนาจฉุกเฉินไปผลักพันธมิตรฯให้ออกจากทำเนียบคงจะยุ่ง และยากมาก วิกฤติการณ์ทางการเมืองต้องอาศัยกลไกอื่น หลักๆ คือ ศาล และการเจรจา”
หลักใหญ่คือ 3 ธรรม ประชาชนคิดว่าเป็นธรรม รัฐต้องมีความชอบธรรมในการจัดการ และจะยุติธรรมหรือไม่ ต้องให้กระบวนการตุลาการตัดสิน
ครั้งนั้นหลายฝ่ายมองว่า...การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นทางบังคับ ท้ายที่สุดนายกฯไม่ประกาศลาออก ไม่ประกาศยุบสภา ทหารก็ต้องออกมาปฏิวัติ
อาจารย์ ปณิธาน บอกว่า ก่อนจะถึงจุดนั้น ขึ้นอยู่กับคนสามคน ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), แม่ทัพภาคที่ 1) จะยับยั้งสถานการณ์ได้ไหม
“ถ้าทำได้สถานการณ์ก็จะนิ่ง...ไม่ฉุกเฉินแล้ว ต้องยกเลิกประกาศฉุกเฉิน”
มุมคิดนี้สอดคล้องกับทรรศนะอาจารย์ปริญญาที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง...หากรัฐบาลยังเดินอยู่ในเส้นทางที่มีแต่ยกระดับความรุนแรงขึ้นไปตามม็อบ สุดท้ายรัฐบาลจะคุมอะไรไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครคุมได้
แม้ว่ายังมีการเผชิญหน้าระหว่างม็อบแดงกับทหารต่อเนื่อง แต่การเจรจาทำได้ตลอด ปัญหาขึ้นอยู่กับว่า แต่ละฝ่ายจะเลือกยุทธศาสตร์อย่างไร
“รัฐบาลเลือกการใช้กำลังไม่ได้แปลว่า การใช้กำลังคือการเอาปืนมายิงใส่ ประชาชนเสมอไป แต่เลือกแนวทางที่จะยกระดับวิธีการขึ้นมา”
สาเหตุประการหนึ่งรัฐบาลอาจจะตระหนักกับข้อมูลที่ได้รับ ที่อาจจะมีทั้งข้อมูลจริง...ข้อมูลหลอก ว่ามีการเตรียมการต่างๆ ซึ่งจะทำให้คุมสถานการณ์ไม่อยู่
อีกสาเหตุหนึ่ง...ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่สามารถบังคับบัญชาตำรวจได้ อย่างเต็มที่ เลยต้องใช้กำลังทหารเข้ามา
“ขอให้นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำในสิ่งที่เคยเรียกร้องรัฐบาลตอนที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน...นี่แหละคือทางออกทางการเมือง ที่จะแก้ปัญหาวิกฤตินี้ให้ทุเลาลงมาได้”
และต้องวิจารณ์ผ่านไปถึงคุณทักษิณก็ต้องรับผิดชอบ โดยที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะอยู่ในฐานะแกนนำโดยตรง
“คุณทักษิณรู้มาตลอด นับตั้งแต่ปิดอนุสาวรีย์ชัยฯ บุกโรงแรมพัทยา โดยที่ไม่ได้ห้ามปราม พูดอยู่เสมอว่าอยากจะกลับมาช่วยประเทศชาติ ถ้ายังทำแบบนี้ก็มีแต่จะทำให้ปัญหาบ้านเมืองยิ่งลุกลามมากขึ้น”
อาจารย์ปริญญา ย้ำว่า ถึงขั้นนี้แล้วคงได้แต่ขอให้รัฐบาล และกองทัพ ใช้อำนาจตามกฎหมายเพียงเพื่อควบคุมสถานการณ์เท่านั้น...อย่าใช้เพื่อสลาย ยุติการชุมนุม
วิธีการยุติการชุมนุมที่ดีที่สุด ควรให้ผู้ชุมนุมยุติเอง การขัดแย้งทางการเมืองต้องแก้ด้วยวิถีทางทางการเมือง
ยิ่งใช้กำลัง ยิ่งนำไปสู่การจลาจล เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครควบคุมได้..ประเทศ ไทยจะเข้าสู่จุดที่เกิดจลาจลทั้งกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด
เมื่อถึงตอนนั้น...จะไม่มีใครชนะ เพราะทุกคนจะเป็นผู้แพ้.