ที่มา ประชาไท
หลังจากดำรงตำแหน่งนายกฯ อิตาลีมา 17 ปี 'แบร์ลุสโคนี' ลาออกแล้ววานนี้ตามสัญญา หลังรัฐสภาโหวตอนุมัติแผนปฏิรูปศก. เพื่อรัดเข็มขัดตามข้อเรียกร้องของอียู
นายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนีของอิตาลีลาออกจากตำแหน่งแล้วเมื่อคืนวันที่ 12 พ.ย. หลังรัฐสภาลงมติอนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการตัดลดรายจ่าย เพื่อบรรเทาวิกฤติหนี้จำนวนมหาศาลตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นการปิดฉากเส้นทางชีวิตทางการเมืองอันยาวนาน 17 ปีท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เขาลาออกด้วยคดีอื้อฉาวทางเพศและคอร์รัปชั่น และกระแสกดดันจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ทำเนียบประธานาธิบดีแถลงว่า แบร์ลุสโคนี ได้ยื่นหนังสือลาออกต่อประธานาธิบดีจิออร์จิโอ นาโปลิตาโนเมื่อคืนวาน และประธานาธิบดีจะขอให้นายมาริโอ มอนติ วัย 68 ปี นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมาธิการยุโรป เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล โดยจะเชิญพรรคการเมืองต่างๆร่วมหารือในช่วงเช้าวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น
การลาออกของแบร์ลุสโคนี วัย 75 ปีเป็นไปตามคำสัญญาที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ว่าจะก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อรัฐสภาลงมติอนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและ มาตรการตัดลดรายจ่าย และทั้งสองสภาโหวตเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นจากนั้นประธานาธิบดีได้ลงนาม บังคับใช้ในบ่ายวันเดียวกัน
ทั้งนี้ มาตรการรัดเข็มขัดที่อียูเรียกร้องให้จัดทำ มีเป้าหมายในการประหยัดเงินงบประมาณให้ได้ราว 59.8 พันล้านเหรียญยูโร โดยวิธีการต้องตัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มการจัดเก็บภาษี แล้วไปทำงบประมาณสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายให้ได้ในปี 2014 ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย
- เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จากระดับ 20 % เป็น 21 %
- ตรึงเงินเดือนลูกจ้างของภาครัฐไปจนกว่าจะถึงปี 2014
- อายุเกษียณสำหรับผู้หญิงลูกจ้างในภาคเอกชนจะค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 60 ปีในปี 2014 ไปเป็น 65 ปีในปีค.ศ.2026 เช่นเดียวกับผู้ชาย
- สร้างมาตรการที่เข้มแข็งจัดการกับผู้ที่หลบเลี่ยงภาษีอย่างเข้มงวด และเอาจริงเอาจัง รวมถึงการกำหนดให้ทำธุรกรรมทางด้านเงินสดที่เป็นเงินยูโร ได้อย่างมาก 2500 ยูโร
- สร้างมาตรการภาษีฉบับพิเศษ ในการเก็บภาษีทางด้านธุรกิจพลังงานให้มากขึ้น