ที่มา ประชาไท
“I have been crying," she replied, simply, "and it has done me good. It helps a woman you know, just as swearing helps a man.”
“ฉันร้องไห้มาตลอด” เธอตอบอย่างตรงไปตรงมา “มันทำให้รู้สึกดี ร้องไห้มีประโยชน์ต่อผู้หญิง ดุจเดียวกับการด่าสำหรับผู้ชาย”
Horace Annesley Vachell นักเขียนชาวอังกฤษใน The Romance of Judge Ketchum
ไม่น่าเชื่อว่าการร้องไห้ออกสื่อของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (บางคนว่าแค่น้ำตาปริ่ม ๆ on the verge of tears) จะกลายเป็นประเด็นให้ท่าน ส.ส. ส.ว. นักการเมือง สื่อมวลชนเอามาวิจารณ์กันเป็นวรรคเป็นเวร ออกรายการพูดคุยทางโทรทัศน์ก็มี (เห็นว่าออกทางทีวีไทย ซึ่งผมไม่ค่อยได้ดู นอกจากรายงานข่าวของเขา)
คำวิจารณ์ส่วนใหญ่ออกมาในแนวดูถูกท่านนายกฯ ที่เป็นถึงผู้นำ(หญิง) แต่กลับแสดงมารยาหญิง แสดงความ “อ่อนแอ” ผ่านทางน้ำตา วิเคราะห์กันไปจนถึงว่ามันสะท้อน “ความอ่อนแอ” ของภาวะความเป็นผู้นำของท่าน และยังสะท้อน “ความไม่รู้” หรือ “อวิชชา” ของผู้นำประเทศที่เป็นหญิงของเรา
วันก่อน สว.(หญิง) ท่านหนึ่งถึงกับเขียนใน fb ตัวเองว่า “น่าเสียดายที่เรามีนายกฯเป็นผู้หญิง แต่ไม่เข้าใจการแก้ปัญหาที่ใช้คุณลักษณะของความเป็นผู้หญิง” ท่านอธิบายต่อว่า ท่านนายกฯ ของเราน่าจะ “ยอมทำตามความปรารถนาของน้ำที่ต้องการกลับทะเล โดยเราต้องอำนวยความสะดวกให้น้ำได้เดินทางกลับ เข้าใจธรรมชาติของน้ำที่ต้องไปที่ต่ำ” และยังบอกด้วยว่า “การแก้ปัญหาที่มุ่งมั่นทำอยู่นี้ เป็นลักษณะของปุริสภาวะ คือแก้ปัญหาแบบผู้ชาย เน้นความแข็งกระด้างในการเอาชนะ ดูได้จากวิธีการสร้างคันคูแข็งแรงเพื่อสู้กับน้ำ”
ฟังดูดี แต่ผมว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับเพศสภาพ (gender) หรือสถานะความเป็นหญิงหรือชายของผู้นำประเทศเลย เพราะไอ้ที่มันกั้นคูคลองน่ะ มันทำกันทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นคำสั่งจากผู้นำ “หญิง” เสียคนเดียวเมื่อไร ไม่เชื่อไปถาม อบต.แถว ๆ บ้านท่าน ส.ว. ก็ได้นะ แสดงว่าปัญหาในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ มันเป็นเพราะปุริสภาวะที่เข้าไปครอบงำในทุกวงการและทุกระดับ (masculinization หรือจะเรียกว่าเป็น defeminization ก็ได้) ไม่ใช่เป็นเพราะระดับหัวสุดของประเทศหรอก และถ้าจะวิจารณ์ ก็ควรวิจารณ์วิธีการจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อการกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำด้วย
ทีนี้ผมว่าคนที่ดูแคลนน้ำตาเป็นคนที่น่าหัวเราะเป็นอย่างยิ่ง เพราะน้ำตา การร้องไห้ (weeping, crying) มันอยู่คู่กับมนุษยชาติมานานแสนนาน ตราบที่เรายังมีความเป็นมนุษย์กันอยู่บ้าง ตั้งแต่เรื่องของศาสนาที่โยงถึงศิลปกรรมเลยทีเดียว (อย่าง weeping statue ก็เป็นประติมากรรมที่สะท้อนความเชื่อและศรัทธาในพระศาสนาอย่างลึกซึ้ง ทั้งในในรูปของพระแม่มารีร้องไห้ หรือน้ำตาพระเยซูเจ้า)
การร้องไห้ยังมีบทบาทหน้าที่ประการต่าง ๆ ในทางการเมืองมากมาย เอาง่าย ๆ คำว่า “cry” ที่แปลว่าร้องไห้เนี่ยกลายเป็นคำที่มีนัยทางการเมือง และใช้กันจนเป็นสำนวนสามัญไป ไม่ว่าจะเป็น
“Outcry” ซึ่งหมายถึงการประท้วงหรือต่อต้านอย่างรุนแรง (A strong protest or objection) อย่างประโยคที่ว่า “public outcry over the rise in prices.” (“ประชาชนต่างร้องระงมคัดค้านการขึ้นราคาสินค้า”)
“Cry foul” อันนี้พบบ่อยมากในทางการเมือง เป็นการแสดงความเห็นเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อหลักกฎหมาย (to say that something which has happened is unfair or illegal) อย่างเช่น ประโยคที่ว่า “The opposition parties have cried foul at the president's act, seeing it as a violation of democracy.” (“พรรคฝ่ายค้านร้องระงมคัดค้านการกระทำของประธานาธิบดีที่พวกเขาเห็นว่าขัด ต่อระบอบประชาธิปไตย”)
คำว่า “cry” เอามาตั้งเป็นชื่อหนังการเมืองก็มีอย่าง Cry freedom ของท่านเซอร์ Richard Attenborough ซึ่งว่าด้วยปัญหาการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ ยังมีอีกนะ ช่วย ๆ กันคิด
ส่วน “cry” ที่นำมาใช้ในเพลงนอกเหนือจากเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ก็มีมากมายมหาศาล ที่ผู้เขียนว่าดังสุดและประทับใจมากสุดน่าจะเป็น Don't Cry for Me Argentina เพลงประกอบละครเพลงของ Andrew Lloyd Webber นี่แหละ เรื่องราวชีวิตอันเต็มไปด้วยสีสันของ Eva Perón หรือที่คนไทยมักคุ้นในชื่อ “Evita Perón” หรือ “เอวิต้า เปรอง” นั่นเอง
สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย เอวิต้า เปรองเป็นภรรยาลำดับที่สองของประธานาธิบดี Juan Perón แห่งอาร์เจนตินา และได้ดำรงตำแหน่งเป็น First Lady ตั้งแต่ปี 2489-2495 นอกจากสีสันทางการเมืองที่สนับสนุนประชานิยมขนานแท้ในละตินอเมริกาแล้ว ถือได้ว่าท่านเป็นผู้หญิงระดับสูงคนแรก ๆ เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่สนับสนุนร่างพระราชญัตติที่เปิดโอกาสให้ ผู้หญิงในอาร์เจนตินามีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกับชาย (universal suffrage) จะเป็นเหตุให้ล่าสุดอาร์เจนตินามีประธานาธิบดีหญิงถึงสองสมัยหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบได้ (ประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner)
Don't Cry for Me Argentina เป็นเพลงที่ร้องในองก์สองระหว่างที่สมมติของเอวิต้ายืนอยู่บนระเบียงของ ทำเนียบประธานาธิบดี หรือ La Casa Rosada (ปราสาทสีชมพู) เพื่อปราศรัยต่อมวลมหาประชาชนของอาร์เจนตินา ทั้งท่วงทำนองและคำร้องแสดงถึงอารมณ์พลุ่งพล่านและความยืนหยัดไม่ยอมแพ้ สำหรับคนที่ประชาชนทั้งรักทั้งเกลียดอย่างผู้นำหญิงท่านนี้ เนื้อเพลงท่อนสร้อยบอกว่า
“Don't cry for me Argentina
The truth is I never left you
All through my wild days
My mad existence
I kept my promise
Don't keep your distance.”
“อย่าร้องไห้เพื่อฉันเลย อาร์เจนตินา
ความจริง ฉันไม่เคยจากพวกเธอไป
แม้ฉันจะเคยมีอดีตอันปั่นป่วน
แม้ฉันจะเป็นที่ชิงชังรังเกียจ
ฉันยังรักษาสัญญา
อย่าถอยห่างจากฉันไป”
แน่นอนว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2495 ตอนที่เอวิต้า เปรองตายไป เธอคงไม่มีโอกาสร้องเพลงนี้แน่ เป็นจินตนาการของผู้ประพันธ์เพลงที่ต้องการใช้การร้องไห้เพื่อสื่อถึงความ รักที่มีต่อมวลมหาประชาชนของสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งท่านนี้
การร้องไห้เพื่อเรียกคะแนนเสียงก็มี ซึ่งผมออกจะไม่เห็นด้วย (ก็ผู้เขียนเป็นผู้ชายไง) เพราะมันไม่แฟร์เท่าไร