ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
เป็นอันว่าที่ประชุมครม. วันที่ 21 ธ.ค.
มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พื้นที่ 4 จังหวัดสุดท้าย คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ
หลัง ประกาศใช้มานานกว่า 8 เดือน พร้อมกับการถือกำเนิดของศอฉ. ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมการชุมนุมคนเสื้อแดง
มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการศอฉ.คนแรก
ก่อนเปลี่ยนมาเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมภายหลัง เนื่องจากนายสุเทพ ลาออกไปลงเลือกตั้งซ่อมส.ส.
ย้อนเวลากลับไปหลังประกาศใช้พ.ร.ก.แค่ 3 วัน
วันที่ 10 เม.ย. ได้เกิดเหตุการณ์ทหารปะทะผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัว
มีผู้บาดเจ็บราว 1,400 คน เสียชีวิต 27 ศพ เป็นพลเรือน 21 ศพ รวมถึง นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ นักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น
ถัดจากนั้นเดือนเศษก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ 19 พ.ค.
การประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ละครั้งมีอายุการใช้งาน 3 เดือน ตั้งแต่ 7 เม.ย. มีการอนุมัติต่ออายุแล้ว 2 ครั้งในเดือนก.ค.และต.ค.
การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ศอฉ.ต้องปิดตัวลงไปด้วยโดยปริยาย
ทิ้งไว้แต่ผลงานปฏิบัติการกระชับวงล้อม-ขอคืนพื้นที่คนเสื้อแดง อันเป็นที่มาของ 91 ศพและบาดเจ็บอีก 2,000 คน
การบริหารงานของรัฐบาลภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยาวนานกว่า 8 เดือน
คือบทเรียนให้กับผู้มีอำนาจได้ว่ากฎหมายกึ่งเผด็จการนี้ นอกจากจะนำมาใช้แก้ปัญหาขัดแย้งในบ้านเมืองไม่ได้แล้ว
ในทางตรงกันข้ามยังทำให้สถานการณ์บานปลายรุนแรงยิ่งขึ้น
นำมาสู่ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมากอย่างที่เห็น
รวมถึงเรื่องเงินงบประมาณที่รัฐบาลประเคนให้ศอฉ.ไว้ใช้จ่ายตั้งแต่ต้นจนจบ จำนวนมากมายมหาศาลเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ตัวเลขชัดเจน
คาดเดากันไปว่าอาจถึงหลักหมื่นล้านบาท
นักข่าวถามนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่ได้คำตอบ
ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.คีย์แมนคนสำคัญของศอฉ.
นอกจากไม่ได้คำตอบแล้วยังถูกเหวี่ยงกลับมา
เลยสงสัยว่ามันมากมายนักหรืออย่างไร ถึงเปิดเผยไม่ได้
เงินประชาชนแท้ๆ