ที่มา ไทยรัฐ
ผมขออนุญาตนำข้อมูลทางเมล์ เกี่ยวกับประเด็น ปราสาทเขาพระวิหาร หัวเรื่องว่า ปราสาทพระวิหาร : บิดเบือน ทำไมจึง ต้องเบือนบิด โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ซึ่งเผยแพร่ใน Mekong Review ของเว็บไซต์หนึ่ง อ่านแล้วเข้าท่าดี
เริ่มต้นมุ่งประเด็นไปที่สื่อมวลชนไทย ที่ตกเป็นเครื่องมือของการให้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หลังจากที่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณสุวิทย์ คุณกิตติ เดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 23-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดยการให้ข่าวของคุณสุวิทย์ในทำนองว่าคณะกรรมการมรดกโลก เลื่อนการส่งรายงานแผนการอนุรักษ์และพัฒนามรดกโลกพระวิหารของกัมพูชาไปอีกจนถึงเดือน ก.พ.ปี 2010 หรืออีก 7 เดือนข้างหน้า
ถือเป็นผลงานในการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
ทำให้เข้าใจผิดในสื่อมวลชน ตีข่าวว่า ไทยค้านการขึ้นทะเบียน เขาพระวิหารสำเร็จ กรรมการมรดกโลกขยายขึ้นทะเบียนพระวิหารไปปีหน้าบ้าง สุวิทย์โวกล่อมยูเนสโกยืดขึ้นทะเบียนพระวิหาร 1 ปีบ้าง
โดยสื่อมวลชนได้อ้างคำพูดของคุณปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล ที่แถลงว่า คุณสุวิทย์ได้รายงานผลการเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ คณะกรรมการมรดกโลกที่สเปน ว่า คณะกรรมการมรดกโลกได้ขยายเวลาการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร โดยประเทศกัมพูชาฝ่ายเดียวออกไปเป็นเดือน ก.พ.ปีหน้า
และมีการให้สัมภาษณ์ของคุณสุวิทย์ในเชิงเปรียบเปรยว่า เหมือนเราแข่งฟุตบอลครั้งแรกโดนยิงพรุน ครึ่งหลังตีเสมอได้ ตอนนี้คือการต่อเวลา เรายังมีเวลาทำงาน
หากไม่ใช่เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรงก็เป็นการจงใจบิดเบือนอย่างร้ายกาจ
เพราะคณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินใจไปแล้วว่า ให้ขึ้นทะเบียน ปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกตั้งแต่เดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ครั้งที่มีการประชุมครั้งที่ 32 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา และมติดังกล่าวไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด การประชุมครั้งที่ 33 ที่สเปนไม่มีประเด็นปราสาทพระวิหารอยู่ในวาระการประชุม
การเดินทางไปสเปนของคุณสุวิทย์และคณะ ไม่ได้มีผลต่อการ ตัดสินใจ ของคณะกรรมการมรดกโลก นอกจากการขอเข้าพบ ผอ.องค์การ ยูเนสโก เพื่ออธิบายในสิ่งที่รัฐบาลไทยเคยพูดไปแล้ว
และการขยายเวลาในการส่งรายงานของกัมพูชา ไม่ได้มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกจากเรื่องทางเทคนิคการทำงานระหว่างกัมพูชาและคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความล่าช้าในการทำแผนที่ของกัมพูชาโดยเฉพาะความขัดแย้งในบริเวณชายแดน จ.ศรีสะเกษ กัมพูชาเป็น ฝ่ายขอเลื่อนเองมาหลายครั้งแล้ว และการที่โฆษกรัฐบาลระบุว่าประเทศไทยมีเวลาอีก 1 ปี เพื่อรณรงค์ในการร่วมขึ้นทะเบียนด้วยโดยอ้างมติที่ 13 นั้นเป็นข้ออ้างที่ผิดเรื่องผิดราว เพราะถ้าเราจะดำเนินการในลักษณะดังกล่าวต้องเข้าองค์ประกอบคือ 1. ค้นพบสิ่งใหม่ที่สำคัญทางโบราณคดี 2. ต้องได้รับความยินยอมจากกัมพูชา อย่าบิดเบือนให้ยาก.
หมัดเหล็ก