ที่มา มติชน ๑. คดีนี้นายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้อง เนื่องจากปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มูลของคดีสืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดี พิเศษว่าได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษซึ่งเมื่อได้พิจารณาคำร้องทุกข์กล่าวโทษ ประกอบกับพยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วพบว่าพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนเกี่ยวข้อง ๒ ข้อกล่าวหา คือ กรณีพรรคประชาธิปัตย์ได้รับบริจาคเงินและทรัพย์สินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัทเมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด โดยทำสัญญาว่าจ้างทำสื่อประชาสัมพันธ์ตามโครงการต่างๆ เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับบริจาคเงินตามที่กฎหมายกำหนด กรณีหนึ่ง และกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการ การเลือกตั้งให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตรงต่อความ เป็นจริงยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง อีกกรณีหนึ่ง นอกจากนี้ยังปรากฏว่านายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบและดำเนินการกับพรรคประชาธิปัตย์ในข้อกล่าวหา ทั้งสองข้อกล่าวหาทำนองเดียวกัน ๒. วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องดัง กล่าว ต่อจากนั้น เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนและมีมติ ด้วยคะแนนเสียงข้างมากส่งเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามพระ ราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๕ ทั้งสองข้อกล่าวหา หลังจากนั้นในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายทะเบียนพรรคการเมืองได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ดำเนินการตรวจ สอบสำนวนการสอบสวน คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ตรวจสอบและเสนอความเห็นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) มีความเห็นเสนอต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งก็คือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ คนเดียวกัน) เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ว่าอาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เห็นควรนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมพิจารณาแล้ว เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์กระทำผิดทั้งสองข้อกล่าวหา โดยข้อกล่าวหา ที่สองซึ่งเป็นมูลในคดีนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะ กรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายและจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับ สนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมืองฯ (มาตรา ๖๒ และมาตรา ๖๕ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ หรือ มาตรา ๘๒ และมาตรา ๙๓ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐) จึงให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคประชา ธิปัตย์ต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๔ (๓) (๔) และมาตรา ๙๕ ๓. ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐ ธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประ ชาธิปัตย์ สั่งห้ามมิให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ขอจัดตั้งพรรค การเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการขอ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในห้าปีนับแต่วันที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ และขอให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์มี กำหนดห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา และพรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำชี้แจงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งในแง่ของบทกฎหมายที่ ศาลจะนำใช้ปรับแก่คดีว่าต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดข้อเท็จจริงระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ และทั้งในแง่ข้อเท็จจริงที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำการดังที่นาย ทะเบียนพรรคการเมืองกล่าวอ้าง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้อง ๔. ก่อนการไต่สวนข้อเท็จจริง พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นใน ข้อกฎหมายว่าผู้ที่มีอำนาจวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรยุบพรรคการเมืองหรือไม่ คือ นายทะเบียนพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจทำความเห็นในเรื่องดังกล่าว มีแต่หน้าที่ให้ความเห็นชอบแก่นายทะเบียนพรรคการเมืองให้ยื่นคำร้องต่อศาล รัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการดำเนินการข้ามขั้นตอน ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ย่อมส่งผลให้การทำความเห็นและการลงมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งขัดต่อพระ ราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบ พรรคประชาธิปัตย์ได้ นอกจากนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนและไม่มีอำนาจยื่นคำ ร้อง เพราะไม่ได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพิจารณาสอบสวนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันตาม หลักการร้องคัดค้านเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๕๐ ๕. นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้อง ต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าเมื่อมีการแจ้งเหตุต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณา ที่รอบคอบและเป็นธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จ จริง ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณารายงานสืบสวนสอบสวนแล้วเห็นว่านายประพันธ์ นัยโกวิท (กรรมการการเลือกตั้ง) ผู้สั่งให้นำความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวเข้าพิจารณาในคณะกรรมการการเลือก ตั้งมิใช่นายทะเบียนพรรคการเมือง ประกอบกับนายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) ยังมิได้ให้ความเห็น จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาก่อน หลังจากนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เมื่อได้ความเห็นดังกล่าวแล้ว จึงนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมากมีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้ง ต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ แต่คณะกรรมการเสียงข้างน้อย ๒ เสียง ซึ่งหนึ่งในสองเสียงดังกล่าว คือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ (ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และนายทะเบียนพรรคการเมือง) เห็นว่าต้องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือก ตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง เมื่อความ ปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่านายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นว่ากรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินสนับสนุน จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้องตรงต่อความ เป็นจริงต้องด้วยมาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ จึงได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าความเห็นของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ (ประธานกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง) เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นการให้ความเห็นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา ๙๓ วรรคสอง แล้ว เพื่อให้การดำเนินการครบถ้วนตามมูลกรณีและตามกฎหมาย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีจึงถือว่านายทะเบียนพรรคการเมืองได้กระทำการครบถ้วนตามขั้นตอนที่กฎหมาย บัญญัติแล้ว สำหรับประเด็นที่ว่าไม่ได้มีการยกเรื่องดังกล่าวขึ้น สอบสวนภายในหนึ่ง ร้อยแปดสิบวันนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองคัดค้านว่ากรณีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีคัดค้านค่าใช้จ่ายใน การเลือกตั้ง แต่เป็นกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไม่ถูกต้องและการ จัดส่งรายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงอัน เป็นเหตุยุบพรรคการเมือง ซึ่งไม่มีอายุความ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพบเหตุ ก็สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาได้ ๖. ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยเป็น ๕ ประเด็น คือ ๑. กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ๒. การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๔๑ หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ ๓. พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนา พรรคการเมือง (พ.ศ.๒๕๔๘) ตามที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ ๔. พรรคประชาธิปัตย์จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง (พ.ศ.๒๕๔๘) ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ และ ๕. หากเป็นกรณีมีเหตุให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารจะต้องถูกตัดสิทธิ หรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร ๗. ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นที่สองเป็นลำดับแรก และเห็นว่าการกระทำตามมูลกล่าวหาแห่งคดีนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๔๘ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ แต่ขณะยื่นคำร้องได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ แทนแล้ว ในส่วนของกฎหมายสารบัญญัติ (คือบทบัญญัติที่กำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิดหรือกำหนดข้อห้ามหรือข้อ ปฏิบัติ ) จะต้องใช้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งใช้บังคับอยู่ขณะเกิดเหตุ แต่ในส่วนของกฎหมายวิธีสบัญญัติ จะต้องใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ๘. สำหรับประเด็นแรกที่ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง มี ๒ กรณีแยกต่างหากจากกัน คือ กรณีแรกเป็นกรณีที่พรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๙๔ นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้ง ต่ออัยการสูงสุด ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ตามมาตรา ๙๕ วรรคหนึ่ง และกรณีที่สอง เป็นกรณีที่พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงยื่นต่อคณะ กรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ได้ ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง คดีนี้ต้องด้วยกรณีที่สอง ซึ่งมาตรา ๙๓ วรรคสองบัญญัติขั้นตอนไว้ว่า “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งให้นายทะเบียน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ไม่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะทราบเองหรือบุคคลใดแจ้งให้ทราบ นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาเบื้องต้นก่อนว่าการกระทำ ตามที่ทราบมานั้น เป็นเหตุให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบหรือไม่ อำนาจดังกล่าว เป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายทะเบียน หากนายทะเบียนเห็นว่าพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไม่เป็น ไปตามกฎหมายหรือไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ย่อมเป็นกรณีที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะ กรรมการการเลือกตั้งก่อนเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบ และที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงก็ เพราะนายทะเบียนมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ให้ถูกต้อง รวมทั้งการปฏิบัติงานทางเอกสาร การจัดทำเอกสารให้ถูกต้อง การทำรายงานให้ถูกต้อง อันเป็นงานประจำตามปรกติ ซึ่งนายทะเบียนต้องตรวจสอบเป็นประจำอยู่แล้ว โดยในการพิจารณาของนายทะเบียนในเรื่องดังกล่าว นายทะเบียนมีอำนาจแต่งตั้งหรือขอความเห็นจากผู้ใดก็ได้ รวมทั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย แต่การตัดสินใจในขั้นตอนนี้ยังคงเป็นอำนาจของนายทะเบียนเท่านั้น ๙. ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญรับฟังเป็นยุติ คือ เมื่อได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษและนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒ และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยมีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์มิได้กระทำความผิด ต่อมาวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมพิจารณารายงานดังกล่าว และมีมติด้วยเสียงข้างมาก ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งสองกรณี เฉพาะกรณีที่สองซึ่งเป็นมูลคดีนี้ นายอภิชาต สุขขัคคานนท์ (ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย) เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนเป็นไปตามวัตถุ ประสงค์จริง จึงเห็นควรให้ยกคำร้อง หลังจากนั้น นายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เสนอความเห็นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง วันเดียวกันนั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ได้บันทึกความเห็นไว้ท้ายหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ จึงเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาด่วน และได้มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันเดียวกันนั้น โดยที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์สำหรับคำร้องตามกรณี นี้ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์โดยให้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการ ต่อไปตามมาตรา ๙๕ แต่นายอภิชาตมีความเห็นส่วนตนตามที่ลงมติว่าให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดย ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบ ห้าวัน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา ๙๓ วรรคสอง ต่อมาวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่งโดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) ไม่ได้เข้าประชุมด้วย และคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประ ชาธิปัตย์ โดยถือว่าความเห็นของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ที่ลงมติไว้ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ประเด็น ที่ต้องวินิจฉัย คือ ความเห็นของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) ที่ลงมติไว้เป็นความเห็นส่วนตนในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาต สุขัคคานนท์) หรือไม่ ๑๐. ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ จะบัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ก็แยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง ไว้ต่างหากจากกัน โดยศาลรัฐธรรมนูญได้หยิบยกบทบัญญัติในกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะ กรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองมาแสดงให้เห็น และศาลรัฐธรรมนูญเห็นต่อไปว่า ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ได้ทำความเห็นไว้ ๒ ความเห็น คือ ความเห็นตามที่เกษียนสั่งให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยระบุชัดเจนว่าเป็นความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง และความเห็นในการลงมติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นความเห็นใน ฐานะประธานกรรมการเลือกตั้ง ความเห็นในการลงมติของนายอภิชาต สุขัคคานนท์เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะถ้าหากจะถือเช่นนั้นก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายอภิชาต สุขัคคานนท์ได้เคยลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ ของโครงการแล้ว ซึ่งในครั้งนั้นก็ไม่ได้ถือว่าความเห็นของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองแต่ประการใด นอกจากนี้ความ เห็นในหนังสือเกษียนสั่งของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ก็มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือเป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ต้องถูกยุบพรรคหรือไม่ แต่เป็นเพียงการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาว่าอาจมีการ กระทำตามมาตรา ๙๔ หรือไม่ก็ได้เท่านั้น และการกระทำตามมาตรา ๙๔ ก็มิได้เกี่ยวกับการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองผิดกฎหมาย หรือการรายงานการใช้เงินไม่ตรงตามความเป็นจริง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒ และเป็นเหตุให้ยุบพรรคตามมาตรา ๙๓ อันเป็นกรณีของคดีนี้แต่อย่างใด เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ตาม มาตรา ๙๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองฯ การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอน ของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาล รัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ ๑๑. นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังให้เหตุผลอีกทางหนึ่งด้วยว่ากรณีข้อกล่าวหาตามพระราช บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง คือ ข้อกล่าวหาในมูลคดีนี้นั้น มาตรา ๙๓ วรรคสองมิได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเสนอความเห็นด้วยว่าพรรค การเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนั้นกรณีนี้นายทะเบียนพรรคการเมืองจะเสนอความเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มี เหตุตามมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ แต่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทั้งสอง ข้อกล่าวหาแล้ว มีมติเสียงข้างมากให้ส่งเรื่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามพระราช บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กรณีถือได้ว่าคดีนี้ความปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคประชาธิปัตย์มีกรณีตาม มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่งแล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว ระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน จึงต้องเริ่มนับตั้งวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดังกล่าว การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเวลาต่อมา ตลอดจนการประชุมและการลงมติในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ และวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นการตรวจสอบภายในองค์กรและเป็นเพียงการยืนยันการปรับบทบังคับใช้กฎหมาย ให้ชัดเจนเท่านั้น เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ จึงพ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว กระบวนการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ๑๒. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก ๔ ต่อ ๒ ว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยฝ่ายข้างมาก ๑ เสียงใน ๔ เสียง ให้เหตุผลว่าการยื่นคำร้องตามข้อกล่าวหาคดีนี้พ้นระยะเวลาสิบห้าวันตามที่ กฎหมายกำหนด และฝ่ายข้างมาก ๓ ใน ๔ เสียง ให้เหตุผลว่าความยังไม่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำฝ่าฝืน กฎหมาย อันจะเป็นเหตุให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มีความเห็นว่ามีเหตุให้ต้องยุบพรรคประชา ธิปัตย์ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง และยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่อย่างใด โดยความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ มิใช่การทำความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป ให้ยกคำร้อง ๑๓. คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ได้พิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว เห็นว่าประเด็น หลักที่เป็นปัญหาในคำวินิจฉัยนี้ก็คือ คำวินิจฉัยนี้ได้เกิดขึ้นโดยเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็น องค์คณะหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้วจะเห็นได้ว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเขียนคำ วินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก ๔ ต่อ ๒ ว่า กระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากแตกต่างกัน คือ มีตุลาการเพียง ๑ คน ที่เห็นว่าการยื่นคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นการยื่นคำร้องพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ส่วนตุลาการอีก ๓ คน เห็นว่าการยื่นคำร้องไม่ได้กระทำการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กล่าว คือ มีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทั้งๆที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่ได้มีความเห็นและยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือก ตั้งแต่อย่างใด เหตุผลที่ แตกต่างกันของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ เป็นเหตุผลที่แตกต่างกันในแง่ประเด็นของการยกคำร้อง ปัญหาก็คือ ในแง่ของการดำเนินกระบวนพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตั้งประเด็นและวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม่ ๑๔. ในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญนั้น การวินิจฉัยเงื่อนไขที่ทำให้ศาลมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณา กับการวินิจฉัยในเนื้อหาของคดี จะต้องวินิจฉัยแยกต่างหากจากกัน เงื่อนไขที่ทำให้ศาลมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณา ย่อมได้แก่ เขตอำนาจของศาลเหนือคดี อำนาจฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ร้อง ความสามารถของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ร้อง ความสามารถในการดำเนินกระบวนพิจารณา วัตถุแห่งคดี กระบวนการขั้นตอนที่ต้องดำเนินการก่อนการฟ้องคดี ความจำเป็นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ ระยะเวลาในการฟ้องคดี ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการตรวจสอบเสีย ก่อน หากเงื่อนไขเหล่านี้ดำรงอยู่ครบถ้วน ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะสามารถวินิจฉัยเนื้อหาของคดีได้ ในกรณีที่มีประเด็นโต้แย้งกันว่าเงื่อนไขเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างครบถ้วนหรือ ไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นที่โต้แย้งกันนั้นทีละ ประเด็น เช่น หากโต้แย้งกันว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้เสียก่อน โดยตุลาการทุกคนที่เป็นองค์คณะจะต้องออกเสียงวินิจฉัย หากผ่าน ประเด็นนี้ไปแล้ว มีข้อโต้แย้งกันอีกว่า คำร้องดังกล่าวได้ยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ตุลาการทุกคนก็จะต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้เช่นกัน การกำหนดประเด็นวินิจฉัยชี้ขาดเช่นนี้ จะทำให้ในที่สุดแล้วคำวินิจฉัยเกิดจากเสียงข้างมากขององค์คณะ และจะปรากฏเหตุผลในคำวินิจฉัยอย่างชัดเจนว่าคดีนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คดีโดยอาศัยเหตุผลในทางกฎหมายเรื่องใด หากไม่กำหนดประเด็นวินิจฉัยเช่นนี้ แต่กำหนดประเด็นรวมๆกันไป สุดท้าย ย่อมจะหาเสียงข้างมากขององค์คณะไม่ได้ เช่น หากมีตุลาการในองค์คณะ ๖ คน ตุลาการสองคนอาจยกคำร้องเพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ตุลาการอีกสองคนเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจ แต่ ยกคำ ร้องเพราะเห็นว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง ตุลาการอีกสองคนเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน แต่ยกคำร้องเพราะเห็นว่าฟ้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เช่นนี้จะถือว่าเหตุผลที่ยกคำร้องคืออะไร เพราะการยกคำร้องโดยอาศัยเหตุใดเหตุหนึ่งนั้น จะมีผลต่อการนำคดีมาฟ้องใหม่ไม่เหมือนกัน ...
ตาม ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๕๓ เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ และต่อมาได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลางและความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญที่เป็นองค์คณะเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร (www.enlightened-jurists.com) ได้ศึกษาคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการและประโยชน์สำหรับการตรวจสอบกระบวนการทำ งานตลอดจนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สมควรจะได้แสดงทัศนะทางกฎหมายในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
๑๕. ในคดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องเพราะเหตุที่การยื่นคำร้องกระทำการ ข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดทำให้นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง มี ๓ คน จากตุลาการที่เป็นองค์คณะจำนวน ๖ คน ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าเป็นเสียงข้างมากขององค์คณะ ในขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องเพราะเห็นว่าการยื่นคำร้องได้กระทำ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไปแล้วมีเพียง ๑ คน จากตุลาการที่เป็นองค์คณะจำนวน ๖ คน ซึ่งก็จะถือว่าเป็นเสียงข้างมากขององค์คณะไม่ได้เช่นกัน การลงมติเพื่อให้ได้เสียงข้างมากในคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดประเด็นเสียก่อนว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือ ไม่ และตุลาการทุกคนต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ ในกรณีที่ลงมติไปแล้วยังหาเสียงข้างมากไม่ได้ จะต้องลงมติใหม่อีก และหากจำเป็นก็จะต้องกำหนดประเด็นย่อยลงไปอีก และให้ตุลาการที่เป็นองค์คณะวินิจฉัยทีละประเด็นในลักษณะที่ตุลาการที่มี สิทธิออกเสียงวินิจฉัย หากได้วินิจฉัยอย่างใดไปแล้วในประเด็นก่อนในฝ่ายข้างน้อย ตุลาการผู้นั้นจะต้องรับเอาผลของการวินิจฉัยในประเด็นถัดไปและต้องออกเสียง วินิจฉัยด้วย เพื่อจะได้ผลการวินิจฉัยที่เกิดจากเสียงข้างมาก เมื่อผ่านประเด็นเรื่องอำนาจในการยื่นคำร้องแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะสามารถวินิจฉัยในประเด็นเรื่องของระยะเวลาในการยื่นคำ ร้องเป็นลำดับถัดไป มีข้อสังเกตว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยในลักษณะที่ กล่าวมาข้างต้น และเขียนเหตุผลในคำวินิจฉัยทั้งสองกรณีลงในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมทำให้เกิดความสับสนต่อไปว่าตกลงแล้ว เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการยกคำร้องคือเหตุผลใดกันแน่ ยิ่งไปกว่านั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังขัดแย้งกันเองในบางส่วนอีกด้วย คือ ฝ่ายที่ถูกนับว่าเป็นฝ่ายข้างมาก ๓ คน เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องมีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์เสียก่อน จึงจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความเห็นชอบได้ ในขณะที่ฝ่ายที่ถูกนับว่าเป็นฝ่ายข้างมาก ๑ คน เห็นว่านายทะเบียนพรรคการเมืองจะเสนอความเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีเหตุ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง (ซึ่งเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง) ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้
ด้วย เหตุที่ได้แสดงให้เห็นดังกล่าวนี้ คณาจารย์คณะนิติราษฎร์จึงเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ไม่ ได้เกิดขึ้นจากเสียงข้างมากขององค์คณะ ไม่ชอบด้วยหลักการทำคำวินิจฉัยในทางตุลาการ และเกิดปัญหาขึ้นตามมาว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
๑๖. อนึ่ง มีประเด็นที่สมควรแสดงทัศนะไปในคราวเดียวกันเกี่ยวกับการตีความ "กระบวนการและขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญ" ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าสอดคล้องกับหลักการใช้และการตีความกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชนหรือไม่ คดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกนับว่าเป็นฝ่ายข้างมาก ๓ คน เห็นว่า การที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ใช่เป็นการให้ความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่เป็นความเห็นในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง จึงถือว่านายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณาจารย์คณะนิติราษฎร์พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่ในที่สุดแล้ว นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ตามความเห็น ชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เท่ากับนายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นโดยปริยาย ว่าพรรคประชาธิปัตย์กระทำการอันต้องด้วยเหตุที่กฎหมายกำหนด สมควรถูกยุบพรรค ถึงแม้เรื่องนี้อาจมีข้อทักท้วงว่าในการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ให้ความเห็นไว้จนเป็นที่ประจักษ์ชัดก็ตาม แต่การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการในเวลาต่อมาก็มีผลเป็นการเยียว ยาความบกพร่องอันไม่ใช่เรื่องสาระสำคัญไปแล้ว กรณีเทียบเคียงได้กับบทบัญญัติในมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่หากเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองซึ่งจะออกคำสั่งทางปกครองได้ จะต้องให้เจ้าหน้าที่อื่นให้ความเห็นชอบก่อน ได้ออกคำสั่งทางปกครองไปโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่อื่นเสียก่อน หากเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจให้ความเห็นชอบนั้น ได้ให้ความเห็นชอบในภายหลัง คำสั่งทางปกครองนั้นก็ย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ตามกฎหมาย หาได้เสียเปล่าไป หรือมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายไม่ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแยกกระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวออกจากกันเป็น ส่วนๆ อีกทั้งขั้นตอนดังกล่าวนั้นในเวลาต่อมาก็ถูกเยียวยาแล้วโดยการกระทำของ องค์กรผู้ทรงอำนาจ และแยกการกระทำของนายทะเบียนพรรคการเมืองกับการกระทำของประธานกรรมการการ เลือกตั้งออกจากกันอย่างสิ้นเชิง โดยมิได้พิเคราะห์เจตนาที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจในเรื่องดัง กล่าว คือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ มาเป็นเหตุวินิจฉัยยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้น คณาจารย์คณะนิติราษฎร์ไม่อาจเห็นพ้องด้วยได้
๑๗. โดยที่คดีนี้มีปัญหาในแง่ของการทำคำวินิจฉัยว่าเกิดจากเสียงข้างมากขององค์ คณะหรือไม่ และปัญหาในแง่ของเหตุผลในทางข้อกฎหมายที่ใช้ในการยกคำร้องของนายทะเบียนพรรค การเมือง คณาจารย์คณะนิติราษฎร์เห็นว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ สมควรจะต้องกระทำเรื่องนี้ให้กระจ่างต่อไป การดำเนินการในเรื่องนี้ย่อมรวมถึงการตรวจสอบกฎเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบการรักษากฎเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน ไปจนกระทั่งถึงการตรวจสอบว่าคำวินิจฉัยในคดีนี้ซึ่งมีปัญหาว่าไม่ได้เกิดจาก เสียงข้างมากขององค์คณะมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อนึ่ง ในทางปฏิบัติ โดยเหตุที่กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของคดี แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๖ วรรคห้าจะบัญญัติว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ก็ตาม แต่เมื่อเหตุผลในคำวินิจฉัยบางส่วนขัดแย้งกันเอง โดยเหตุผลของตุลาการฝ่ายที่ถูกนับเป็นเสียงข้างมาก ๓ คน เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นายทะเบียนพรรคการเมืองจะได้ให้ความเห็นในเรื่องดัง กล่าวเสียให้ชัดเจน เพื่อนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้วินิจฉัยในเนื้อหาของคดีต่อไป
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓.