ที่มา บางกอกทูเดย์
ประชาภิวัฒน์ แสนล้านบาท!
ในแวดวงการเมืองทั่วโลก นโยบายประชานิยม ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย
แต่ สำหรับประเทศไทย การทำลายล้างทางการเมือง โดยเฉพาะหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 49 ได้มีความพยายามสร้างภาพให้ นโยบายประชานิยม เป็นสิ่งเลวร้าย
พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะน้นเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้มีการโจมตีนโยบายประชานิยมอย่างหนัก และต่อต้านอย่างเต็มที่
แต่ มาวันนี้พรรคประชาธิปัตย์เองกลับเดินหน้าเต็มลูกสูบในการทำนโยบาย ประชานิยม เพียงแต่ตามสไตล์พรรคเก่าแก่ ที่เก่งกาจในเรื่องการใช้คารมและการพลิกประเด็น ก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น นโยบายประชาวิวัฒน์แทน
แต่ทั่วทั้งสังคมไทย ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ประชาวิวัฒน์ ก็คือ โคลนนิ่งนโยบายประชานิยม นั่นเอง
ซึ่ง ด้วยความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของประชาธิปัตย์ยุคนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เวลาที่ยากจะโต้ตอบหรือชี้แจง ก็จะใช้วิธีการทำไม่รู้ไม่ชี้ ใครจะเข้าใจอย่างไรก็ไม่สน
นายอภิสิทธิ์ จึงออกมาพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า นโยบายประชาวิวัฒน์ เป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่จะช่วยในการปฏิรูปประเทศไทยได้???
ใครจะไม่เห็นด้วย หรือใครจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ไม่สน เพราะตัดสินใจเดินหน้าแล้ว
ก็ เหมือนกับโครงการไทยเข้มแข็งนั่นแหละ ต่อให้ระงมเสียงสะท้อนเรื่องทุจริตมากมายเพียงใด อย่างเก่งก็แค่ย้ายคนคุมโครงการ แล้วก็ปล่อยทุกอย่างทำไม่รู้ไม่ชี้ เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถจับทุจริตใดๆได้เลย
ดังนั้นรอบนี้เชื่อว่า เมื่อนายอภิสิทธิ์ ยืนยันเป้นมั่นเป็นเหมาะว่าจะใช้นโยบายประชาวิวัฒน์แน่นอน ก็อย่าหวังเลยว่า ใครจะห้ามได้
สิ่ง ที่ทำได้ก็คือ หยิบมุมมองของความห่วงใยของบุคคลที่เป็นกลางทางการเมือง ของคนที่เตี่ยวกรำอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจ และระบบการเงินการคลังของประเทศ มาเตือนสติกัน
ว่าความห่วงใยในนโยบายประชาวิวัฒน์ของประชาธิปัตย์นั้น เริ่มพุ่งสูงเป็นปรอทร้อนแล้ว
อย่าง เช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มองการต่ออายุมาตรการค่าครองชีพ ซึ่งก็คือ ผลงานประชานิยมเดิมของพรรคพลังประชาชน แล้วประชาธิปัตย์ก็รับสืบทอดเอามาเป็นผลงานของตัวเองในเวลานี้
โดยผู้ว่าแบงก์ชาติ มองตรงประเด็นว่าจากการศึกษาของธปท.พบว่า แม้มาตรการนี้จะช่วยลดการขยายตัวของเงินเฟ้อได้ประมาณ 0.5%
แต่หากจะปรับใช้เป็นมาตรการระยะยาว ก็ต้องคำนึงถึงภาระต่องบประมาณด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน???
แถมยังเตือนด้วยว่าหลังหมดมาตรการค่าครองชีพ เงินเฟ้อก็อาจเร่งตัวขึ้นอีกได้ ดังนั้นหากจะใช้ต่อเป็นระยะยาวก็ต้องดูให้รอบคอบ
“แม้ จะเป็นการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่ท้ายที่สุด เราก็อยากให้แต่ละคนใช้ชีวิตโดยไม่หวังว่าจะให้คนนั้น คนนี้มาช่วยตลอดไป” นายประสารกล่าว
ส่วนเรื่องโครงการประชาวิวัฒน์นั้น นายประสารบอกว่า ต้องลงไปดูรายละเอียดว่ากระทบต่อฐานะการคลังมากน้อยแค่ไหน เพราะบางเรื่องก็ไม่สามารถฝืนกลไกตลาดได้ เช่น เรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งอยู่เหนือการควบคุม
นายพิชัย อุตมาภินันท์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม ก็มองว่า โครงการประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลนั้น ควรจะต้องสอนประชาชนในการทำมาหากิน
ที่ สำคัญยอมรับว่ามีความเป็นห่วงเรื่องฐานะการคลัง เพราะรายจ่ายขณะนี้เท่ากับรายรับของประเทศ และความสามารถในการหารายได้ก็ยังไม่ชัดเจน!!!
ในขณะที่นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ที่มักจะพูดอะไรตรงๆเสมอ ก็สรุปแบบไม่อ้อมค้อมเลยว่า โครงการประชาวิวัฒน์ถือเป็นการตลาดทางการเมือง
และเป็นโครงการที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาก็ต้องมี แค่เปลี่ยนชื่อไม่ให้ซ้ำกันเท่านั้น
ซึ่งหลายประเทศก็มีการใช้โครงการประชานิยม แล้วแต่จะใช้มากหรือน้อย
โดยสังคมต้องประเมินในเรื่องวินัยการเงินและการคลังตลอดเวลา และมีความยุติธรรม เพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่ม
รวมทั้งต้องติดตามว่าการใช้เงินในโครงการดังกล่าวใช้ไปกับอะไร
มีการรั่วไหลหรือไม่
และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจหรือลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่
ส่วน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงแผนปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ ว่า แนวคิดนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ กำลังซ้ำรอยแผนประชานิยมของอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
และเชื่อว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่หวังผลระยะสั้น
ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนเสพติดการรับเงินแทนเป้าหมายที่ต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ฐานราก
และเห็นว่าเป็นการดำเนินนโยบายเพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ
ก็ คงต้องดูว่า สุดท้ายแล้วแนวทางประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล ที่พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนนั้น เอาเข้าจริงๆแล้วจะเป็นแค่กล่องของขวัญที่ห่อกระดาษสดใสผูกโบว์สีสวย
แต่สุดท้ายในกล่องนอกจากไม่มีอะไรแล้ว ยังสร้างหนี้สร้างภาระให้กับประเทศเป็นจำนวนมหาศาลก็ได้
เพราะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)ก็ประเมินแล้วว่า งานนี้จะต้องใช้เงินกว่าแสนล้านบาท
ประชาภิวัฒน์ที่ใช้เงินมหาศาลแบบนี้ ประชาชนได้หรือเสียกันแน่!!!