ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
ถ้าหาก 'จุดเปลี่ยน' ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่การชนะฟาวล์คดียุบพรรค
จุดเปลี่ยนของพรรคเพื่อไทยน่าจะอยู่ที่ผลเลือกตั้งซ่อม 5 เขต 5 จังหวัดเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.
การที่พรรคเพื่อไทยได้มาเพียง 1 ที่นั่ง ในเขตที่เป็น 'ของตาย' อย่างเขต 2 ขอนแก่น
ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในอย่างมาก
ระดับแกนนำยอมรับว่าวางยุทธศาสตร์หาเสียงผิด
ขณะเดียวกันลูกพรรคหลายคนโดยเฉพาะที่เป็นส.ส. ภาคอีสาน เริ่มไม่มั่นใจอนาคตตัวเองภายใต้ชายคาพรรคเพื่อไทย
ข่าวสะพัดเตรียมย้ายไปสังกัดพรรคอื่น
ยิ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์โหมกระหน่ำปล่อยนโยบายเอาใจรากหญ้าภายใต้ชื่อยี่ห้อ 'ประชาวิวัฒน์' ออกมามากเท่าไหร่
จะยิ่งเห็นความหวั่นไหวของพลพรรคเพื่อไทยมากขึ้นเท่านั้น
หวั่นไหวเพราะรู้ดีว่านโยบายลด แลก แจก แถม ทำนองนี้
ภายใต้รหัสเรียกขาน 'ประชานิยม'
เคยเป็น 'ตัวช่วย' ให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายมาแล้ว 2 ครั้งเมื่อปี 2544 และ 2548
แม้นักวิชาการ ครูบาอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จะ วิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายป้อนข้าวป้อนน้ำเช่นนี้
ระยะยาวจะเป็นเชื้อร้ายทำให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวรากหญ้ากลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตไปในที่สุด
แต่ในทางการเมืองต้องยอมรับ นโยบายประชานิยมคือเครื่องมือทรงพลังของพรรคไทยรักไทยในอดีต
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าพรรคประชาธิปัตย์จะลอกเลียนแบบ
แถมยังแจกแหลก แจกหนักกว่า
กะให้ชาวบ้านลืมหน้าเจ้าของประชานิยมต้นตำรับเดิมไปเลย
เมื่อการเมืองไทยยังผลัดกันปู้ยี่ปู้ยำประเทศแบบทีใครทีมัน
ป่วยการพรรคเพื่อไทยจะมาร้องแรกแหกกระเชอเรื่องประชาวิวัฒน์
ภายหลังเกิดจุดเปลี่ยนในสนามเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา
ทางเดียวคือพรรคเพื่อไทยต้องรีบกลับมาทบทวนตัวเองโดยด่วน
อะไรคือจุดอ่อน อะไรคือจุดแข็ง
การตะบี้ตะบันพึ่งพาแต่กับคนอยู่ต่างประเทศ ถึงเวลาต้องเพลาๆ ลงบ้างหรือไม่
ไม่ต้องถึงขนาดต้องตัดขาดจากกันโดยสิ้นเชิง
เอาแค่จัดวางตำแหน่งความสัมพันธ์ใหม่ให้เหมาะสมระหว่าง 'เพื่อไทย-ทักษิณ-เสื้อแดง'
เร่งหาหัวหน้าตัวจริง จะเฮียมิ่ง เฮียเหลิม พ่อใหญ่จิ๋ว ก็เอาให้ชัดสักคน
ได้เมื่อไหร่ก็วางนโยบายให้เสร็จสรรพ ใช้เป็นตัวนำท่อน้ำเลี้ยง
น่าจะช่วยให้พรรคฟื้นคืนจากอาการสลบไสลขึ้นมาได้บ้าง