WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, November 14, 2011

น้ำท่วม น้ำตา มารยาหญิง โสเภณี ความเป็นหญิง ความเป็นชาย และอคติทางเพศ

ที่มา ประชาไท

วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้เห็นวิกฤตของอคติทางเพศที่มีอยู่อย่างลึกซึ้งในสังคมไทย บางคนบอกว่า “เพราะมีผู้นำเป็นผู้หญิง เลยทำให้น้ำท่วม” ต่อมามีคนบอกว่า “น้ำท่วมไม่เท่าไร แต่นายกร้องไห้นี่แหละ ที่ทำให้พ่ายแพ้” วาทกรรมว่าด้วยเพศ (Gender) ในกระแสวิวาทะเรื่องน้ำท่วม แสดงให้เห็นถึงอคติทางเพศในสังคมไทยอย่างไร การเอาวาทกรรมว่าด้วยเพศมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง สร้างความเข้าใจเรื่องคุณค่าของความเป็นเพศหญิงอย่างไร?

น้ำตานายกหญิง

“น้ำตานายก” กลายประเด็นที่ถูกพูดถึงไม่จบสิ้น คำวิจารณ์ว่า “น้ำตานายก” เท่ากับการขาดภาวะผู้นำ มารยาหญิง (ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สส. ปชป.) “การทำภาพพจน์ของผู้หญิงเสียหาย” (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช สส.ปชป.) “ข้ออ้างเพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ” (นางสาวสุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส. ปชป.) ก่อนหน้านี้ดาราชายชื่อดังพูดผ่านเฟซบุ๊คว่า "ให้ไปร้องไห้ให้ควายดูเหอะ บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่นที่ทำพังแล้วร้องไห้ขออันใหม่" ส่วนดารานักร้องหญิงชื่อดังอีกคนวิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊คซึ่งถูกเผยแพร่ต่อในสื่อ ว่า “เธอ (นายกยิ่งลักษณ์) ออกมาพูดด้วยน้ำเสียงที่ไม่เคยแข็งแรง ด้วยคำพูดที่ไม่เคยเข้มแข็ง และด้วยข้อความที่ไม่เคยชัดเจน นอกจากนั้นเธอยังไม่เคยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคิดเองได้เลย เธอทำให้เห็นเลยว่า ความละมุนของเธอนั้น จริงๆ แล้วมาจากความอ่อนแอ คุณยิ่งลักษณ์ตอกย้ำทุกวันว่าผู้หญิงอ่อนแอ ว่าผู้หญิงพูดจาเป็นงานเป็นการไม่รู้เรื่อง ว่าผู้หญิงคุมลูกน้องไม่ได้ ว่าผู้หญิงตัดสินใจไม่เป็น ว่าผู้หญิงเป็นผู้นำไม่ได้ สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ทำ หรือทำไม่ได้ ตอกย้ำว่าผู้หญิงทำงานใหญ่ไม่ได้ ว่าผู้หญิงสุดท้ายก็เป็นได้แค่ผู้หญิงวันยังค่ำ ที่ได้แต่แต่งตัวสวยไปวันๆโดยที่ทำอะไรไม่เป็น”

นักวิชาการชื่อดังกล่าวทางทีพีบีเอสว่า “ผู้หญิงมีธรรมชาติที่อ่อนไหว และถูกหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมให้อ่อนไหว นายกปูได้เปรียบ เพราะไม่มีใครว่าอะไรกับการร้องไห้ของเธอ แต่นายกร้องไห้บ่อยๆ มันเฝือ จะมีพื้นที่ของเหตุผลที่ไหนมาแก้ปัญหา” นักวิชาการท่านนี้เรียกร้องให้นายกปูแสดงภาวะผู้นำ และเกณฑ์ที่เขาใช้ตัดสิน “ภาวะผู้นำ” คือความสามารถในการกั้นน้ำไม่ให้ท่วมกรุงเทพสำเร็จหรือไม่ และการกล้าประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือไม่
ความร้อนแรงของวิวาทะเรื่องน้ำตานายก ทำให้สวนดุสิตโพลหยิบเอาประเด็นนี้ไปสำรวจประชามติเชื่อมโยงกับประเด็น “ประสิทธิภาพในการบริหาร” แล้วสรุปว่า “ภาพที่นายกรัฐมนตรีร้องไห้นั้น ประชาชนร้อยละ 59.38 เห็นว่า ไม่ได้แสดงออกว่านายกรัฐมนตรีอ่อนแอ แต่ร้อยละ 40.62 เห็นว่า เป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอ” อย่างไรก็ดี “ประชาชนร้อยละ 64.51 มองว่า การร้องไห้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงควรควบคุมอารมณ์ให้ดีกว่านี้”

ถอดรหัสกระแสวิพากษ์น้ำตานายกหญิง

กระแสวิพากษ์ “น้ำตานายก” ข้างต้นนี้ต้องการสื่อว่า การร้องไห้ของผู้นำหญิงเป็นการทำลายเกียรติ คุณค่าและความน่าเชื่อถือที่มีต่อเพศหญิง สิ่งที่น่าสนใจคือการวิพากษ์ได้พุ่งเป้าไปที่ “ความเป็นเพศหญิง” ของนายก และส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์ “โดยผู้หญิง” ที่จัดเต็ม “เพื่อผู้หญิง” ด้วยกันเอง ทั้งจากผู้หญิงที่อ้างตัวว่า “เป็นกลาง” ทางการเมือง และจากผู้หญิงที่สังกัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผู้วิจารณ์เหล่านี้ใช้กรอบความคิดอะไรตัดสินคุณค่าของพฤติกรรมผู้หญิง กรอบความคิดและความคาดหวังแบบใดที่สังคมไทยใช้เป็นบรรทัดฐานตัดสินคุณค่า พฤติกรรมของเพศหญิง?

เป็นความเชื่อที่ยอมรับกันโดยทั่วไปโดยไม่ได้ตั้งคำถามว่า “น้ำตา” คือสัญญะที่สื่อความหมายถึงอารมณ์สะเทือนใจ ความอ่อนไหว ความเสียใจ ความอ่อนแอ ซึ่งเป็นลักษณะทางธรรมชาติที่พบในเพศหญิง เมื่อน้ำตาถูกนำมาเชื่อมโยงกับผู้นำหญิง “น้ำตานายกหญิง” จึงถูกให้ความหมายว่าเป็นความอ่อนไหว ความอ่อนแอ ความอ่อนหัด ความไร้วุฒิภาวะ ความไร้ฝีมือ ฯลฯ เป็นลักษณะทางธรรมชาติของผู้นำเพศหญิง ตรงกันข้ามกับลักษณะทางธรรมชาติของผู้นำเพศชาย ที่เชื่อกันว่าเข้มแข็ง อดทน อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุ ควบคุมกิเลสได้ มีวุฒิภาวะ ให้ความสำคัญกับเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ฯลฯ

การอธิบายความเป็นเพศหญิงและความเป็นเพศชาย ด้วยการสร้างความหมายขั้วตรงข้าม เช่น ธรรมชาติ vs วัฒนธรรม, ดิบ vs สุก, อ่อนไหว vs เข้มแข็ง, อารมณ์ vs เหตุผล, หญิง vs ชาย ตลอดจนการเอาความเป็นเพศหญิงไปอธิบายผูกติดกับลักษณะทางธรรมชาติ (หญิง=ธรรมชาติ) และเอาความเป็นเพศชายไปอธิบายผูกติดกับลักษณะทางวัฒนธรรม (ชาย=วัฒนธรรม) ทำให้เกิดความเข้าใจว่า เพศหญิงมีลักษณะตามธรรมชาติที่อ่อนด้อยกว่าเพศชาย กรอบความคิดนี้เกิดจากอิทธิพลของทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่และเป็นมรดกตกทอดจาก อารยะธรรมยุโรป ซึ่งมองว่า “ธรรมชาติ” ด้อยกว่า “วัฒนธรรม” ดังนั้นเพศหญิงที่มีแนวโน้มใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าจึงด้อยกว่าเพศชายไปด้วย

กรอบความคิดในการนิยามเพศชายหญิงโดยสร้างความหมายแบบขั้วตรงข้ามแบบตาย ตัว นับเป็นพื้นฐานของอคติทางเพศต่อผู้หญิง กรอบความคิดนี้ถูกตั้งคำถามและปฏิเสธแม้ในสังคมยุโรปซึ่งเป็นต้นตอของความ คิดนี้ ความจริงแล้วชายและหญิงต่างก็มีส่วนประกอบที่มาจากลักษณะทางธรรมชาติและ วัฒนธรรมผสมผสานกัน ทว่าแนวคิดแบ่งขั้วแยกข้างทางเพศกลับถูกตอกย้ำในสื่อไทย ราวกับเป็นสัจพจน์และอุดมคติที่ต้องไปให้ถึง หากต้องการเป็นชายจริงหญิงแท้

ผู้นำต้องไม่ร้องไห้—มายาคติ Thailand only

ในทางตรงกันข้าม “น้ำตาของผู้นำชาย” ไม่ได้ถูกเชื่อมโยงกับลักษณะตามธรรมชาติของเพศชาย แต่กลับถูกให้ความหมายเชื่อมโยงกับมิติทางวัฒนธรรม “น้ำตาของผู้นำชาย” มักจะถูกตีความว่าแสดงถึงความรู้สึกรับผิดชอบ ถึงขนาดว่า "ลูกผู้ชายยังต้องหลั่งน้ำตา" เช่น การร้องไห้ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการปราศรัยหาเสียงก่อนจะมีการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงกรณี “เผาบ้านเผาเมือง” กลับไม่มีใครวิจารณ์ว่า “ใช้อารมณ์” “อ่อนแอ” “ขาดภาวะผู้นำ” “ใช้มารยาชาย” “บีบน้ำตาเรียกคะแนนสงสาร” “ทำลายภาพพจน์ผู้ชายให้เสียหาย” แต่อย่างใด การให้ความหมาย “การหลั่งน้ำตาของผู้ชาย” จึงแตกต่างจาก “การหลั่งน้ำตาของผู้หญิง” ความแตกต่างในการตีความ “น้ำตาผู้นำ” เพศชายกับเพศหญิงเช่นนี้ สะท้อนอคติทางเพศที่มีอยู่ในสังคม ทว่าไม่ใช่อุดมคติดั้งเดิมในสังคมไทยแต่อย่างใด

วรรณคดีไทยหลายเรื่องกล่าวถึงตัวพระเอกร้องไห้จนเป็นลมสลบไป พฤติกรรมดังกล่าวไม่ถือว่าน่าอายหรือผิดปกติ ก่อนการรับเอากรอบความคิดในเรื่องเพศจากยุโรปเข้ามา สังคมไทยไม่ได้ตัดสินคุณค่าพฤติกรรมชายหญิงแบบเดียวกับในปัจจุบัน การร้องไห้ไม่ว่าชายหรือหญิงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นความอ่อนแอและไร้ภาวะผู้นำ เช่น การที่ผู้ชายที่โตแล้วร้องไห้ขณะฟังเสียงร้องทำขวัญนาค กลับแสดงวุฒิภาวะ คุณธรรมและการเติบโตผู้ชาย

เมื่อมองไกลออกไป การหลั่งน้ำตาของผู้นำในสังคมอื่นๆ ก็ไม่ถูกตีความว่าเป็นลักษณะทางธรรมชาติที่อ่อนแอและไม่ได้เป็นสิ่งที่ผูก ติดกับความเป็นเพศหญิง ตอนเกิดสึนามิครั้งใหญ่ นายกญี่ปุ่นก็ร้องไห้ แต่กลับไม่เห็นคนญี่ปุ่นออกมาโจมตีว่านายกของเขาช่างอ่อนแอหรือขาดวุฒิภาวะ ผู้นำ คุณพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ เขียนเอาไว้ในเฟซบุ๊คว่า การร้องไห้ของผู้นำหญิงในประเทศอื่นๆ เช่น เอวิต้า เปรอง (Eva Perón) ภรรยาลำดับที่สองของประธานาธิบดี ฮวน เปรอง (Juan Perón) แห่งอาร์เจนตินาที่สนับสนุนให้ผู้หญิงในอาร์เจนตินามีสิทธิเลือกตั้งเท่า เทียมกับชาย กลับได้รับการยกย่อง ส่วนการร้องไห้ของนางฮิลลารี คลินตัน ช่วงรณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอ แม้จะถูกบางคนตีความว่าเป็น “น้ำตาการเมือง” ดังนั้นการเรียกร้องว่าผู้นำหญิงไทยจะต้องไม่ร้องไห้ จึงเป็นมายาคติ เป็นแฟนตาซีแบบ Thailand only ห้ามลอกเลียน

วิธีคิดแบบผู้หญิง?

รสนา โตสิตระกูล สว.หญิงชื่อดังแห่งกรุงเทพฯ เขียนในเฟซบุ๊คส่วนตัวเปรียบเทียบ “น้ำ” เท่ากับ “เพศหญิง” และบอกว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนายกปู เป็น “การแก้ปัญหาแบบผู้ชาย” ดังนี้ “น่าเสียดายที่เรามีนายกฯ เป็นผู้หญิง แต่ไม่เข้าใจการแก้ปัญหาที่ใช้คุณลักษณะของความเป็นผู้หญิง ที่มีคุณลักษณะของอิตถีภาวะ คือความอ่อน แปรเปลี่ยนตามสภาวะแวดล้อม การแก้ปัญหาที่มุ่งมั่นทำอยู่นี้ เป็นลักษณะของปุริสภาวะ คือแก้ปัญหาแบบผู้ชาย เน้นความแข็งกระด้างในการเอาชนะ ดูได้จากวิธีการสร้างคันคูแข็งแรงเพื่อสู้กับน้ำ โดยไม่เข้าใจว่าความอ่อน ความไหลของน้ำจะโอบล้อมและทำลายของแข็งเหล่านั้น ต่อมาเธอได้ตอกย้ำผ่านทางทีพีบีเอสว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ของนายกยิ่งลักษณ์ ที่ใช้ “วิธีการแบบผู้ชาย” แต่เรียกร้องให้ใช้ “วิธีการแบบผู้หญิง” แทน

คุณรสนาไม่ได้อธิบายอย่างกระจ่างว่า “วิธีการแก้ปัญหาแบบผู้หญิง” ในที่นี่หมายถึงอะไรกันแน่ หากกล่าวอย่างคลุมเครือว่า “คุณเป็นผู้หญิง คุณต้องรู้จักวิธีแก้ปัญหาแบบผู้หญิง” สื่อความหมายโดยนัยว่า “วิธีคิด” เป็นเรื่องที่ผูกติดกับ “ความเป็นเพศ” ตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมีวิธีคิดยังสามารถแบ่งแยกได้ตามเพศอีกด้วย นำไปสู่คำถามว่า คุณรสนารู้ได้อย่างไรว่าวิธีคิดอย่างไรเป็นวิธีคิดแบบผู้ชายหรือแบบผู้หญิง? ใครคือคนที่มีอำนาจชอบธรรมที่จะตัดสินว่า วิธีคิดแบบเพศชายเป็นปัญหา และวิธีคิดแบบเพศหญิงคือคำตอบ? และยังมีคำถามอีกว่า ต่อให้มีวิธีคิดแบบเพศหญิงอยู่จริงๆ วิธีแก้ปัญหาแบบเพศหญิงจะทำได้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ภายใต้โครงสร้างสังคมไทยที่ถือเอาเพศชายเป็นใหญ่?

อย่างไรก็ดี ในท่ามกลางความคลุมเครือของการเรียกร้อง “วิธีการแบบผู้หญิง” คุณรสนากลับเรียกร้องให้นายกแสดงออกซึ่ง “ภาวะผู้นำที่เด็ดขาด” “การกล้าตัดสินใจ” “การป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพให้ได้” “การพาน้ำกลับลงทะเลให้เร็วที่สุด” วิธีการดังกล่าว ใช่ “วิธีการแบบผู้ชาย” หรือไม่? เพราะเน้นการเอาชนะและควบคุมธรรมชาติ ซึ่งคุณรสนาเองกำลังต่อต้าน แต่หลายคนเรียกร้องให้ทำ

โสเภณีกับวาทกรรมว่าด้วยเพศ

เป็นความจริงอย่างที่พิธีกรรายการตอบโจทย์ทางทีพีบีเอสกล่าวว่า “ขณะนี้เราไม่ได้เผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมเท่านั้น แต่เราเผชิญกับวิกฤตความเป็นผู้นำด้วย” การสร้างภาพ “วิกฤตภาวะผู้นำ” ผ่านสื่อกำลังสร้างอคติทางเพศด้วย การใช้ประเด็นเรื่องเพศมามุ่งเอาชนะทางการเมือง เช่น คำพูดของเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่เขียนในเฟชบุ๊คเรียกร้องให้นายกลาออก ด้วยการให้เหตุผลเชิงเปรียบเทียบว่านายกเป็นตัวแทนของ “สาวเหนือที่ไร้การศึกษาหรือขี้เกียจ และด้อยปัญญา” ดังนั้นจึง “เหมาะจะมาทำงานสบายที่หญิงปกติไม่ทำกัน หลักๆ ก็คือขายบริการ” มากกว่า คำพูดดังกล่าวนับว่าได้ก้าวไปไกลกว่าการวิพากษ์นายกหญิง แต่กำลังถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการดูถูกผู้หญิง และเป็นการเหยียดหยามหญิงขายบริการทางเพศ

ความพยายามในการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในภาวะวิกฤตของ สังคม โดยเปรียบเทียบ “เพศหญิง” กับลักษณะด้อยต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีหลักฐานสนับสนุน ไม่ได้วางอยู่บนลักษณะทางธรรมชาติจริงๆ ของเพศหญิง แสดงถึงอคติทางเพศที่มีต่อผู้หญิงอย่างชัดเจน หากว่าการห้ามผู้นำหญิงร้องไห้กลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมขึ้นมาจริงๆ สิ่งแรกที่ผู้หญิงต้องทำเมื่อเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ก็คือการต้องพยายามเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพศชาย เพื่อให้มีลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนั้นการเรียกร้องให้ผู้หญิงก้าวสู่พื้นที่สาธารณะให้มากขึ้นดังที่นัก สตรีนิยมรณรงค์มาตลอด ก็คงไม่มีผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชายหญิงกระมัง

-----------------------------------------------

อ้างอิง
I “คุณหญิงกัลยา” เหน็บ “ยิ่งลักษณ์” น้ำตาไม่ช่วยแก้ปัญหา
II มติชน:ปชป.อัด"ยิ่งลักษณ์ อย่าบีบน้ำตา หาข้ออ้างหนีความรับผิดชอบ
III ตัวจริงหรือไม่! บิลลี่ โอแกน ด่ารัฐบาลยับ สมควรลาออก
IV มติชน:จากผู้หญิงถึงผู้หญิง: เมื่อ "เอิน กัลยกร" วิพากษ์ "ยิ่งลักษณ์" สตรีผู้ขี่ม้า (น้ำ)
V ตอบโจทย์ :"ยิ่งลักษณ์" กับภาวะผู้นำช่วงวิกฤต
VI Voice TV สวนดุสิตโพลระบุ ปชช.มองนายกฯร้องไห้กระทบภาพลักษณ์ผู้นำ