ที่มา ประชาไท
ศาลอยู่คู่กับคนไทยมานมนานแล้ว ในสมัยก่อนแทบทุกบ้านมีศาลพระภูมิ และปัจจุบันบ้านหลายหลังก็ยังมีศาลพระภูมิอยู่ริมถนนโดยเฉพาะบริเวณใต้ ต้นไม้ใหญ่ ทางโค้ง และจุดเกิดอุบัติเหตุมักมีศาลเพียงตา บริเวณดอนปู่ตาในภาคอีสานก็มักมีศาลปู่ตาตั้งอยู่ ชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของคนไทยจึงดูจะขาดศาลไม่ได้
ศาลเหล่านี้ มักถูกหมายความให้เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเรื่องผีหรือสิ่ง เหนือธรรมชาติที่ตกทอดมาแต่อดีตและดำรงอยู่เคียงคู่กับพุทธศาสนาซึ่งแพร่ เข้ามาภายหลัง ทำหน้าที่คล้ายกับกลไกควบคุมทางสังคม เช่น ดอนปู่ตาซึ่งศาลปู่ตาตั้งอยู่มักเป็นบริเวณป่าริมป่าช้า ข้อห้ามการทำบาปหรือการทำผิดศีลธรรมต่างๆ ในบริเวณดอนปู่ตาจึงมีส่วนช่วยควบคุมการตัดไม้ทำลายป่าในบริเวณดังกล่าว เพราะความที่คนกลัวในอิทธิฤทธิ์ของผีปู่ตา ในทำนองเดียวกัน ศาลพ่อตาหินช้างที่จังหวัดชุมพรมีส่วนช่วยควบคุมพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน (ไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะการเคารพกฎจราจร) เพราะความที่คนเกรงกลัวในความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อตาหินช้าง ต้นไม้บริเวณดอนปู่ตาคงจะถูกตัดทำลายมากกว่าที่เป็นอยู่หากไม่มีศาลปู่ตา กำกับดูแล ผู้คนคงจะขับรถผ่านบริเวณเชิงเขาด้วยความสำรวมลดลงหากไม่มีศาลพ่อตาหินช้าง จับตาอยู่ ศาลจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและกฎระเบียบโดยตรง
อย่าง ไรก็ดี ผมคิดว่าคุณลักษณะของอำนาจและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับศาลเหล่านี้ยังไม่ ได้รับการขยายความมากนัก นักวิชาการจำนวนหนึ่งหมายความความเชื่อเรื่องผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติใน สังคมไทยว่าเป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์อำนาจ แต่ไม่ได้สำรวจต่อว่าอำนาจดังกล่าวนี้มีลักษณะจำเพาะอย่างไร ผมคิดว่าความน่าสนใจของอำนาจที่อยู่ในรูปกฎระเบียบเหล่านี้มีอย่างน้อยสอง ประการ ประการแรก กฎระเบียบของศาลศักดิ์สิทธิ์ไม่แบ่งช่วงระหว่างการบัญญัติ การบังคับใช้ และขั้นตอนอื่นๆ โดยทั่วไปเรามักจะคุ้นเคยกับการจำแนกกฎระเบียบออกเป็นช่วงๆ เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมาย ตำรวจบังคับใช้กฎหมาย ผู้พิพากษาประเมินว่าผลการบังคับใช้กฎหมายควรเป็นเท่าไหร่อย่างไร โดยมีการลงทัณฑ์แปลผลการประเมินของผู้พิพากษาเป็นปฏิบัติการ แต่ศาลศักดิ์สิทธิ์ทั้งบัญญัติและบังคับใช้กฎระเบียบ รวมทั้งประเมินผลการบังคับใช้กฎระเบียบและแปลผลดังกล่าวเป็นปฏิบัติการใน คราวเดียวกัน จึงไม่มีขั้นตอนหรือช่วงเวลาต่างๆ ของกฎระเบียบอีกต่อไป
ประการ ที่สอง กฎระเบียบเหล่านี้ไม่ได้ใช้บังคับในมิติเดียวกันกับที่ถูกบัญญัติขึ้น ข้อห้ามในศาลปู่ตาไม่ได้ใช้บังคับภูตผีวิญญาณซึ่งอยู่ในภพเดียวกับผีปู่ตา เท่าๆ กับใช้บังคับมนุษย์ซึ่งอยู่ต่างภพ เรื่องเล่าเกี่ยวกับอิทธิปาฏิหาริย์ของผีปู่ตาไม่ได้เป็นเรื่องว่าผีปู่ตาไป ปราบภูตผีตนใดเสียราบคาบ เท่าๆ กับเป็นเรื่องว่าผีปู่ตาได้ลงโทษมนุษย์ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบที่วางไว้อย่างไร ซึ่งส่งผลให้กฎระเบียบของผีปู่ตามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ชวนให้ไม่อยากละเมิดมากขึ้น ซึ่งการบังคับใช้กฎระเบียบในลักษณะข้ามภพข้ามมิติเช่นนี้ต่างจากการบังคับ ใช้กฎระเบียบตามกฎหมาย เช่น กฎหมายมักเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายไหนมีอำนาจหน้าที่ อะไร ความผิดอะไรที่เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายไหนสามารถบังคับใช้กฎหมายฉบับไหนได้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ไม่มีอำนาจหน้าที่ไล่จับหาบเร่แผงลอยฉันใด เทศกิจก็ไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าทลายแหล่งผลิตยาเสพติดฉันนั้น ฉะนั้น การที่ใครมีสิทธิอำนาจบังคับใช้กฎระเบียบอะไรจึงขึ้นอยู่กับตำแหน่งหน้าที่ ภายใต้กฎหมายเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าคนไทยจำนวนมากไม่ได้วางอำนาจศักดิ์สิทธิ์กับอำนาจตามกฎหมายไว้คนละ ขั้วอย่างนั้น แต่มีแนวโน้มที่จะทำให้อำนาจทั้งสองประเภทนี้เหลื่อมซ้อนกันอยู่ตลอดเวลา เช่น คนที่เข้ารับราชการโดยเฉพาะในหน่วยงานที่มีอำนาจจำพวกทหารตำรวจ นอกจากคาดหวังว่าจะเข้าไปบังคับใช้กฎหมายภายใต้ตำแหน่งหน้าที่แล้ว พวกเขาจำนวนมากยังต้องการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ไปสร้างและบังคับใช้กติกาที่ อยู่นอกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบบ่อนการพนัน หรือการวางกฎเกณฑ์คิวรถโดยสาร ขณะเดียวกันพวกเขาก็คาดหวังว่าตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้จะทำให้พวกเขามี “เส้น” ที่สามารถให้บริการกับผู้ต้องการก้าวข้ามหรือลัดระเบียบขั้นตอนปกติ ซึ่งความคาดหวังในอำนาจตามกฎหมายเช่นนี้คล้ายคลึงกับความคาดหวังที่เรามีต่อ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ คนไทยจำนวนมากบนบานศาลกล่าว (หรืออีกนัยหนึ่งคือติดสินบน) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องเซ่นนานาชนิดเพื่อให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่ การงานหรือแคล้วคลาดจากภยันตราย เพราะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีพลังอำนาจที่สามารถแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลง กฎระเบียบในโลกปกติได้
ขณะเดียวกันคนไทยจำนวนไม่น้อยต้องการให้รวบ ระเบียบขั้นตอนตามกฎหมายให้ เหลือเพียงห้วงเวลาเดียวเหมือนเช่นปฏิบัติการของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในการเผชิญกับการระบาดของยาเสพติด หลายคนกลัวและสิ้นหวังจนกระทั่งเพิกเฉยหรือว่าให้ท้ายการใช้วิธีนอกกฎหมาย จัดการกับผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด เพราะเห็นว่ามีประสิทธิภาพกว่าการอาศัยระเบียบขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องผ่าน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ในทำนองเดียวกัน ในการเผชิญกับวิกฤตการเมือง คนไทยจำนวนมากหันหลังให้กับการเมืองแบบตัวแทนและไปหวังพึ่งการเมืองแบบแต่ง ตั้ง เพราะเชื่อว่าสามารถปกครองบ้านเมืองได้ดีกว่าหรือมีคุณธรรมกว่าการเมืองแบบ ตัวแทนที่กระบวนการและขั้นตอนต่างๆ เปิดโอกาสให้กับการฉ้อฉล พวกเขาเชื่อว่าด้วยการอาศัยผู้มีบุญญาบารมีที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเช่นศาล ศักดิ์สิทธิ์ก้าวข้ามขั้นตอนของกฎระเบียบโดยทั่วไป จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถฟันฝ่าวิกฤติต่างๆ ที่รุมเร้าอยู่ได้
ฉะนั้น อำนาจของศาลจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความยุติธรรม เพราะคนไทยจำนวนมากไม่ได้คาดหวังให้ศาลใช้อำนาจในการประยุกต์กฎระเบียบเข้า กับความผิดอย่างเสมอกัน แต่ต้องการให้มีลักษณะเป็นอาญาสิทธิ์ที่สามารถร้องขอหรือติดสินบนให้ก้าว ก่ายหรือแทรกแซงกฎระเบียบในโลกปกติได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความพิสมัยของศาลด้วย ขณะเดียวกันคนไทยจำนวนมากก็ไม่ได้คาดหวังให้อำนาจศาลอยู่ในขั้นตอนหนึ่ง ของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ แต่ต้องการให้เป็นอำนาจชนิดที่สามารถก้าวข้ามหรือรวบรัดขั้นตอนของกฎระเบียบ ให้เหลือเพียงคราวเดียวเพื่อคลี่คลายปัญหาที่อำนาจในขั้นตอนธรรมดาไม่สามารถ ทำได้ การที่รัฐประหาร 19 กันยายน ได้รับการตอบรับจากคนจำนวนมาก ก็เพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นการใช้อาญาสิทธิ์ที่สามารถเอาผิดกับอดีตนายกฯ ทักษิณซึ่งอำนาจตามขั้นตอนปกติไม่สามารถทำได้ ในทำนองเดียวกัน การที่คนจำนวนมากไม่ตั้งคำถามกับความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการและคำตัดสิน ของศาลที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมืองต่างๆ ก็เพราะพวกเขาเชื่อว่าเป็นวิธีการที่สามารถชำระล้างความสกปรกของการเมืองไทย ซึ่งไม่อาจคาดหวังจากระเบียบขั้นตอนที่มีอยู่ได้
เพราะเหตุนี้ การที่พรรคประชาธิปัตย์รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีแม้จะละเมิดกฎระเบียบชุด เดียวกันกับพรรคการเมืองอื่นโดยที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจจึง เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะนอกจากจะเป็นเพราะคำวินิจฉัยตรงกับจริตของบุคคลเหล่านี้แล้ว ยังเป็นเพราะศาลเองก็พร้อมให้ใครต่อใครได้ติดสินบนจนเอียงกระเท่เร่มา ตั้งแต่ต้น
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับ 16 ประจำวันที่ 17-23 ธันวาคม 2553