ที่มา Thai E-News
โดย จาตุรนต์ ฉายแสง
ที่มา เวบเครือข่ายจาตุรนต์
11 กรกฎาคม 2552
ในอเมริกา หน่วยงานสาธารณสุขออกแถลงอย่างเป็นทางการไปแล้วว่า..จะมีผู้ติดหวัด 90 ล้านคน และเสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน..จึงเป็นที่วิตกกันว่า โรคนี้จะระบาดมากขึ้น โดยที่คนจำนวนมากไม่ค่อยเชื่อถือตัวเลขจากทางการ ไม่เชื่อมั่นในมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งไม่เชื่อในข้อมูลข่าวสารที่ทางราชการได้เผยแพร่หรือชี้แจง ซึ่งมีเหตุผลที่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกอย่างนั้น
"สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009"
สถานการณ์ปัจจุบันโรคนี้ได้ระบาดอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดจะรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และสร้างความเสียหายให้แก่คนทั่วโลกได้อีกมาก
ในประเทศไทยโรคนี้ได้แพร่ระบาดเร็วมาก มีผู้เสียชีวิตแล้ว 14 คน มียอดผู้ป่วยด้วยโรคนี้เป็นอันดับ 9 ของโลก มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชีย
นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าในขณะนี้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากกว่าตัวเลขที่เป็นทางการอีกมาก ถ้าการแพร่ระบาดยังเป็นไปในลักษณะนี้ หมายความว่าจะเพิ่มอัตราเร่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้เราพบกับสภาพที่มีผู้ปวยด้วยโรคนี้จำนวนเป็นแสนๆคนในอนาคตอันใกล้
ในอเมริกา หน่วยงานสาธารณสุขออกแถลงอย่างเป็นทางการไปแล้วว่า ในประเทศสหรัฐฯประเทศเดียว คาดว่าจะมีผู้ติดหวัด 90 ล้านคน และเสียชีวิตมากถึง 2 ล้านคน
จึงเป็นที่วิตกกันว่า โรคนี้จะระบาดมากขึ้น สร้างความเสียหายอย่างมาก โดยที่คนจำนวนมากไม่ค่อยเชื่อถือตัวเลขจากทางการ ไม่เชื่อมั่นในมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ รวมทั้งไม่เชื่อในข้อมูลข่าวสารที่ทางราชการได้เผยแพร่หรือชี้แจง ซึ่งมีเหตุผลที่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกอย่างนั้น
"ขาดยุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการ"
ความจริงประเทศไทยมีพื้นฐานที่ดีหลายอย่างในการที่จะรับมือกับโรคนี้ คือเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีความเชื่ยวชาญ ในเรื่องที่เกี่ยวกับโรคระบาดอยู่พอสมควร เราได้ผ่านประสบการณ์กับการที่ต้องเผชิญกับโรคซาส์และปัญหาไข้หวัดนกในชวงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามีประสบการณ์ทำงาน ในการวางแผน ในการจัดการ รวมทั้งยังได้มีแผนรับมือกับภาวะโรคระบาดที่ได้มีการวางแผนไว้แล้วอย่างต่อเนื่องถึง 2 แผน
แผนแรกได้ทำโดยคณะกรรมการติดตามแก้ปัญหาไข้หวัดนก และต่อมามีการพัฒนาแผนขึ้นอีกเป็นแผนงานขั้นที่ 2 ที่ต่อเนื่องโดยสำนักงานสภาพัฒน์ฯ นอกจากนั้นเรายังมีเครือข่ายความร่วมมือที่ดีกับองค์กรต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้ง WHO ที่ได้เคยให้เราเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้
เรายังได้เคยมีการศึกษา ค้นคว้า เพื่อจะสร้างหรือผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้เรามีความรู้ ความเชี่ยวชาญอยู่พอสมควร ในการที่จะสร้าง ผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้
มีคำถามว่า ทำไมเราจึงมาอยู่ในจุดที่ผู้คนขาดความเชื่อถือ และดูเหมือนการแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าไว้วางใจ จนกระทั่งทำให้เกิดการคาดการณ์ในทางหวั่นวิตกว่า ปัญหาจะหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
สาเหตุสำคัญ คือ เราขาดยุทธศาสตร์ในการรทำงาน ขาดนโยบาย การวางแผน การวางมาตรการที่ดี ขาดการปรึกษาหารือกับผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นระบบ และไม่มีการตัดสินใจที่ดี รวมทั้งไม่มีการวางยุทธศาสตร์ วางแผนในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้เข้าใจข้อเท็จจริง รวมทั้งสร้างความเข้าใจว่าเรากำลังจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ผู้คนทั้งหลายจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร
"ปัดฝุ่นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เชื่อมโยงต่างประเทศ"
หากจะให้เสนอแนะความคิดเห็น ผมคิดว่าควรจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้น เพื่อดูแลปัญหานี้ แต่จากการติดตามข่าวสารทราบว่า มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ระดับรัฐบาลเพื่อดูแลปัญหานี้แล้ว แต่ว่าคณะกรรมการคณะนี้ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ค่อยได้ประชุมปรึกษาหารือกัน จึงไม่เห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้ทำงานอะไร ทำหน้าที่อย่างไร
ข้อเสนอประการแรกคือ ให้คณะกรรมการฯที่ตั้งไว้นี้ ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการชุดนี้ให้ทันสมัยมากขึ้น ให้มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ จากกระทรวงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งควรจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมเป็นกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษา แล้วให้คณะกรรมการนี้ทำงานอย่างจริงจัง มีการประชุมสม่ำเสมออย่างน้อยทุกสัปดาห์ เพื่อที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน มาตรการ และเพื่อที่จะบัญชาการ สั่งการ ให้เกิดการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย
รวมทั้งควรจะมีการนำเอาแผนฉุกเฉินที่จะรับมือกับการเกิดโรคระบาด ที่มีการทำไว้แล้วนั้นมาพิจารณาเพื่อนำส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นประโยชน์มาใช้โดยเร็ว รวมทั้งควรจะมีการชี้แจงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชาชน......
- ได้เข้าใจข้อเท็จจริง
- เข้าใจลักษณะความรุนแรงของโรค
- วิธีการในการป้องกันรักษา
- วิธีปฏิบัติตน
- แนวปฏิบัติขององค์กรหน่วยงาน สถานที่ต่างๆ
- รวมไปถึงบุคคลแต่ละคนว่าควรปฏิบัติในการป้องกันรักษาโรคนี้อย่างไร
ควรจะมีรายละเอียดตั้งแต่ในภาวะปกติที่ยังไม่ปรากฎ ไปจนถึงสงสัยว่า
- เริ่มมีอาการอย่างไร
- จะทำอย่างไร
- ควรจะไปพบแพทย์ และควรจะไปโรงพยาบาลใดบ้าง หรือทั่วไป
- หรือว่าเมื่อใดควรจะหยุดเรียน เมื่อใดโรงเรียนควรจะปิด
- จากนี้ไปผู้ที่รับผิดชอบสถานที่ ระบบขนส่ง อาคารตึกรามต่างๆจะต้องมีมาตรการอย่างไร
ชี้แจงประสัมพันธ์ทั้งระบบ จัดทำแผนฉุกเฉิน ผลิตวัคซีน
ควรจะมีคำแนะนำที่ชัดเจน ควรจะมีการมาสรุปผลการศึกษาการวิเคราะบทเรียนจากการป้องกันรักษาโรคนี้ ทั้งในประเทศไทยและจากต่างประเทศ เพื่อให้คนเข้าใจพฤติกรรมเข้าใจการพัฒนาการคลี่คลายของเรื่องนี้ว่า คนมักจะติดโรคนี้จากอะไร ติดมาในโอกาสไหนมาจากใครอย่างไร ที่หายๆได้อย่างไรแต่ละคนจะได้วางตัวถูก
ประการที่สอง คือ นอกจากชี้แจงสิ่งที่เป็นปัจจุบันแล้ว ต้องแสดงภาพให้เห็นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราจะต้องเผชิญกับสภาพอย่างไร แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไร ในอนาคตคนจะเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธรณะอย่างไร คนจะใช้บริการต่างๆ ไปดูหนัง อยู่ในร้านอาหาร ไปซื้อข้าวซื้อของตามศูนย์การค้าและอื่นๆจะทำอย่างไร
โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของโรคนี้อย่างกว้างขวางมากๆ แล้วคนแต่ละคนจะทำกันอย่างไร ให้นำเอาแผนฉุกเฉินแผนที่มีไว้สำหรับการรับมือกับโรคระบาดอย่างร้ายแรงมาพิจารณาดูว่าควรจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาโรคอย่างไรและก็ต้องเร่งทำอย่างจริงจัง ต้องทุ่มเทงบประมาณหาบุคลากรมาเสริมอีกมาก รวมทั้งต้องร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศก็ต้องรีบดำเนินการ หมายถึงว่าต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือเตรียมยาสำหรับรักษาเตรียมผลิตวัคซีน เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ อย่างเช่นห้องทดลอง เครื่องมือในการตรวจพิสูจน์ว่าเขาเป็นอะไรกันแน่เป็นโรคนี้หรือไม่ ห้องรักษาคนไข้แบบปิดที่ไม่แผ่เชื้อต่อๆไป รวมทั้งก็จะต้องเร่งผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้
ประการสำคัญ ต้องจัดระบบการชี้แจงประชาสัมพันธ์เสียใหม่ คือเมื่อมีการพิจารณาอย่างเป็นระบบแล้ว นำเรื่องสำคัญๆมาชี้แจงแก่ประชาชนทราบให้เข้าใจสถานะของปัญหาความร้ายแรงของปัญหาในขอบเขตทั่วโลก และทั่วประเทศ รวมทั้งความรุนแรงที่จะเกิดต่อคนแต่ละคน วิธีการป้องกันวิธีการรักษาที่ดีควรเป็นอย่างไร ในการชี้แจงควรจะชี้แจงอย่างจริงจังเป็นระบบด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เช่นต้องขอความร่วมมือให้มีการใช้ทีวีพูล มีการใช้วิทยุรวมการเฉพาะกิจ ขอความร่วมมือจากสถานีวิทยุต่างๆให้มีความร่วมมือในการที่เผยแผ่ข้อมูลข่าวสารอย่างจริงจังทั้งระบบ
กระทำอย่างต่อเนื่องอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง เพื่อให้คนในสังคมรู้ว่าจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร ผมคิดว่าหากได้มีการพยายามทางยุทธศาสตร์วางแผนอย่างเป็นระบบ มีการบัญชาการสั่งการอย่างจริงจัง รวมทั้งชี้แจงข้อมูลอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาให้ประชาชนเข้าใจข้อเท็จจริง รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ทั้งหลายอย่างเพียงพอ ประชาชนก็จะลดความวิตกกังวลลดความเครียดลงไป ก็คงจะไม่ได้ตำหนิอะไรรัฐบาลมากมายอย่างที่เป็นอยู่ เพราะว่าประชาชนย่อมจะรู้อยู่ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่หลายหลายส่วนก็เป็นเรื่องสุดวิสัยที่ใครจะทำอะไรได้
ถ้าแต่หากว่ายังปล่อยให้อยู่ในสภาพที่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีไม่มีการบัญชาการสั่งการที่ดี ไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี มีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ คนก็จะรู้สึกตำหนิรัฐบาลมากยิ่งขึ้นๆ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเท่ากับว่า จะทำอย่างไร จะช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว และที่จะเกิดขึ้นจากโรคนี้ในวันข้างหน้า
สิ่งสำคัญคือว่า จะทำอย่างไรที่จะช่วยกันป้องกันลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นและที่จะเกิดขึ้นจากโรคนี้ ประเด็นสุดท้าย ทั้งหมดนี้จะเริ่มที่ไหน ผมคิดว่าก็ต้องเริ่มที่นายกรัฐมนตรี
..........
แหล่งอ้างอิง
http://www.flutrackers.com/forum/
http://www.pandemicflu.gov/
http://www.hhs.gov/pandemicflu/
......
ข่าวประชาสัมพันธ์กิจกรรม
สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ร่วมกับสถาบันเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น ขอเชิญร่วมฟังการอภิปราย
หัวข้อ "การล่มสลายของประชาธิปไตยไทย : จุดเริ่มต้นในการแสวงหาประชาธิปไตย"วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม 2552 ณ โรงแรมสุริวงศ์ จ.เชียงใหม่
กำหนดการ
12.00 น. ลงทะเบียน
13.00 น. กล่าวเปิดงานโดย สถาบันเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น
รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง
13.15 น. กล่าวนำการอภิปรายโดย คุณจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
13.30 น. เริ่มการอภิปราย " การล่มสลายของประชาธิปไตยไทย : จุดเริ่มต้นในการแสวงหาประชาธิปไตย"
ดร.สุชาติ ธาดาดำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รศ.ดร.วรพล พรหมมิกบุตร คณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาธรรมศาสตร์
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.คณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 40 และอดีตส.ส.หลายสมัย
คุณจอม เพชรประดับ ผู้ดำเนินรายการ
16.30 น. กล่าวขอบคุณ