ที่มา มติชน
ตอนที่ 1
หลังผ่านพ้นมรสุมจากคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อ 30 พฤษภาคม ปี 2550 ที่ผ่านมา ทำให้ ดร.สิริกร มณีรินทร์ หนึ่งใน 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ต้องเว้นวรรคการทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเป็นเวลาถึง 5 ปี
และแม้ขณะนี้ เวลาจะนับถอยหลังการปลดล็อคทางด้านการเมืองถึงกว่า 3 ปีแล้ว แต่ "หน้าที่" ด้วย "จิตอาสา" ของ ดร.สิริกร กับ การทำงานเพื่อสังคมยังคงเดินต่อสืบเนื่องไปเรื่อยๆควบคู่กับการทำธุรกิจส่วน ตัวของครอบครัว อย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของความเป็นอดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในสมัย รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยเธอพยายามผลักดันและเดินหน้าการศึกษาของเด็กไทย และการทำห้องสมุด อย่างมิได้หยุดหย่อน
ทั้งนี้ ทีมงานมติชนออนไลน์ จึงหยิบนำเอาคำสัมภาษณ์ ดร.สิริกร ในเรื่องความคิดเห็นเรื่องการศึกษาของเด็กไทย องค์ประกอบด้านความรู้ต่างๆ การทำห้องสมุด รวมถึงชีวิตส่วนตัวของเธอ หลังงดเว้นเกี่ยวข้องเรื่องของการเมือง อีกแง่มุมหนึ่งมาให้ผู้อ่านได้ติดตามกัน จำนวนทั้งหมด 3 ตอน ทำให้เห็นได้ว่า ผู้หญิงคนนี้เธอทำงานเพื่อสังคมไม่ได้หยุดหย่อนจริงๆ
Matichon Online : ในรัฐบาลชุดนี้เดินสาย เรื่อง Creative Economy มาตลอด หรือธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ รากของมันแท้จริงแล้วคืออะไร ทำยังไง ?
ดร.สิริกร : มันเป็นธุรกิจที่ต้องตั้งอยู่บนความคิดพื้นฐานที่สร้างสรรค์ จินตนาการ ประการแรกต้องค้นหาตัวเราให้เจอต้องภูมิใจ รักในสิ่งที่เราทำ ที่ มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมซึ่งบรรพบุรุษให้มาซึ่งมีอะไรที่ดีๆงามๆ อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติหรือภูมิปัญญาของคนไทย ซึ่งถ้าเราค้นพบตรงนั้น ภูมิใจในความเป็นตัวตนของไทยตรงนั้น ต่อยอดมัน พี่ว่าหลักของทุกประเทศคล้ายคลึงกันหมด ถ้าไปดูที่ญี่ปุ่น หรือจีน เขาจะต้องมีตัวตนของเขา มันไปกับการศึกษาและวัฒนธรรม ต้องปลูกเขาไปในจิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นของจริงกับของปลอม สิ่งที่ขาดมันคือ จิตวิญญาณที่เป็นของแท้ สร้างขึ้นมาใหม่แล้วมันไม่เหมือนเดิมมันยังขาดความเป็นจริง แต่ถ้าเราไปที่อิตาลีเมืองเล็กๆเขาก็ยังรักษาจิตวิญาณ ประเทศอิตาลีคือประเทศของกวี ของนักเดินเรือ ของศิลปิน แล้ว 3 คำนี้เขายังรักษามาโดยตลอดไม่ได้เป็นของจอมปลอมเลย เราจะเห็นได้ว่า พิพิธภัณฑ์เขามีหลายแห่ง แต่เขายังรักษาสภาพแวดล้อม เขายังมีความรักในศิลปะ ความรักในเสียงเพลง
เราต้องพยายามรักษาจิตวิญญาณของการเป็นคนไทยไว้ให้ดั่งเดิมและแท้ เราคิดว่า Creative Economy แล้วจะมาตั้งต้นทำมันเหมือนทำแบบปลายน้ำเราต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำ ในโรงเรียนก็ต้องปลูกฝังกันมาในโรงเรียน เด้กต้องภูมิใจในความเป็นไทย
Matichon Online : การศึกษาในบ้านเราเหมือนหัวมงกุฎ ท้ายมังกร การจะก้าวไปข้างหน้า เป็นยังไง ?
ดร.สิริกร : วันนี้กระทรวงศึกษาธิการ เราผ่านการปฏิรูปการศึกษา พรบ. การศึกษามา แก้ไขมาหลายรอบ และกำลังจะปรับปรุงอีกรอบ หลายคนพูดว่าไม่ควรจะมาเวียนวนอยู่กับโครงสร้าง เพราะความช้ำจากการเกิดการปฏิรูปรอบแรกมันยังอยู่ เพราะมันบิดเบือนตลอดและไปยุบในสิ่งที่ไม่ควรยุบไปเติมในสิ่งที่ไม่ควร เติม พี่คิดว่า สิ่งหนึ่งที่ผิดพลาดมากคือ การยุบกรมวิชาการ คุณภาพวิชาการถือเป็นหัวใจของการศึกษา ไม่ว่าจะปฏิรูปหรือไม่ปฏิรูปก็ตาม กรมวิชาการทั้งกรมซึ่งดูแลเรื่องการศึกษาท้องถิ่นในสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่วันนี้กรมวิชาการยุบมาอยู่ภายใต้การทำงานของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สพฐ.) โดยกรอบและบทบาทหน้าที่ของเขา เขาเลยดูได้เฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานในสังกัด ไม่สามารถจะเอื้อจะดูแลคุณภาพวิชาการซึ่งสำคัญมากของโรงเรียนในสังกัดองค์กร ส่วนท้องถิ่น ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแล้วก็การศึกษาเอกชนในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง ศึกษาได้
เมื่อสมัยโน้นโครงสร้างที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า14 องค์ชายเนี่ยในแง่ของคุณภาพวิชาการมันดีกว่าตอนนี้เพราะโครงสร้างในจุดนั้น มันเอื้อ พี่ไม่ได้หมายความว่า 14 องค์ชายมันดีกว่า 5 แท่ง แต่มันมีทั้งจุดดีจุดด้อย มันขาดหัวเรือทางคุณภาพวิชาการ และสพฐ. กลายเป็นแท่งที่ใหญ่มาก เวลาเรากระจายอำนาจไปที่เขตพื้นที่ ถามว่าเขตพื้นที่เขาพร้อมทำงานทางด้านวิชาการไหม พี่ว่าเขายังไปไม่ถึงจุดนั้น
ในยุคคุณชินวรณ์ บุณยเกียรติ ( รมว.ศึกษาธิการคนปัจจุบัน ปี 2553) พี่ว่า แกตระหนักและรู้ถึงปัญหา แกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการการศึกษามานาน ด้วยความเป็นครูเก่า คิดว่า พรรคประชาธิปัตย์เลือกตัวคุณชินวรณ์ มาเป็นรมว.ศึกษาธิการ ได้ถูกแล้ว เพราะถ้าคนที่เขาเป็นครูเขาเข้าใจในความเป็นครูที่สุด วันนี้เป็นครูลำบากมากเลยนะ
Matichon Online : มีความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ?
ดร.สิริกร : จำเป็น เพราะว่าสมัยที่พี่อยู่เราปฏิรูปการศึกษากันในโครงสร้างการบริหารและก็การ ปฏิรูปการเรียนรู้ครบทุกด้านเนี่ยแล้วเราเคยคุยกันว่าเมื่อครบ5 ปีเราจะประเมิน แต่ในการประเมินนั้นเนี่ยก็ควรจะประเมินทุกด้านในทั้งจุดด้อยและจุดดี
Matichon Online : อยากจะให้บรรจุสิ่งไหนเข้าไป ในการปฏิรูปการศึกษารอบ 2 ให้ลำดับความสำคัญ ?
ดร.สิริกร : อยากเห็นบทบาทของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาที่จะสามารถเอื้อถึงทุก โรงเรียนในสังกัดไม่ได้คิดเล็กคิดน้อยว่าเขาเป็นโรงเรียนในสังกัดใคร
Matichon Online : การศึกษาในตอนนี้มันก็ถ่ายเทไปสู่ท้องถิ่นเยอะ มีอะไรน่าห่วง ?
ดร.สิริกร : น่าห่วง เพราะไม่มีสำนักวิชาการตรงนี้ ใครจะเป็นคนนั่งประชุมและบอกเขา ใครจะเป็นคนอบรมครูในสังกัดเขา ต้องทำงานในแนวราบมากขึ้น
Matichon Online : เราเห็นรัฐบาลพูดแต่เรียนฟรี 15 ปี ?
ดร.สิริกร : ในการเป็นประชานิยมเนี่ยเราก็ต้องพูดถึงเนื่อหาสาระด้วยและเมื่อกี้เราพูดถึง Creative Economy หรือพูดถึงวัฒนธรรมก็ดีนี่เป็นเรื่องของหัวใจจิตวิญญาณคุณภาพของคน ที่จะมาทำอะไรทางด้าน Creative Economy ต้อง มีจิตวิญญาณเหมือนอย่างเราเห็นประเทศญี่ปุ่นเป็น ในส่วนลึกแต่ละประเทศเขาก็ต้องมีปัญหาส่วนตัว แต่ถ้าภาพกว้างที่เรามองเป็นแบบนี้
Matichon Online : มีอะไรอยากฝากถึงคุณชินวรณ์ ไหม
ดร.สิริกร : อยากให้คืนชีพกรมวิชาการ แล้วขยายบทบาท เวลาที่เราจะปฏิรูปหลักสูตรเนี่ย เราสามารถที่จะจัดโรงเรียนนำร่องที่สามารถครอบคลุมทุกสังกัดได้ แต่วันนี้ยังไม่เห็นภาพนั้น วันนี้เรากระจายอำนาจไปเราต้องดูบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการว่า ตรงมาตราฐานของชาติเนี่ยมันยังต้องคงอยุ่ยังไงกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องทำ บทบาทนี้ แม้จะกระจายอำนาจไปยังองค์กรส่วนท้องถิ่นและก็กระจายอำนาจไปยังเขตพื้นที่ แล้ว
ติดตามอ่านคำให้สัมภาษณ์ของ ดร. สิริกร มณีรินทร์ ตอนที่ 2 เกี่ยวกับการสร้าง "ห้องสมุด" ---- 22 ธันวาคม 2553 นี้