ที่มา ประชาไท
คำ สอนที่กล่าวว่า “ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นคำสอนที่ชาวพุทธได้ยินกันมา ตั้งแต่เริ่มจำความได้ ต่อมา เราได้ยินคำว่า “ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว – หรือทำดีกลับได้ชั่ว หรือทำชั่วกลับได้ดี” ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ทุกข์ย่อมติดตามเขาไป
เพราะเหตุนั้น เหมือนล้อหมุนไป ตามรอยเท้าโคผู้ลากเกวียนไปอยู่ฉันนั้น
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ
ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมติดตามเขาไป
เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัวฉันนั้น”
(ขุ. ธมม. 25/11)
…
พุทธ ศาสนาเป็นปรัชญาอเทวนิยม ที่ปฏิเสธความมีอยู่ของพระเจ้า ในฐานะผู้สร้างโลก และจักรวาล พุทธปรัชญาไม่เชื่อว่า จะมีผู้ใดกำหนดชะตากรรมของชีวิตมนุษย์ และสัตว์โลก, หรือที่เรียกว่าพรหมลิขิต พระเจ้าลิขิต - พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย” หรือทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตาม “กรรม”
สิ่งใดสิ่ง หนึ่ง เมื่อเกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น – เมื่อตั้งอยู่ เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้ตั้งอยู่ เมื่อเปลี่ยนแปร เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เปลี่ยนแปร – เมื่อแตกดับ เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้แตกดับ ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกดับไปโดยปราศจากเหตุปัจจัย
กฎแห่งเหตุปัจจัย ในธรรมชาติ คือกฎแห่งเหตุ และผล – ฉะนั้น “กฎแห่งกรรม” ในฐานะที่เป็นกฎแห่งเหตุผลก็คือกฎธรรมชาติ “เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น ก็ย่อมมีความเป็นไปอย่างนั้น” ซึ่งทุกสิ่งในธรรมชาติ ย่อมดำเนินไปตามกฎนี้
คำสอนเรื่องกรรม ในพระพุทธศาสนา มีอะไรบ้าง?
คำ ว่า “กรรม” แปลว่า การกระทำ – จำแนกตามมูลเหตุ มีทั้งกรรมดี (บุญ-กุศลกรรม) และกรรมชั่ว (บาป-อกุศลกรรม) ซึ่งบุคคลกระทำได้ (ผ่านทวาร) 3 ทาง (กายกรรม – วจีกรรม – มโนกรรม) - - “มโนกรรม” เป็นการกระทำที่สำคัญที่สุด เพราะมโนกรรม คือ ความเชื่อ, ความเห็น, ทฤษฏี, แนวความคิด และค่านิยมต่างๆ - ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่าสิ่งนี้ “ทิฏฐิ” เป็นตัวกำหนดความเป็นไปของบุคคล - เป็นตัวกำหนดคติของสังคม ถ้าเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” (ความเห็นผิด) การคิด, การพูด, การกระทำ ก็จะดำเนินไปในทางที่ผิด ดังพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า “...ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด, ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไปฯ” [1]
การกระทำที่เป็นกรรมดี-ชั่วได้ จะต้องมีเจตนาประกอบ (มีความจงใจ) – ดังพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า
“…เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ” [2]
เจตนา ของการกระทำ แบ่งเป็น 3 อย่าง คือ 1) บุพเจตนา - เจตนาก่อนทำ, 2) มุญจนเจตนา - เจตนาในขณะที่กระทำ 3) อปราปรเจตนา – เจตนาเมื่อได้กระทำไปแล้ว [3] - การกระทำโดยมีเจตนาเกิดขึ้นในตอนใดตอนหนึ่ง ถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น การกระทำที่ไม่มีเจตนา (อัพยากฤตกรรม-การกระทำที่เป็นกลาง) เช่น การยกเก้าอี้จากที่หนึ่งไปไว้อีกที่หนึ่ง - ไม่ถือเป็นกรรม
สิ่ง มีชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ในฐานะที่เป็นกฎทางศีลธรรมครอบคลุมไปถึงก็เฉพาะ สิ่งมีชีวิตที่สามารถมี “เจตจำนงเสรี” ได้เท่านั้น ส่วนสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีพโดยอาศัย “สัญชาตญาณ” การกระทำของสิ่งมีชีวิต (พวกสัตว์เดรัจฉาน) ประเภทนี้ ไม่สามารถกำหนดด้วยคุณค่าทางศีลธรรมได้ คือไม่อาจกำหนดว่าเป็นพฤติกรรมที่ดี หรือชั่ว ตามมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมมนุษย์!!!
ผลของการกระทำกรรม (วิบากกรรม) คืออะไร???
“บุคคล หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น – ผู้กระทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้กระทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว” พระพุทธพจน์ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงหลักการทั่วไปของกฎแห่งกรรม (กฎนิยาม 5)[4] – เหตุเป็นอย่างไร ผลย่อมเป็นเช่นนั้น เปรียบเทียบว่า เมื่อปลูกมะม่วง ผลที่ได้รับก็ต้องเป็นมะม่วง – ถ้ากระทำกรรมดี ผลที่ได้รับก็จะต้องเป็นผลดี
กรรม ทั้งหลาย ทั้งกรรมดี-กรรมชั่ว เมื่อบุคคลทำไปแล้ว “ย่อมก่อให้เกิดผล” – กรรมบางชนิดให้ผลเร็ว บางชนิดให้ผลช้าความสัมพันธ์ระหว่างกรรม กับผลของกรรม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล – ผล, จะเป็นอย่างไร ขึ้นกับเหตุแห่งกรรมนั้น ๆ เพราะมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการแสดงออกผ่านการกระทำของตน ทางกาย, ทางวาจา, ทางใจ - - มันคือกฎธรรมชาติ!!!
“กาลวิบัติ” – ข้อยกเว้นของกฎแห่งกรรม !!!
คำสอนที่กล่าวว่า “ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว” เป็นคำสอนที่ชาวพุทธได้ยินกันมา ตั้งแต่เริ่มจำความได้ ต่อมา เราได้ยินคำว่า “ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว – หรือทำดีกลับได้ชั่ว หรือทำชั่วกลับได้ดี” ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
เพราะผลของกรรมมี 2 แบบ – แบบแรก คือ “ผลกรรมเกิดขึ้นทันที” ที่บุคคลได้กระทำกรรมนั้นลงไป หมายความว่า ถ้าเป็นการทำชั่ว (กรรมชั่ว) ก็เป็นการเพิ่มเชื้อชั่ว (อาสวะ) ให้กับตัวเอง – ทำให้คุณธรรมในตัวเองตกต่ำลง, ทำให้จิตใจถูกความชั่วครอบงำ, ทำให้นิสัย-สันดานต่ำทรามลง, ทำให้วิถีชีวิตอยู่ในท่ามกลางความเสื่อม และทำให้สังคมที่ผู้กระทำกรรมชั่วอาศัยอยู่ต้องเดือดร้อน - - แต่ถ้าเป็นการทำความดี (กรรมดี) จะเป็นการเพิ่มคุณค่า (บารมี) ให้กับตัวเอง ทำให้คุณธรรมในตัวเองสูงส่งยิ่งขึ้น
ผลของกรรม แบบที่สอง คือ “ผลกรรมเกิดที่ขึ้นภายหลัง” ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และเหตุปัจจัยอื่นๆ ผลกรรมเกิดที่ขึ้นภายหลังนี้ – พุทธปรัชญามีหลักคำสอนว่า กรรมดีหรือกรรมชั่วที่บุคคลได้กระทำลงไปนั้น “อาจมีผล หรืออาจไม่มีผลก็ได้???” – เพราะว่าเมื่อกรรมจะให้ผลได้นั้น อิทธิพลของกรรม ไม่ใช่อิทธิพลแต่เพียงสิ่งเดียว หากต้องมีอิทธิพลภายนอกอื่นๆ ที่อาจสนับสนุน หรือขัดขวางอิทธิพลของผลกรรมก็ได้ อิทธิพลภายนอกนั้น เช่น กฎหมาย, ขนบธรรมเนียมประเพณี, ค่านิยม และอิทธิพลที่เนื่องด้วยกาลเทศะ อิทธิพลของสิ่งที่สนับสนุน และขัดขวางในการให้ผลของกรรมที่เกิดขึ้นภายหลังนี้ พุทธปรัชญาได้แสดงไว้ปรากฏอยู่ใน วิภังคปกรณ์-ทสกนิเทศ (35/840) แห่งพระอภิธรรมปิฎก เรื่อง “สมบัติ 4 - วิบัติ 4” [5]
“ญาณที่รู้วิบากของกัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ตามความเป็นจริง โดยฐานะ โดยเหตุ ของพระตถาคต เป็นไฉน?
พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อัน “คติสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อัน “อุปธิสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อัน “กาลสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อัน “ปโยคสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อาศัย “คติวิบัติ” จึงได้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อาศัย “อุปธิวิบัติ” จึงให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อาศัย “กาลวิบัติ” จึงให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบาป บางอย่าง อาศัย “ปโยควิบัติ” จึงให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อัน “คติสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อัน “อุปธิสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อัน “กาลสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อัน “ปโยคสมบัติ” ห้ามไว้ จึงไม่ให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อาศัย “คติวิบัติ” จึงได้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อาศัย “อุปธิวิบัติ” จึงให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อาศัย “กาลวิบัติ” จึงให้ผลก็มี
กัมมสมาทาน (การกระทำกรรม) อันเป็นบุญ บางอย่าง อาศัย “ปโยควิบัติ” จึงให้ผลก็มี”
คำ ว่า “กัมมสมาทาน อันเป็นบาป” ก็คือ “กรรมชั่ว” และ “กัมมสมาทาน อันเป็นบุญ” ก็คือ “กรรมดี” จากข้อความในวิภังคปกรณ์นี้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลภายนอก 8 อย่าง ที่มีผลต่อการให้ผลกรรมเกิดที่ขึ้นภายหลังแบ่งออกเป็น “สมบัติ 4 - วิบัติ 4“ ซึ่งในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้บรรยายไว้อย่างละเอียด ดังนี้
สมบัติ 4 [6] คือ ข้อดี, ความเพียบพร้อม, ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งอำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี และไม่เปิดให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี - accomplishment; factors favorable to the ripening of good Karma)
1. คติสมบัติ (สมบัติแห่งคติ, ถึงพร้อมด้วยคติ, คติให้; ในช่วงยาวหมายถึงเกิดในที่กำเนิดอันอำนวย หรือที่เกิดอันเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินดีหรือทำถูกเรื่อง ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นที่นั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดี หรือการเจริญงอกงามของความดี ทำให้ความดีปรากฏผลโดยง่าย - accomplishment of birth; fortunate birthplace; favorable environment, circumstances or career)
2. อุปธิสมบัติ (สมบัติ แห่งร่างกาย, ถึงพร้อมด้วยรูปกาย, รูปกายให้; ในช่วงยาวหมายถึงมีกายสง่า สวยงาม บุคลิกภาพดี ในช่วงสั้นหมายถึง ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี - accomplishment of the body; favorable or fortunate body; favorable personality, health or physical conditions)
3. กาลสมบัติ (สมบัติแห่งกาล, ถึงพร้อมด้วยกาล, กาลให้; ในช่วงยาว หมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข มีการปกครองที่ดี คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม สามัคคีกัน ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงทำถูกกาล ถูกเวลา - accomplishment of time; favorable or fortunate time)
4. ปโยคสมบัติ (สมบัติแห่งการประกอบ, ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร, กิจการให้; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ถูก นำความเพียรไปใช้ขวนขวายประกอบการที่ถูกต้องดีงาม มีปกติประกอบกิจการงานที่ถูกต้อง ทำแต่ความดีงามอยู่แล้ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อทำกรรมดี ก็ทำให้ถึงขนาด ทำจริงจัง ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการที่เหมาะกับเรื่อง หรือทำความดีต่อเนื่องมาเป็นพื้นแล้ว กรรมดีที่ทำเสริมเข้าอีก จึงเห็นผลได้ง่าย - accomplishment of undertaking; favorable, fortunate or adequate undertaking)
วิบัติ 4 [7] คือ ข้อเสีย, จุดอ่อน, ความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี แต่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบบกพร่อง เปิดช่องให้กรรมชั่ว - failure; defect; unfavorable factors affecting the ripening
of Karma.)
1. คติวิบัติ (วิบัติแห่งคติ, คติเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดในกำเนิดต่ำทราม หรือที่เกิดอันไร้ความเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึงที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินไม่ดี หรือทำไม่ถูกเรื่องไม่ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นนั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น ไม่เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดีหรือการเจริญงอกงามของความดี แต่กลับเปิดทางให้แก่ความชั่วและผลร้าย - failure as regards place of birth; unfavorable environment, circumstances or career)
2. อุปธิวิบัติ (วิบัติแห่งร่างกาย, รูปกายเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงร่างกายวิกล วิการ ไม่งดงาม บุคลิกภาพไม่ดี ในช่วงสั้นหมายถึงสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก - failure as regards the body; deformed or unfortunate body; unfavorable personality, health or physical conditions.)
3. กาลวิบัติ (วิบัติแห่งกาล, กาลเสีย; ในช่วงยาวหมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกไม่มีความเจริญ หรือบ้านเมืองมีแต่ภัยพิบัติ ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มีการกดขี่เบียดเบียนกันมาก ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ในช่วงสั้นหมายถึงทำผิดกาลผิดเวลา - failure as regards time; unfavorable or unfortunate time)
4. ปโยควิบัติ (วิบัติแห่งการประกอบ, กิจการเสีย; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ผิด ประกอบกิจการงานที่ผิด หรือมีปกติชอบกระทำแต่ความชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อกระทำกรรมดี ก็ไม่ทำให้ถึงขนาด ไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ทำจับจด ใช้วิธีการไม่เหมาะกับเรื่อง หรือเมื่อประกอบความดีต่อเนื่องมา แต่กลับทำความชั่ว หักล้างเสียในระหว่าง - failure as regards undertaking; unfavorable, unfortunate or inadequate undertaking)
เหตุที่ “ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว – หรือทำดีกลับได้ชั่ว หรือทำชั่วกลับได้ดี” จึงเป็นไปด้วยประการฉะนี้!!!
ท่านพุทธศาสนิกชน, วิญญูชน และมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย พึ่งพิจารณาใคร่ครวญว่า “กฎกรรมนิยาม”
ที่ พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ กับปรากฏการณ์ “กฎแห่งกรรม” ของบ้านเมืองนี้ แท้ที่จริงแล้วเรื่องราวทั้งหมด มันเกิดขึ้นมาจากเหตุอะไร? !!!
ขอจบด้วยพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า
“เธอทั้งหลายพึงทราบกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม
ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม
เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่ง
ทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับทุกข์ฯ” [8]
…
อ้างอิง:
[1] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=884&Z=949&pagebreak=0
[2] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=9611&Z=9753&pagebreak=0
[3] http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=706&p=1
[4] http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=223
[5] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka3/v.php?B=35&A=11405&Z=11721&pagebreak=0
[6] http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=177
[7] http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=176
[8] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_name.php?name=๙._นิพเพธิกสูตร&book=9&bookZ=33