ที่มา มติชน
โดย น.ส.ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
"นโยบาย พัฒนาที่ธนาคารโลกนำมาสู่ประเทศไทย ภายใต้เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทายาท ได้สร้างคนชั้นกลางรุ่นใหม่ขึ้นในสังคมไทย คนเหล่านี้ไม่อาจทนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่กีดกันพวกตนออกไปจากการมี ส่วนร่วมทางการเมืองได้ จึงร่วมมือกับชนชั้นนำตามจารีต, ทุน และกลุ่มทหารที่ไม่พอใจการเมืองภายในกองทัพขับไล่ผู้นำเผด็จการทหารออกไปใน การปฏิวัติ 14 ตุลา"
เนื้อหาในบทความเป็นการวิเคราะห์การต่อสู้ ทางการเมือง และพื้นที่ทางการเมืองของชนชั้นกลางตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 โดยเนื้อหาของบทความเป็นการวิเคราะห์ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงด้านสังคม วัฒนธรรมและเทคโนโลยี ทำให้ชนชั้นกลางใหม่ในปัจจุบันนั้น ไม่อาจจะถูกปิดพื้นที่ทางการเมืองเช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้ และสิ่งนี้จะนำมาซึ่งความตึงเครียดทางการเมืองในที่สุด
ผู้เขียนเห็นด้วยกับบทวิเคราะห์ในบทความนี้ แต่ผู้เขียนสงสัยในความเข้าใจเบื้องต้นของบทความนี้ว่า ได้ให้ความหมายและคุณค่ากับ "ชนชั้นกลาง" มากเกินไปหรือไม่ มิพักกับการสงสัยว่า "ชนชั้นกลาง" นี้มีจริงหรือเปล่า
นอกจากนี้ การอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาทิ เหตุการณ์ปฏิวัติ 14 ตุลา ด้วยบทบาทของชนชั้นกลางนี้มีจุดที่ชวนสงสัยอยู่มาก
ข้อ สรุปของบทความนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ด้วยเป็นการวิเคราะห์ผลกระทบทางการเมืองที่เกิดจากชนชั้นกลาง ซึ่ง ศ.ดร.นิธิได้เขียนงานเกี่ยวกับ "ชนชั้นกลาง" ขึ้นมาหลายชิ้น หนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของท่านในทศวรรษที่แล้วคือ ปากไก่และใบเรือ ก็เขียนถึงชนชั้นกลางในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
แม้ว่าท่านจะเขียนบทความเกี่ยวกับชนชั้นกลางไว้หลายชิ้น แต่ ศ.ดร.นิธิก็ไม่ได้ระบุว่าใครกันแน่ที่เป็น "ชนชั้นกลาง" โดยท่านเองได้กล่าวโดยนัยว่า ตำแหน่งแห่งที่ของความเป็น "ชนชั้นกลาง" นั้น "เลื่อนไหล" เพราะวันหนึ่งคนคนหนึ่งที่เคยเป็นชนชั้นกลาง อาจจะเป็นคนชั้นล่าง และคนที่เคยเป็นชนชั้นล่าง อาจจะถีบตัวมาเป็นชนชั้นกลาง ตัวแปรสำคัญหนึ่งที่ชี้วัดความเป็นชนชั้นกลางคือ "รายได้"
โดยบทความฉบับนั้นกล่าวว่า "นี่คือคนชั้นกลางรุ่นใหม่ (กว่า) ซึ่งพื้นที่ทางการเมืองภายใต้กำกับยังไม่ได้ผนวกเข้าไป จากการสำรวจของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย พบว่าคนเสื้อแดงแถบนครปฐมมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวถึงกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ห่างไกลสุดกู่จากเส้นความยากจนของสภาพัฒน์"
แสดงว่า ศ.ดร.นิธิวัดความเป็นชนชั้นกลางจากระดับรายได้ด้วยส่วนหนึ่ง
กลับมาที่บทบาทของชนชั้นกลางกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกที
นอกจากจะไม่สามารถกำหนดได้อย่าง "ตายตัว" ใครเป็นชนชั้นกลางแล้ว ยังมีความน่าสงสัยเกี่ยวกับเรื่องบทบาทของชนชั้นกลางกับการเปลี่ยนแปลงทาง การเมืองอีก จึงได้เกิดคำถามสำหรับข้อสมมติฐานดังกล่าวว่า
"ชนชั้นกลางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจริงหรือไม่"
เพราะเมื่อวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดในการปฏิวัติ 14 ตุลา จากงานศึกษา "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ" ของ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ แล้ว กลับพบว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติ 14 ตุลา เพื่อสลัดต่อการครอบงำของเผด็จการอำนาจนิยมคือ ความร่วมมือระหว่าง "ชนชั้นนำตามจารีต" และ "นักศึกษา" ซึ่งเป็นอนุรักษนิยมสุดขั้วกับเสรีนิยมสุดเดช ซึ่งส่วนผสมของอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม จะกลายเป็นชนชั้นกลางได้อย่างไร
คำอธิบายที่มักกล่าวถึง "ชนชั้นกลางกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์ปฏิวัติ 14 ตุลา" อยู่ในทำนองที่ว่า เพราะในสมัยจอมพลสฤษดิ์นั้นมีการพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความต้องการแรงงานมีฝีมือ จึงได้เกิดมหาวิทยาลัยขึ้น และมหาวิทยาลัยเป็นตัวผลิตนักศึกษา
ดังนั้น นักศึกษา (ซึ่งจะกลายเป็นชนชั้นกลางต่อไป) จึงเกิดความไม่พอใจกับระบอบเผด็จการทหาร ฯลฯ
คำอธิบายดังกล่าวเป็นคำอธิบายที่โยงไปโยงมาชนิดที่พอจะทำให้ "การพัฒนาเศรษฐกิจ" กับ "การปฏิวัติ 14 ตุลา" มาเกี่ยวข้องกันได้ แต่หากจะพยายามหาชนชั้นกลางที่เกิดจากระบอบสฤษดิ์นั้น ไม่น่าจะใช่นักศึกษา แต่น่าจะเป็นพ่อค้าระดับเอสเอ็มอี และข้าราชการระดับกลางเช่นเหล่า "อาจารย์มหาวิทยาลัย" เพราะเนื่องจากในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยหัวเมืองขึ้นมากมาย (เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น)
อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเหล่านี้เป็นชนชั้น ใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจริงๆ มีรายได้ มีรสนิยม มีความเป็นตัวของตัวเอง (ซึ่งน่าจะเข้าคอนเซ็ปท์ความเป็น "ชนชั้นกลาง" ของ ศ.ดร.นิธิมากกว่านักศึกษา)
แต่ เมื่อมาโยงถึงบทบาทในการปฏิวัติ 14 ตุลา นั้นพบว่า บทบาทหลักในเหตุการณ์ปฏิวัติ 14 ตุลา นั้น เป็นบทบาทที่มาจากความคิดอันเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองของนักศึกษาในการ ขับไล่เผด็จการอำนาจนิยม
มาถึงจุดนี้จึงน่าคิดว่า ได้มีการนำทฤษฎีชนชั้นกลางมาอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองไทย แบบน่าสงสัย มายาคติเรื่องนี้ได้ถูกส่งต่อมาที่การชุมนุมในช่วงพฤษภาทมิฬ อันมีสถิติที่อ้างต่อกันมาจากแหล่งเดียวกันว่าผู้ชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นมีโทรศัพท์มือถือใช้ มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีระดับรายได้ค่อนข้างมาก
แต่ในช่วงปี พ.ศ.2535 นั้น โทรศัพท์มือถือยังไม่ได้มีใช้กันแพร่หลาย ผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือใช้ น่าจะเป็นชนชั้นนำหรือกลุ่มคนประเภทนายทุน-เจ้าสัว มากกว่าชนชั้นกลาง ใช่หรือไม่
ชนชั้นกลางนั้นจริงๆ แล้วมีบทบาทในการปฏิวัติ 14 ตุลา หรือไม่เป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด พวกเขาเป็นชนชั้นที่ต้องการสถานภาพเดิม (Status quo) เหนือกว่าใคร เพราะชนชั้นกลางไม่เหมือนชนชั้นล่างที่ "ไม่มีอะไรจะเสีย" และไม่เหมือนชนชั้นนำที่ "ต้องการจะเสี่ยงเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ชนชั้นกลางเป็นผู้ต้องการเสถียรภาพให้กับระบอบ มากกว่าจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงระบอบ
การอยู่รอดของชนชั้นกลางอยู่ที่การ "อยู่ได้นานก็สนุกได้นาน" พวกเขาต้องการให้คงสภาพสังคมเช่นเดิม ที่มีคนอยู่ข้างใต้จำนวนหนึ่ง เพียงพอที่จะให้พวกเขาเก็บเกี่ยวส่วนเกินต่อไปวันๆ โดยนัยยะนี้ ชนชั้นกลางจึงเป็นพวกอนุรักษนิยมที่สุด และไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เน้นที่การสร้างชนชั้นกลาง เพราะชนชั้นกลางไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การปฏิวัติ (ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันไม่ใช่การปฏิรูป) ครั้งใดๆ ในโลกก็ไม่ได้เกิดเพราะชนชั้นกลางแต่เกิดเพราะชนชั้นนำ หรือการร่วมมือระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่าง หากมีการเปลี่ยนแปลง ชนชั้นกลางต้องการให้ค่อยๆ เกิดขึ้น เพราะเขาต้องการเวลาปรับตัว
มายาคติเรื่อง "ชนชั้นกลางกับระบอบประชาธิปไตย" จึงเป็นเรื่องที่น่าทบทวน เพราะจากประวัติศาสตร์และลักษณะของชนชั้นกลางแล้วเป็นไปได้ยากที่ชนชั้นกลาง จะมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ในลักษณะการปฏิรูป
ชนชั้นกลางไม่ได้รักระบอบใดระบอบหนึ่ง (รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยด้วย) แต่พวกเขาต้องการสร้างเสถียรภาพให้กับระบอบเพื่อให้ตนเองคงสถานภาพ "กลางๆ" เช่นนั้นต่อไป
ไม่ว่าระบอบนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือ "ไม่" ก็ตาม