โรดแม็ป 5 ข้อ เพื่อความปรองดองแห่งชาติ
ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศออกมาช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทาง
การเมือง คลี่คลายวิกฤติม็อบเสื้อแดง
ทั้งเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การปฏิรูปประเทศ สร้างความเป็นธรรมในสังคม สร้างกลไกอิสระในการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน
การตั้งคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์รุนแรงในช่วงที่มีการชุมนุมของม็อบเสื้อแดง
และการแก้ไขกติการัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ให้ความเป็นธรรมกับนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง
เพื่อนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคม และเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ความสงบก็พร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553
ทุกฝ่ายในสังคมให้การขานรับ เพราะมองว่าเป็นช่องทางที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤติ
ไม่เว้นแม้แต่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หัวหอกม็อบเสื้อแดง ก็ออกมาตอบรับแผนปรองดอง
บรรยากาศที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเริ่มหายใจด้วยความโล่งอก
เพราะอยากให้การชุมนุมของม็อบเสื้อแดงยุติลงแบบสันติ อยากให้ประเทศชาติบ้านเมืองกลับสู่ความสงบ
ไม่อยากให้มีสถานการณ์ความรุนแรง หรือการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ
สังคมคาดหวังว่าปัญหาความขัดแย้งจะยุติลงด้วยดี ทุกฝ่ายจะได้กลับมาใช้ชีวิตทำมาหากินกันตามปกติเสียที
แต่ผ่านมา 2 สัปดาห์ สิ่งที่สังคมมุ่งหวังต้องการจะเห็นก็ยังไม่เกิดขึ้น
เพราะแกนนำม็อบยังมีเงื่อนไขต่างๆ ตามมาไม่หยุดหย่อน
เริ่มตั้งแต่การคาดคั้นให้นายกฯอภิสิทธิ์ประกาศวันยุบสภาออกมาชัดๆ ทั้งที่มีการประกาศกรอบวันเลือกตั้งอย่างชัดเจนแล้วว่า
ถ้าทุกฝ่ายเข้าร่วมแผนปรองดอง บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบ ทุกพรรคสามารถไปหาเสียงได้ทุกพื้นที่ รัฐบาลพร้อมจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน
นั่นก็หมายถึงห้วงเวลายุบสภาตามเกณฑ์รัฐธรรมนูญจะอยู่ในช่วงวันที่ 15-30 กันยายน ซึ่งแกนนำม็อบก็รู้อยู่แก่ใจ แต่ยังทำเป็นไขสือ
ก่อนพลิกเงื่อนไขใหม่ มีมติยอมรับวันเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน ไม่ติดใจห้วงยุบสภา 15-30 กันยายน
แต่ตั้งเงื่อนไขให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไปมอบตัวกับตำรวจกองปราบฯกรณีสั่งใช้กำลังในเหตุการณ์ 10 เมษายน ถึงจะยุติการชุมนุมม็อบเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์
เล่นแง่หยุมหยิม ยื้อเวลา ยื้อม็อบ
จนทำให้นายกฯอภิสิทธิ์ออกมาประกาศว่า แผนปรองดองไม่มีเรื่องที่ต้องต่อรองกัน เมื่อแกนนำกลุ่ม นปช.ไม่ยุติการชุมนุม ก็ยังเดินหน้าในแผนปรองดอง 5 ข้อ
แต่ก็ไม่จำเป็นที่ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน เพราะแกนนำ นปช. ไม่ตอบรับ ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ และทำให้เหตุการณ์ยืดเยื้อต่อไป
ยกเลิกเงื่อนเวลายุบสภาและการจัดเลือกตั้งใหม่
พร้อมส่งสัญญาณเข้มให้ ศอฉ.ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มม็อบเสื้อแดง เพื่อคืนความเป็นปกติและความสงบให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด
"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ขอชี้ว่า การที่แกนนำกลุ่ม นปช. ตั้งเงื่อนไขหยุมหยิม ไม่ยอมยุติการชุมนุมเพื่อเข้าสู่แผนปรองดอง
เหตุผลหลักๆ ก็เพราะยังไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง
นอกเหนือจากการยุบสภา เลือกตั้งใหม่
และไม่ใช่แค่เรื่องการขอประกันตัวของแกนนำในคดีต่างๆ อย่างที่เป็นข่าวกระเส็นกระสายเท่านั้น
ทั้งนี้หากมองย้อนกลับไปดูกันที่จุดเริ่มของม็อบเสื้อแดงที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลในครั้งนี้ ชัดเจนว่าเริ่มมาจากปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ที่ถือเป็นเจ้าของมวลชนเสื้อแดงตัวจริง และเป็นผู้บัญชาการเกมผ่านแกนนำกลุ่ม นปช.มาตั้งแต่ต้น
มีการแสดงออกในการปลุกกระแสมวลชนให้ออกมาต่อสู้เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับตัวเขาทั้งการโฟนอินและวีดิโอลิงก์อย่างต่อเนื่อง
แม้ช่วงหลังพยายามลดบทบาทในทางเปิด เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบงการม็อบ แต่แกนนำกลุ่ม นปช.หลายคนก็ยังออกมาให้ข้อมูลว่า มีการติดต่อโทรศัพท์พูดคุยกับ "ทักษิณ" อยู่ตลอด
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณเคยใช้ยุทธศาสตร์ฐานการเมือง คือพรรคเพื่อไทย และฐานมวลชนกลุ่มม็อบเสื้อแดงในการเคลื่อนไหวต่อสู้คู่ขนานกันทั้งในสภาและนอกสภา
แต่มาถึงขณะนี้เมื่อไม่ใช้กลไกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้พรรคเพื่อไทยในการต่อสู้
หันมาใช้ม็อบเสื้อแดงขับเคลื่อนต่อสู้นอกสภาเป็นหลัก
แต่ลำพังการกดดันให้มีการยุบสภา โดยนายกฯอภิสิทธิ์เสนอแผนปรองดอง พร้อมกำหนดวันเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน
"นายใหญ่" ที่เป็นเจ้าของมวลชน ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากแผนปรองดอง
ไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทั้งเรื่องการนิรโทษกรรมและการทวงคืนทรัพย์สิน
ไม่คุ้มกับที่ลงทุนไป
ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลใหญ่ทำให้แกนนำ นปช.ที่ออกมาตอบรับแผนปรองดองของนายกฯอภิสิทธิ์ พลิกท่าที เสนอเงื่อนไขหยุมหยิม
ยื้อม็อบ ไม่ยอมสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์
ในขณะที่ยังมีกองกำลังที่ไม่เปิดเผยตัว แฝงเข้ามาปฏิบัติการอยู่ในกลุ่มม็อบเสื้อแดง ทำให้แกนนำม็อบไม่ยุติการชุมนุม
ขณะเดียวกัน แกนนำสายฮาร์ดคอร์ก็ออกมาแสดงบทบาทการนำในม็อบมากขึ้น
ถึงขั้นเตรียมวางตัวแกนนำรุ่น 2 ขึ้นมานำม็อบแทน หากแกนนำรุ่นหนึ่งยอมรับแผนปรองดองยุติการชุมนุม
เมื่อสถานการณ์เดินมาสู่จุดพลิกผัน แผนปรองดองของนายกฯอภิสิทธิ์สะดุดชะงัก แกนนำม็อบเสื้อแดงไม่ยอมยุติการชุมนุม
ความหวังของสังคมที่เห็นด้วยกับแผนปรองดอง ต้องการให้ความขัดแย้งยุติลงอย่างสันติ อยากเห็นความสงบเกิดขึ้นในบ้านเมืองโดยเร็ว
สถานการณ์ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง
ทำให้แรงกดดันทั้งหมดกลับมาอยู่ที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงเต็มๆ
จนนายกฯอภิสิทธิ์ต้องออกมาประกาศยกเลิกกำหนดการเลือกตั้ง 14 พฤศจิกายน ตามแผนปรองดอง
พร้อมเปิดไฟเขียวให้ ศอฉ.ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับม็อบเสื้อแดง เพื่อคืนความสงบสุขให้บ้านเมือง
โดย ศอฉ.ก็รับลูกทันที ด้วยการประกาศส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธเข้าปิดล้อมเส้นทาง รอบบริเวณสี่แยกราชประสงค์
พร้อมประกาศพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มรวม 15 จังหวัด ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน
เพื่อสกัดกั้นแนวร่วมคนเสื้อแดงเข้ามาสมทบในกรุงเทพมหานคร
และสถานการณ์ความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้นอีกระลอก เมื่อเกิดเหตุลอบยิง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก แนวร่วมฮาร์ดคอร์คนสำคัญของม็อบเสื้อแดง
กระสุนทะลุหัว อาการสาหัสปางตาย
ตามด้วยเหตุการณ์ปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมม็อบเสื้อแดงกับทหารที่เคลื่อนกำลังตั้งด่านปิดเส้นทางรอบสี่แยกราชประสงค์
ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบราย
ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายเข้ม เคลื่อนกำลังทหารปิดล้อมม็อบเสื้อแดง เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ของทางรัฐบาลและ ศอฉ.
เพื่อคืนความสงบให้บ้านเมือง และคืนชีวิตความเป็นปกติสุขให้แก่ประชาชน
จะบรรลุผลแค่ไหน และสุดท้ายสถานการณ์จะจบลงอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันแบบนาทีต่อนาที
แต่สิ่งที่ทุกคนภาวนาก็คือ ไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย ไม่ว่ากับฝ่ายใดทั้งสิ้น เพราะทุกคนล้วนเป็นคนไทย สายเลือดเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดงที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยืดเยื้อมากว่า 2 เดือน
และมีการยึดสี่แยกราชประสงค์ ศูนย์กลางธุรกิจสำคัญของประเทศ เป็นเวลาเดือนครึ่ง
สร้างความเสียหายด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นมูลค่ามหาศาล ภาพพจน์ของประเทศย่อยยับแหลกลาญ
สร้างผลกระทบความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ใช้ชีวิตและทำมาหากินในเมืองหลวง เป็นวงกว้าง
ที่สำคัญ ต้องยอมรับว่าวิกฤติม็อบครั้งนี้ มีความรุนแรงและเนิ่นนาน จนผู้คนในสังคมหมดความอดทน
แรงกดดันจากสังคมจึงกระแทกกลับไปที่รัฐบาล ในฐานะผู้กุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ควบคุมกลไกรัฐ
และฝ่ายความมั่นคง
ตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ รัฐบาลมีศักยภาพในการจัดการเพื่อทำให้สี่แยกราชประสงค์และบ้านเมือง กลับสู่ความสงบเป็นปกติสุขได้หรือไม่
ถ้าไม่สามารถทำให้ม็อบกลับบ้านได้
นายกฯอภิสิทธิ์และรัฐบาลชุดนี้ ก็ควรกลับบ้านแทน.
"ทีมการเมือง"