“ผมเคยยืนยันหลายครั้งแล้ว และขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ทหารจะไม่มีการปฏิวัติอย่างเด็ดขาด เพราะจะเกิดความเสียหาย ตอนนี้ประเทศชาติเดินทางไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ หากมีปัญหาด้านการเมืองเกิดขึ้น ก็ควรจะแก้ไขกันด้วยวิถีทางการเมือง มั่นใจว่าการเมืองสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง” เอกฉัตร
เป็นคำพูดของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ตอบคำถามของนักข่าวที่ถามถึงข่าวลือการปฏิวัติที่ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะๆ และเป็นอาหารอันโอชะของนักข่าวที่ถามคนโน้นคนนี้ให้เป็นข่าวได้ตลอด นับตั้งแต่รัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน
และ...พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก แม้จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำรัฐประหารกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ในเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่า จะไม่มีการปฏิวัติ เพราะเป็นเรื่องล้าสมัย
จากการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย หากผู้บัญชาการทหารบกไม่เอาด้วย ผู้ที่ก่อการยึดอำนาจก็จะเป็นกบฏตั้งแต่สตาร์ทเครื่องรถถัง
แต่ก็ยังไม่สามารถจะดับข่าวลือการปฏิวัติได้ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุใหญ่ๆ พอสรุปได้ คือ
คำปฏิเสธไม่มีการปฏิวัติเคยออกจากปากของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน แต่ก็เกิดขึ้นจนได้ อาจจะส่งผลมาถึงคำพูดยืนยันของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม้จะนั่งในตำแหน่งเดียวกัน แต่เป็นคนละคน และจิตสำนึกต่างกัน
ส่วนผมนั้น เชื่อในคำพูดของผู้บัญชาการทหารบกร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลว่า การก่อการยึดอำนาจในประเทศไทย หลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว ประเทศไทยไม่เคยมีการปฏิวัติอีกเลย มีเพียงการทำรัฐประหาร เป็นการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้กุมอำนาจรัฐเท่านั้น
เมื่อทำรัฐประหารได้แล้ว คณะผู้ก่อการจะตั้งรัฐบาลของตัวเองขึ้นมาปกครองประเทศ มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตามที่กลุ่มผู้ก่อการต้องการ แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ มีรัฐบาลใหม่ จากนั้นก็มีการทำรัฐประหารกันอีก แล้วแต่เหตุที่ยกขึ้นมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ก่อการ
ด้วยเหตุนี้แหละ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นแกนหลักในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะได้ประกาศเป็นคำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน ในห้วงเวลาที่มีการรณรงค์ปราศรัยเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงเกิดสถานการณ์วุ่นวายตั้งแต่ยังไม่พลบค่ำ เมื่อม็อบทั้ง 2 ฝ่าย หรืออาจจะเป็นฝ่ายเดียวกันก็ได้ เปิดศึกทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน จนได้รับบาดเจ็บกันทั้ง 2 ฝ่าย
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่พลบค่ำ สอดรับกับการที่ นายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รู้ล่วงหน้ามาก่อน โดยการไปยื่นหนังสือขอกำลังตำรวจช่วยคุ้มกัน ทั้งๆ ที่ในหลักความเป็นจริง การชุมนุมแต่ละครั้ง ไม่ว่าของกลุ่มใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว
ส่วนบนเวทีก็มีการปราศรัยของแกนนำปลุกระดมว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นสงครามของกองทัพประชาชนเพื่อล้มล้างรัฐบาล ไม่ชนะไม่เลิก โดยสร้างจินตนาการให้กับผู้มาชุมนุมในทำนองว่า หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลชุดนี้ยังคงอยู่ต่อไป ส.ส. พรรคพลังประชาชน ยังอยู่ในสภา จะเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบราชอาณาจักรที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เป็นระบอบสาธารณรัฐ เป็นการจินตนาการไปไกลจนคนฟังตามไม่ทัน จึงต้องยกสถาบันขึ้นมากล่าวอ้าง นั่นแหละพอจะปลุกเร้าได้
ทำให้สถานการณ์เขม็งเกลียวขึ้น เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายเกิดความคิดต่างกัน จากการจินตนาการของผู้ปราศรัยปลุกระดม
ตำรวจจึงกลายเป็นผู้ร้ายไปทันที เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างกล่าวหาว่าตำรวจไม่ห้ามปราม ปล่อยให้เกิดการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน
ผมเข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจดี เพราะการจะเข้าไปห้ามหรือเข้าไปแยก 2 ฝ่ายในขณะที่กำลังชุลมุน ตำรวจก็จะถูกข้อกล่าวหาอีกว่า ไม่ยุติธรรม ไปแยกอีกฝ่าย แต่ปล่อยให้อีกฝ่ายทำร้ายร่างกายเป็นลูกตีจากเก็บคะแนน
ยิ่งมีข่าวลือกันมาก่อนว่า เพื่อให้สถานการณ์วุ่นวาย เพื่อให้การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปตามความต้องการ เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 จะมีการจัดฉากให้พวกเดียวกัน แต่มาจากคนละที่ ไม่รู้จักกัน เปิดเกมทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันก่อน เป็นการจุดชนวนให้กลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้ามาผสมโรง
เพราะธรรมชาติของมนุษย์ กลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยกว่า เป็นเรื่องยากที่จะเปิดศึกกับกลุ่มคนที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่า จึงต้องใช้พวกกันเองเป็นตัวล่อ และได้ผลตามที่หวัง เพื่อสะสมเงื่อนไขให้เข้าตากรรมการตามที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำคนสำคัญเคยกล่าวไว้ในงานรำลึก 16 ปี พฤษภาทมิฬ
ผมได้รับการบอกเล่าข่าวลือเรื่องนี้ ถ้าเป็นจริง ได้แต่สังเวช หดหู่ใจ ได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้มีภาคสองของเรื่อง “พาคนไปตาย” อีกเลย