WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, December 21, 2010

พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง (1): คำถามต่อพุทธศาสนาในความเป็นรากฐานทางปัญญาของสังคม

ที่มา ประชาไท

จากการเสวนา "พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง" โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2553 ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ผม ขอเริ่มด้วยการเปิดประเด็น ชวนคุยไปเรื่อยๆ ก่อนละกันนะครับ ในฐานะของคนที่ไม่ได้รู้เรื่องพุทธศาสนามากนัก เรื่องนึงที่ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนทำกันมาเยอะมากๆอยู่แล้วนะครับ ทำมาตั้งแต่รุ่น อ.สุลักษณ์ พระไพศาล ตั้งแต่ก่อนเป็นพระท่านก็ทำ อ.นิธิก็มีงานเขียนเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาเยอะแยะ ดังนั้นประเด็นพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ปัญญาชนให้ความสนใจ ล่าสุดคุณคำ ผกาก็มีการวิจารณ์ศาสนา และประเด็นเรื่องการปฏิรูปซึ่งค่อนข้างรุนแรง ทำให้คนไม่พอใจจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมจะพูดถึงประเด็นนี้ก่อนนะครับ
ผมคิดว่าส่วน ใหญ่เวลาพวกปัญญาชน คนชั้นกลาง หรือสื่อมวลชนวิจารณ์พุทธศาสนาในบ้านเรา วิธีที่ใช้ในการวิจารณ์จะวนอยู่สองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือ ดูพฤติกรรมของพระว่ามีความเหมาะสม มีความอยู่ในร่องในรอยตามคำสอนพุทธศาสนาหรือเปล่า พูดง่ายๆก็คือเป็น วิธีการจับผิดพระ พระมีกิ๊ก พระมีสีกา พระแต่งตัวเป็นเกย์ อะไรแบบนี้ แล้วก็ใช้ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างมาสรุปว่า เห็นไหม... สิ่งที่พระทำก็ไม่ได้ดีอะไรนัก แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนากำลังมีปัญหา ส่วนบางคนที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะวิจารณ์ในประเด็นที่ว่า พุทธศาสนาอาจจะมีคำสอนหลายๆ อันที่ไม่สอดคล้องกับสังคม เช่น วิธีคิดที่พุทธศาสนามองผู้หญิง คนที่สนใจศึกษาเรื่องสิทธิสตรี หรือพวกเฟมินิสต์ก็จะบอกว่า ศาสนาพุทธมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ การเชื่อว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์ที่ด้อยกว่าผู้ชาย ประเด็นที่เห็นชัดๆ ง่ายๆ คือการไม่ให้ผู้หญิงบวชเป็นพระ
ผมเพิ่งเข้าไปคุย กับท่านพระครูธรรมาธรครรชิตมา ซึ่งท่านอยู่วัดของเจ้าคุณประยุทธ์ เราก็คุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ และมีประเด็นหนึ่งที่ทำให้เราเถียงกันค่อนข้างเยอะ คือ เรื่องการมองว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ในการบวชได้หรือเปล่า ท่านก็เถียงหลายๆ เรื่องนะครับ ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ พอเถียงกันไปเถียงกันมา ท่านพูดว่า เหตุผลชี้ขาดจริงๆ ที่ผู้หญิงบวชเป็นพระไม่ได้ คือ แน่นอนว่าศาสนจักรอาจจะอ้างเรื่องพระไตรปิฎกใช่ไหมครับ อ้างว่ามันไม่มีภิกษุณี แต่ในที่สุดแล้ว ท่านพระครูธรรมาธรครรชิตก็อ้างว่า จริงๆ แล้วสำหรับท่าน เรื่องที่มันสำคัญที่สุดคือว่า ผู้หญิงเนี่ยไม่มีเหตุผล เพราะว่าผู้หญิงมีประจำเดือน พอผู้หญิงมีประจำเดือน ผู้หญิงก็จะอารมณ์แปรปรวน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่มัน beyond เหตุผลของมนุษย์ในปัจจุบันไปแล้ว ว่าการมีประจำเดือนทำให้มนุษย์บางเผ่าพันธุ์ในโลกมีอารมณ์แปรปรวน เพราะฉะนั้นเลยเข้าสู่ศาสนจักรไม่ได้ แล้วพอผมถามท่านว่า แล้วเวลาที่ผู้หญิงบริจาคเงิน เงินซึ่งมาจากอารมณ์แปรปรวนนี่มันได้ไหม? ท่านก็ฉุนๆนะครับ ในที่สุดเมื่อคุยกันไปเรื่อยกลายเป็นว่า ในโลกนี้มีสัตว์บางประเภทที่ไม่มีเหตุผลเท่าผู้ชาย เพราะเหตุผลง่ายๆ คือสัตว์ประเภทนั้นมีประจำเดือน อันนี้ก็คือตัวอย่างหนึ่งว่า ถ้าในระดับผิวเผิน คนจำนวนหนึ่งก็จะวิจารณ์พระสงฆ์จากกิจกรรมต่างๆ ที่ท่านทำ ซึ่งก็อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะ หรือระดับที่ลึกซึ้งขึ้นมาก็คือ ดูคำสอนว่ามันมีความสอดคล้อง เท่าทันต่อสังคมปัจจุบันแค่ไหน
แต่ผมคิดว่า เรื่องที่ผมอยากจะพูดคงไม่ได้มาจากในมุมนี้ แต่ผมจะพูดผ่านปรากฏการณ์สองสามเรื่องด้วยกันครับ
เรื่อง ที่หนึ่งก็คือ ผมคิดว่าปัจจุบันนี้พระสงฆ์กลายเป็นสินค้ามากขึ้น ซึ่งอันนี้ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ แต่ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่าช่วง ๑๐-๒๐ ปีมานี้ บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นสินค้าแบบหนึ่ง มันชัดเจนมาก เราอาจจะเรียกว่าเป็น สินค้าในตลาดเชิงจิตวิญญาณอะไรก็แล้วแต่ เราลองนึกถึงพระอย่าง ว.วชิรเมธี พระมหาสมปอง แบบนี้ ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นเรื่องใหม่ หากย้อนไปไกลสุดก็อาจเป็นสมัยพระพยอมหรือเปล่า ผมไม่รู้นะครับ มันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า สภาพของพระสงฆ์ที่กลายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยมนี่มันชัดเจนมากในปัจจุบัน คำถามที่สองก็คือว่า พระสงฆ์ที่กลายเป็นสินค้าเนี่ยขายอะไร คำตอบก็คือขายตัวเองผ่านโทรทัศน์ใช่ไหมครับ ขายตัวเองผ่านซีดี ขายตัวเองผ่านดีวีดี หรือ หนังสือคำสอนแบบง่ายๆ ต่างๆ ที่นี้ถามต่อไปอีกว่า แล้วคำสอนที่พระที่ทำตัวเองให้เป็นสินค้าในระบบทุนนิยมขายคืออะไร พูดตรงๆ ผมคิดว่าไม่ใช่คำสอนที่มีความลึกซึ้งอะไร คำสอนพวกนี้มักจะเป็นคำสอนประเภท “คนเราต้องขยัน” “คนเราต้องรักพ่อแม่” “คนเราต้องทำความดี” นี่คือสินค้าที่พระกลุ่มหนึ่งใช้ขายผ่านระบบทุนนิยม ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคำสอนแบบนี้มันมีประโยชน์กับคนในสังคมปัจจุบันจริงๆ หรือว่ามันเป็นคำสอนที่คนในสังคมปัจจุบันพร้อมรับมัน เพราะว่าเค้าพร้อมจะบริโภคอะไรบางอย่างที่เป็นการผลิตซ้ำคำอธิบายที่เขา เชื่อของเขาเองอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่นเวลามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สังคมก็จะมีพระกลุ่มหนึ่งทำบทบาทในแบบที่ พูดง่ายๆ คือเหมือนพวกครีเอทีฟในวิชาโฆษณาทำกัน คือ ผลิตคำคมออกมาอธิบายปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้วยคำตอบง่ายๆ เช่น ช่วงเมษา-พฤษภา ท่าน ว.ก็ทวิตประโยคหนึ่งซึ่งเป็นที่ฮือฮาว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” แล้วกลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่า ฆ่าคนบาปน้อยกว่าฆ่าเวลา อันนี้เป็นศาสนาเวอร์ชั่นไหน หรือเป็นศาสนาของอุตสาหกรรมนาฬิกา ที่การฆ่าคนบาปน้อยกว่าการฆ่าเวลา แต่ตอนหลังท่านก็ลบเรื่องนี้ทิ้งไปนะครับ
ผมว่า อันนี้มันน่าสนใจคือ คำสอนที่มันถูกผลิตซ้ำโดยพระกลุ่มนี้เนี่ย ในที่สุดแล้วมันเป็นความลุ่มลึกทางภูมิปัญญาของพุทธจริงๆ หรือมันเป็นแค่การเอาคำอธิบายที่คนเชื่อกันอยู่แล้วในสังคมมาผลิตซ้ำในแบบ ง่ายๆ แล้วใช้สถานภาพของความเป็นพระ ซึ่งคนไทยพร้อมจะเชื่ออยู่แล้ว เพราะคนไทยมักจะเชื่อเจ้า เชื่อพระ เชื่ออาจารย์ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นที่มาของภูมิปัญญา แล้วก็ผลิตซ้ำคำเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าในแง่หนึ่งมันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจปัญหา แต่มันใช้ได้กับคนในสังคม เพราะมันพูดเรื่องที่คนคิดกันอยู่แล้ว เวลามีความขัดแย้งทางการเมือง ก็บอกว่า ทางออกคือคนไทยต้องรักกัน พูดจริงๆ ก็คือ คำตอบแบบนี้เด็กประถมก็ตอบได้ คนเราต้องรักกัน คนเราต้องสามัคคีกัน ที่นี้คำถามคือแล้วสินค้าหรือสิ่งที่พุทธศาสนาผ่านพระกลุ่มที่ทำให้ตัวเอง เป็นสินค้ามีให้กับสังคม มันมีอยู่แค่นี้เองเหรอ อันนี้อาจมองเป็นปัญหาของพระเอง แต่ก็เป็นปัญหาของสังคมเองด้วย ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งกว่านี้แล้ว สิ่งที่คนในสังคมต้องการไม่ใช่คำตอบที่ลึกซึ้ง แต่เป็นคำตอบที่ง่ายๆ หรืออธิบายอะไรก็ตามในแบบที่คนพร้อมจะเชื่อ
อัน ที่สอง ที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ ผมพยายามลองนึกดูว่า ในสมัยก่อน พระที่เล่นบทบาทซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคม ท่านเล่นบทแบบนี้มากน้อยขนาดไหน อย่างบทบาทที่ให้พระเป็นภูมิปัญญา เรานึกถึงพระอย่างท่านพุทธทาส ท่านปัญญา หรือท่านประยุทธ์ ท่านก็ไม่ได้เล่นบทแบบนี้ แต่ท่านมีบทบาทที่ทำให้คนคิดเรื่องพุทธปรัชญา คิดถึงเรื่องความหมายในการดำรงชีวิตในแบบที่ลึกซึ้งขึ้น เวลามีปัญหาสังคม คนเหล่านี้ไม่ได้ให้คำตอบแบบผิวเผินว่า เราต้องรักกัน หรือว่า ประหยัดไว้ดีกว่าไม่ประหยัด แต่ท่านทำให้คนกลับมาตรวจสอบตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามิติตรงนี้ในพระที่เข้ามาเล่นกับปัญหาสังคม มันหายไปเลย บทบาทของพระ บทบาทของศาสนา ในการนำเสนอคำตอบที่มันลึกกับสังคม มันไม่มี ศาสนากลายเป็นอะไรไม่รู้ที่ให้คำตอบง่ายๆ ในเรื่องที่คนในสังคมรู้กันอยู่แล้วว่ามันต้องตอบแบบนี้แหละ มีความขัดแย้งทางการเมือง คำตอบคือคนไทยต้องรักกัน เศรษฐกิจไม่ดีทางแก้คือคนไทยประหยัดให้มากขึ้น สังคมมีโสเภณีมากขึ้น ทางแก้คือ ก็อย่าฟุ่มเฟือยสิจะได้ไม่ต้องไปเป็นโสเภณี คำตอบแบบนี้แสดงภูมิปัญญาอะไรในทางศาสนาหรือเปล่า ผมว่าไม่ได้แสดง เป็นคำตอบที่ทุกคนก็คิดได้ หมายความว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเราเลย เป็นเหมือนกับหมอนรองทางจิตวิญญาณที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออ... ศาสนามันยังมีอยู่นะ คำสอนมันยังมีอยู่ แต่จริงๆ มันไม่ได้ช่วยอะไร