ที่มา ข่าวสด
สัมภาษณ์พิเศษ
ประ ชาธิปัตย์กลับมาเป็นต่อหลังรอดคดียุบพรรค ประกาศเข้าสู่โหมดเลือกตั้งทันทีด้วยการปล่อยนโยบายหาเสียง ฉบับ 'ซานต้ามาร์ค' แจกแหลกยิ่งกว่าต้นตำรับ 'เสี่ยแม้วสั่งลุย'
ขณะ ที่สถานการณ์ในพรรคเพื่อไทย เกิดความระส่ำระสายอันเป็นผลพวงจากเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา บรรดาส.ส.จับทิศทางได้ว่ากระแสพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แผ่วลงเห็นได้ชัด แถมท่อน้ำเลี้ยงก็ติดๆ ขัดๆ
ในส่วนของนปช.เองก็ปรับโฉมครั้งใหญ่ ภายใต้การนำของนางธิดา โตจิราการ ที่เน้นการต่อสู้แนวทางสันติ ล่าสุดได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เรียกร้องปล่อยแกนนำเสื้อแดงที่ถูกคุมขัง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มนปช.ไว้ดังนี้
สถานการณ์การเมืองหลังประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ
ข้อ ดีจากการตัดสินยกคำร้องคือ ไม่ต้องตั้งรัฐบาลกันใหม่ เกิดภาวะสุญญากาศ หรือความไม่แน่นอนที่ประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง
แต่ขณะเดียวกันได้สะสมปัญหาความไม่พอใจ ความไม่ยอมรับเชื่อถือในระบบ โดยเฉพาะระบบยุติธรรม ซ้ำเติมวิกฤตประเทศในระยะยาว
แม้ อาจไม่ถึงขั้นเคลื่อนไหวต่อต้านทำร้ายศาล แต่จะแสดง ออกในรูปแบบอื่นๆ อันตรายในระยะยาวคือคนจะหวังพึ่งระบบยุติธรรมน้อยลง หันไปสู้นอกระบบมากขึ้น
ตอกย้ำซ้ำซากความเป็นสองมาตรฐาน
รัฐบาลประกาศนโยบายประชานิยมทันที
การ วางนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เป็นการเรียนรู้จากอดีตที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยประสบความสำเร็จในการ ดำเนินการนโยบายใดๆ ที่ประชาชนจำได้และประทับใจ
พรรคประชาธิปัตย์จึง เรียนรู้จากปรากฏการณ์พรรคไทยรักไทยในอดีตที่ให้ความสำคัญกับนโยบาย ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของประชาธิปัตย์โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจไม่สามารถสร้าง นโยบายที่เป็นเอกภาพได้ แก้ไม่ตรงจุด ทำให้ประเทศเสียโอกาส เข้าสู่วิกฤตที่หนักขึ้นและนานกว่าที่ควรจะเป็น
แต่นโยบายที่กำลัง ออกในช่วงนี้ เป็นนโยบายที่เตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งโดยตรง มีทั้งแจกแถม ทำให้ประชาชนยากที่จะจำแนกแยกแยะระหว่างประชาธิปัตย์กับรัฐบาล
แต่ หากวิเคราะห์ดีๆ ยังไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะไม่ได้ส่ง เสริมให้คนสู้หรือเพิ่มศักยภาพด้วยตัวเอง เป็นเพียงการแจก ต่างจากนโยบายไทยรักไทยที่มีหลักคิด ส่งเสริมให้คนตกปลาเป็น ไม่ใช่เอาปลาไปแจก
ต้องยอมรับว่าในระยะสั้นประชาธิปัตย์จะประสบความ สำเร็จทางการเมืองได้มากพอสมควร ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะมีงานหนัก ถ้าสู้ก็จะต้องพัฒนานโยบายของตัวเอง
อาศัยจุดแข็งสำคัญที่คนยัง เชื่อว่าพรรคที่เชื่อมโยงมาจากไทยรักไทย ทำนโยบายได้อย่างจริงจังมากกว่าพรรคอื่นๆ แต่สำคัญว่าจะพัฒนานโยบายให้ดีกว่า หรือแตกต่างประชาธิปัตย์ได้อย่างไร
ความเหมาะสมในการยุบสภาช่วงมี.ค.-เม.ย.54
หาก จะแก้วิกฤตการเมืองต้องยุบสภาไปนานแล้ว แต่สถานการณ์การเมืองได้เลยช่วงนั้นไปแล้ว ในช่วงปัจจุบันที่มีการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล ประชาธิปัตย์น่าจะติดใจกรณีพรรคร่วมสามารถแย่งที่นั่งในภาคอีสานของเพื่อไทย ได้
เขาจึงมองเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นเขตเล็ก น่าจะแย่งพื้นที่เพื่อไทยในพื้นที่ที่ไม่ถนัดได้ ฉะนั้นโอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จจึงมีสูง
และการแก้กฎหมายประกอบ รัฐธรรมนูญ และกกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จะใช้เวลา 6 เดือน นับเวลาประมาณเดือนพ.ค.54 รัฐบาลยังต้องการยุบสภาเร็วยิ่งขึ้น เพราะเห็นโอกาสร่วมกันชนะมีสูง
การจะยุบสภาช้าหรือเร็วจึงอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากนั้นคือรัฐบาลประเมินความได้เปรียบในการเลือกตั้งได้ช่วงไหน
เพื่อไทยควรต่อสู้แนวทางใด
ต้อง รักษากระแสนิยมให้สูงกว่าในปัจจุบัน เพราะต้องไปสู้กับอำนาจเงิน อำนาจรัฐของฝ่ายรัฐบาล เสียเปรียบรอบด้าน ดังนั้นต้องใช้ความล้มเหลวของรัฐบาล การทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำให้คะ แนนเสียงของรัฐบาลตก
แต่เพื่อไทยต้องทำให้เกิดกระแสนิยมด้วยการทำ ให้เกิดความเข้มแข็ง คือมีผู้นำ แกนนำที่มีศักยภาพ และนโยบายที่ประชาชนยอมรับ โดยการมีส่วนร่วมของคนมีความรู้และส่วนร่วมของประชา ชน ผ่านนโยบายหลัก 2 ข้อคือ
1.ดำเนินประเทศไปสู่ประชาธิปไตย 2.ดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของประเทศทั้งเศรษฐกิจ และสังคมซึ่งต้องรีบทำ ที่ผ่านมาการพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อม เพราะขาดทั้งแกนนำ นโยบาย การสื่อสารประชาสัมพันธ์
ในส่วนของผู้นำ ทั้งผู้ที่จะมาเป็นฝ่ายค้าน หัว หน้าพรรค และผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ อย่างแรกต้องเลิกคิดว่าถ้ามีคนมาเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว พรรคจะแตกแยก เพราะการไม่มีผู้นำที่แท้จริงก็ทำให้พรรคแตกแยกได้เช่นกัน
อาศัยช่วง ที่รัฐบาลยุ่งอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำให้เร็วเพราะมีเดิมพันที่สูงมาก ไม่เช่นนั้นเพื่อไทยจะแพ้ในครั้งหน้า และจะยากลำบากในการฟื้นพรรคให้เป็นที่นิยม
ดังนั้นต้องหาผู้นำให้ เร็วที่สุด ทั้งหัวหน้าพรรคและผู้นำฝ่ายค้าน และผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ อาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันก็ได้ แต่ต้องรีบหา
เพื่อไทยควรแยกขาดจากคนเสื้อแดงหรือไม่
ให้แยกขาดไปเลยคงไม่ได้ เพราะมีบทบาทร่วมกันทั้งตัวบุคคลและการเคลื่อนไหวต่างๆ แต่ต่อไปต้องกำหนดบทบาทของทั้งสองส่วนให้ชัดเจน
เพื่อ ไทยต้องแก้ปัญหาของประเทศมากกว่าคนเสื้อแดงที่เน้นการต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยหรือการเมืองเป็นหลัก การจะเข้ามาบริหารประเทศได้ต้องมีคนเสื้อแดงเป็นแนวร่วมสำคัญ
แต่ ต้องมีแนวร่วมที่กว้างขวางมากกว่าคนเสื้อแดง ไม่ถูกกำหนดนโยบายโดยคนเสื้อแดง เพราะจะถูกคนจำนวนมากปฏิเสธ จึงต้องจัดความสัมพันธ์ให้พอดี
เปลี่ยนแกนนำนปช.มีผลอย่างไรต่อการเคลื่อนไหว
ที่ ผ่านมาคนเสื้อแดงเน้นแนวทางสันติวิธีมาโดยตลอด เพียงแต่มีบางกลุ่มที่ควบคุมไม่ได้ ใช้ความรุนแรง และถูกเหมารวม การที่มี นางธิดา โตจิราการ เข้ามาเป็นแกนนำ จะทำให้ภาพคนเสื้อแดงชัดเจนในเรื่องสันติมากขึ้น
หากเสริมการนำได้ดี ทำหน้าที่ได้ดี จะทำให้นปช.ภายใต้การนำของนางธิดากับพวกเป็นแนวทางสันติ
ปรองดองรอบใหม่หลังนางธิดาพบนายกฯ
เป็นสัญญาณที่ดีหลังจากหลายคนหมดความหวังไปแล้ว ที่ผ่านมามีการทำงานปรองดองร่วมกันจากหลายฝ่าย แต่นายกฯไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วม
หากรัฐบาลประสานงานจนแกนนำได้รับการประกันตัวออกมา ความปรองดองด้วยการเจราจาจะเกิดขึ้น
ข้อเสนอยุติคดีคนเสื้อแดงแลกกับหยุดเคลื่อนไหว
การ ยุติคดีของคนเสื้อแดงคงยากเพราะเรื่องเดินไปแล้ว และรัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังสลายชุมนุม จนเกิดแพ้ชนะไปข้างหนึ่ง ต่อจากนี้ถ้าฝ่ายเสื้อแดงไม่ผิด รัฐบาลก็จะผิดฐานฆ่าประชาชน
รัฐบาลจึงต้องเดินหน้าหาผู้ก่อการร้ายเพื่อทำให้เห็นว่า การฆ่าประชาชนเป็นการฆ่าผู้ก่อการร้าย หรือผู้ก่อการร้ายฆ่ากันเอง
การ ต่อรองให้คนเสื้อแดงหยุดการเคลื่อนไหวก็เป็นไปไม่ได้อีก การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเป็นเรื่องจำเป็นในสภาวะบ้านเมืองเช่นนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวอย่างสันติ หาแนวทางให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย มีความยุติธรรม
ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ การเคลื่อนไหวจะค่อยๆ หมดความจำเป็นลงไป
สถานการณ์บ้านเมืองในปีหน้า
เมื่อ ยุติการชุมนุมด้วยการใช้ความรุนแรง คนเสื้อแดงจึงต้องเคลื่อนไหวต่อไปเพื่อปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่ไม่น่าจะใหญ่โตหรือรุนแรงอะไรเพราะมีบทเรียนมา ความขัดแย้งรุนแรงนอกสภาจึงไม่น่าจะมีมากนัก
ในสภาก็ไม่น่ามีอะไร เข้มข้นมาก การเรียกร้องยุบสภาก็เลยมาแล้ว และใกล้ที่รัฐบาลจะยุบสภาเอง ความขัดแย้งจึงจะไปอยู่ที่หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า