สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักเช่น เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ส บีบีซี และอื่น ๆ ยังคงติดตามสถานการณ์วิกฤตเหตุการณ์ปะทะระหว่างทหารไทยกับกลุ่มคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯอย่างใกล้ชิด โดยระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดจากการปะทะได้เพิ่มขึ้น 35 รายแล้ว และมีผู้คนบาดเจ็บ 241 ราย จากเหตุปะทะที่เริ่มขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้ขีดเส้นตายให้ผู้หญิง,เด็ก,และผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธในมือ ออกจากพื้นที่ราชประสงค์ ในวันจันทร์นี้
นอกจากนี้ สำนักข่าวหลายสำนักยังรายงานว่า รัฐบาลได้ปฎิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดงที่ต้องการให้สหประชาชาติเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างรัฐบาลและกลุ่ม โดยนายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล บอกว่า รัฐบาลไทยจะไม่ให้ใครเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตและปัจจุบันรัฐบาลไม่เคยมีนโยบายเช่นนี้ และว่าที่ผ่านมารัฐบาล ได้มุ่งที่จะปราบกลุ่มติดอาวุธ มากกว่าการทำร้ายชีวิตผู้บริสุทธิ์ อย่างที่ถูกกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม วอลล์สตรีท เจอนัลด์ รายงานว่า นายกอร์ดอน ดูกลิด โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุว่า สหรัฐยังคงจับตาสถานการณ์วิกฤตในเมืองไทยอย่างใกล้ชิด และหวังว่าสถานการณ์ขัดแย้งขณะนี้จะมีการทางออกโดยพื้นฐาน และหากมีมติหรือมาตรการใด ๆ ที่เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าไปเกี่ยวข้อง สหรัฐจะไปสหประชาชาติเพื่อเข้าร่วมแก้ปัญหา
ขณะเดียวกัน บลูมเบิร์ก รายงานว่า หากรัฐบาลไทยล้มเหลวที่จะยับยั้งความรุนแรงได้ สถานการณ์รุนแรงของเมืองไทย อาจขัดขวางการลงทุนและการท่องเที่ยวของประเทศมูลค่า 260,000 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ บลูมเบิร์ก ยังอ้างคำกล่าวของนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง หนึ่งในแกนนำนปช.ว่า พร้อมจะทำลายห้างสรรพสินค้าบริเวณย่านราชประสงค์ และอาคารตึกสูงพาณิชย์ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของบริษัทต่างชาติ เช่น ฟิลิป มอร์ริส ระบุว่า หากเราไม่มีทางเลือก เราก็จำเป็นจะต้องพังประตูสถานที่เหล่านี้เพื่อปกป้องชีวิตของคนเสื้อแดง