WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, July 8, 2009

เมื่อ ‘ดิ อีโคโนมิสต์’ ถูกห้ามจำหน่ายเป็นหนที่ 4 ในรอบ 8 เดือน

ที่มา ประชาไท

นิตยสารวิเคราะห์การเมือง-เศรษฐกิจดัง “ดิ อีโคโนมิสต์” อีเมลแจ้งสมาชิกในประเทศไทยว่าจะไม่ได้รับนิตยสารฉบับล่าสุด เหตุอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตำรวจสันติบาลสั่งห้ามจำหน่ายแล้ว คาดสาเหตุมาจากบทรายงานที่กล่าวถึงสถานการณ์จำกัดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย ซึ่งมีบางประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง


ปกดิอีโคโนมิสต์ ฉบับ 4 ก.ค. 2009 ฉบับนี้ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย

ห้ามจำหน่าย ‘ดิ อีโคโนมิสต์’ หนที่ 4 ในรอบ 8 เดือน
บล็อก thaipoliticalprisoners แจ้งเมื่อ 4 ก.ค. ว่า นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ได้ส่งอีเมลมายังสมาชิกที่รับ ดิ อีโคโนมิสต์ในประเทศไทยเพื่อแจ้งให้ทราบว่าพวกเขาจะไม่ได้รับนิตยสารฉบับล่าสุด โดยระบุว่า
“เรียนสมาชิก เราเสียใจอย่างยิ่งที่จะแจ้งท่านให้ทราบว่า ตัวแทนจำหน่ายนิตยสารในประเทศไทยของเราตัดสินใจที่จะไม่ส่งนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ฉบับ 4 กรกฎาคม เนื่องจากในฉบับมีการรายงานที่อาจเข้าข่ายตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราซาบซึ้งกับความอดทนอย่างต่อเนื่องของท่าน และขออภัยต่อความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น เราจะขยายเวลาการเป็นสมาชิกของท่านออกไป 1 สัปดาห์ เพื่อให้พอดีกับฉบับที่ไม่ได้รับนี้”
สำหรับรายงานข่าวที่ทำให้การจำหน่ายหนังสือของดิ อีโคโนมิสต์มีปัญหานี้ น่าจะเป็นบทรายงานที่ชื่อ “Treason in Cyberspace” ซึ่งตีพิมพ์ออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.
และเมื่อ 7 ก.ค. พันธมิตรผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ด้านเสรีภาพสื่อในภูมิภาค ได้แจ้งเตือนภัยเรื่องการห้ามจำหน่ายนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ในประเทศไทยด้วย
ปณิธานแจงดิอีโคโนมิสต์รายงานด้านเดียว อาจทำให้เข้าใจผิด
ด้าน ผู้จัดการออนไลน์ รายงานท่าทีล่าสุดจากทางรัฐบาล โดยนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ว่า รัฐบาลไม่เคยนำกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง มาใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างอย่างที่มีการตั้งข้อกล่าวหา แต่การดำเนินกับผู้ต้องสงสัยว่าหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เป็นการดำเนินการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทางรัฐบาลได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความระมัดระวัง เพราะเกรงกังวลว่าจะถูกโยงให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมกล่าวย้ำว่า การดำเนินคดีต้องยึดหลักนิติธรรม ใช้ข้อมูลและหลักฐานมาประกอบการดำเนินคดีฟ้องร้องเอาผิด ขณะเดียวกัน กลับเห็นว่า ดิ อีโคโนมิสต์รายงานข่าวเพียงด้านเดียว ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ตำรวจสันติบาลได้สั่งห้ามจำหน่ายดิอีโคโนมิสต์ในประเทศไทย เพราะเห็นว่าเนื้อหาในบทความเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้
ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับ 4 ก.ค. พูดถึงอะไร
เนื้อหาในบทรายงาน Treason in Cyberspace ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ดิ อีโคโนมิสต์ เมื่อ 2 ก.ค. และเผยแพร่ในรูปแบบตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 4 ก.ค. โดยเนื้อหาโดยสรุปของบทรายงาน Treason in Cyberspace (หมายเหตุ - ในที่นี้เนื่องจากปัญหาด้านกฎหมาย จึงขอแปลโดยตัดทอนเนื้อหาบางส่วน) คือ นับตั้งแต่ปี 2548 มีบุคคลจำนวนมาก ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรม นักเขียนชาวออสเตรเลีย ถูกตั้งข้อหาจากกฎหมายที่มีอายุนับร้อยปีดังกล่าว มีการกล่าวถึงกรณีนายสุวิชา ท่าค้อ ซึ่งรับโทษจำคุก 10 ปี ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
มีการกล่าวถึง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งถูกจับหลังการปราศรัยในปี 2551 และเพิ่งถูกพิจารณาคดีเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยศาลให้พิจารณาคดีแบบลับด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ
ในบทรายงานของดิอีโคโนมิสต์ระบุว่า มีการตีความเพื่อใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างกว้างขวาง ในสัปดาห์นี้ตำรวจเริ่มสอบสวนกรรมการของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT ในกล่าวข้อหานี้ และสิ่งที่สร้างความยากลำบากพอๆ กัน ก็คือโครงการอาสาสมัครพิทักษ์ยุติธรรม ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่อ้างว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เป็นหนทางหนึ่งในตรวจสอบเครือข่ายทางสังคมในอินเทอร์เน็ต โดยโครงการนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงชื่อสมัครเป็นอาสาสมัครคนแรก แต่เป้าหมายของโครงการนี้น่าจะเป็นการปกป้องราชวงศ์จากการถูกวิจารณ์มากกว่า
การจำกัดเสรีภาพในโลกไซเบอร์ด้วยกฎหมายยุคทหาร
ในรายงานยังระบุว่า ประเทศไทยไม่เหมือนจีน ไทยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ว่าในจีน พื้นที่ในโลกไซเบอร์กลายเป็นสงครามระหว่างเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นกับการเซ็นเซอร์ การแสดงความเห็นในอินเทอร์เน็ตของจีนมีเสรีกว่านิวมีเดียที่เฉื่อยชาของไทย ที่การเซ็นเซอร์ทำงานชนิดล่วงเวลา โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2551 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้บล็อกหรือปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปแล้ว 8,300 เว็บไซต์ ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติรอดำเนินการทางกฎหมายกับเว็บไซต์ราว 32,500 หน้า ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายต่างๆ ส่วนในปี 2550 เว็บไซต์ YouTube ถูกบล็อกเป็นเวลาหลายเดือน
พื้นที่ไซเบอร์ไม่เพียงถูกจำกัดจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ยังมีกฎหมายอื่น นายสุวิชาเป็นผู้หนึ่งที่ถูกดำเนินคดี เขาถูกตั้งข้อหาด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ผ่านออกมาในสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ถูกแต่งตั้งโดยทหาร กฎหมายนี้ถือว่าการนำข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติมาเก็บในคอมพิวเตอร์ถือเป็นความผิด วิดีโอต่อต้านพระราชวงศ์ที่มีลักษณะหยาบคายในสายตาของเจ้าหน้าที่ไทยถือเป็นความผิดนั้น สุวิชาเป็นคนแรกที่ถูกตัดสินภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี และเชื่อว่าเขาจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่รับโทษ โดยตำรวจได้จับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนับสิบรายที่โพสต์ความเห็นในเว็บบอร์ดด้วยข้อหาคล้ายกันนี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจยังทำงานหากเว็บมาสเตอร์ลบข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมายไม่ทัน หนึ่งในนั้นคือ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งถูกตั้งข้อหาในเดือนเมษายน เนื่องจากในเว็บมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน โดย น.ส.จีรนุช ยืนยันว่าได้ลบข้อความดังกล่าวเมื่อได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีที แต่นายอารีย์ จิวรรักษ์ กล่าวว่า น.ส.จีรนุชควรจัดการกับความเห็นดังกล่าวด้วยตัวเองทันที และ “ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น” สิ่งที่เป็นความลำบากใจของ น.ส.จีรนุชคือการต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นหญิงชาวไทยที่ใช้ชื่อออนไลน์ว่า “Bento” แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดย “Bento” ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหา ส่วน น.ส.จีรนุชก็เผชิญกับข้อหาในหลายกระทงซึ่งมีโทษรวมกันกว่า 50 ปี
อาชญากรรมหรือประเด็นการเมือง
ในรายงานระบุต่อไปว่า เป็นที่ทราบว่า การเมืองได้ถอยหลังไปสู่การล่าแม่มด นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 ในประเทศไทย ทำให้เกิดการแบ่งเป็นสองฝ่ายระหว่างผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ถูกโค่นจากอำนาจ และฝ่ายตรงข้ามที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม เมื่อธันวาคมปีที่แล้วรัฐบาลผสมนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เข้าบริหารประเทศ หลังการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านทักษิณอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมและใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ ขณะที่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนทักษิณซึ่งใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ ล้มเหลวในการขับอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่ง ซึ่งอภิสิทธิ์ได้อ้างว่าคนเหล่านี้คิดบ่อนเซาะสถาบันกษัตริย์ ผู้หนุนหลังอภิสิทธิ์ได้ชี้นิ้วไปที่ทักษิณผู้โมโหง่าย ซึ่งทักษิณเองได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าไม่จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ พร้อมกับเล็งเป้าหมายการโจมตีกลับไปที่รัฐบาล “อภิสิทธิ์ชน”
แต่ความพยายามของฝ่ายที่ประกาศว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ดูเหมือนว่ายิ่งสร้างผลกระทบต่อสถาบัน ยิ่งถูกวิจารณ์โดยฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา อย่างกรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งประกาศว่าหน้าที่สำคัญที่สุดคือการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายระดับนำในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งแทนที่มีหน้าที่จับนักค้ายาเสพย์ติดคนสำคัญและบรรดาผู้ทุจริต แต่กลับต้องมายุ่งอยู่กับการจับบล็อกเกอร์ที่ไม่มีความสำคัญอะไร
ด้วยการดำเนินคดีชาวไทยผู้เปิดรูระบายความร้อนออนไลน์ ผู้พิทักษ์ศีลธรรมเหล่านี้อาจเพิ่มความไม่พอใจที่มีต่อชนชั้นนำกรุงเทพฯ บางทีเป็นการโหมกระพือไฟให้กับแนวคิดสาธารณรัฐนิยม ความกระตือรือร้นที่เกินไปของผู้พิทักษ์ศีลธรรมเป็นการตัดราคาความพยายามเล็กๆ ของอภิสิทธิ์ ที่ต้องการรวมความแตกแยกเป็นขั้วภายในชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสในปี 2548 ว่าพระองค์ไม่ทรงอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ และพระองค์ยังทรงอภัยโทษให้กับนักโทษที่ถูกตัดสินโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย ในจำนวนนี้รวมถึงนายแฮรี่ นิโคไลดส์ นักเขียนชาวออสเตรเลีย ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
แม้แต่ในประเทศจีนก็ยากที่จะควบคุมอินเทอร์เน็ต (อาทิตย์นี้ รัฐบาลจีนได้เลื่อนแผนจัดซื้อซอฟแวร์เพื่อกรองการเข้าอินเทอร์เน็ตสำหรับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง) และเมื่อเทียบกับการควบคุมระดับช่ำชองของจีน การเซ็นเซอร์ของไทยก็แค่ระดับ Firewall 101 ที่ใช้คำสำคัญหรือคีย์เวิร์ดเพื่อหาเว็บไซต์ต้องสงสัย นักท่องเน็ตเพียงแต่อาศัยเล่ห์เหลี่ยมก็สามารถหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ได้โดยการใช้เว็บพร็อกซี่ (proxy) และเครื่องมืออื่นๆ แบบที่นักท่องเน็ตในจีนหรือพม่าใช้
ตอนท้ายของรายงาน ดิอีโคโนมิสต์ยังแสดงความห่วงใยว่า ความพยายามของรัฐบาลในการปกป้องภาพลักษณ์ที่ดีของพระมหากษัตริย์ ไม่เพียงแต่จะเป็นการทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อความนิยมที่มีต่อราชวงศ์ด้วย
ย้อนพิจารณาการห้ามจำหน่ายดิ อีโคโนมิสต์ในไทย
โดยสรุปนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2551 ถึงปัจจุบันคือเดือนกรกฎาคม 2552 มีนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ที่ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยด้วยสาเหตุต่างๆ 4 ฉบับ ดังตารางสรุปข้างท้ายนี้
ดิอีโคโนมิสต์ ฉบับที่ไม่มีการจำหน่าย/ชื่อบทรายงานต้องห้าม
สาเหตุของการไม่มีจำหน่าย
การเข้าถึงทางอินเทอร์เน็ต
December 6th 2008/The king and them
ตำรวจสันติบาลห้ามจำหน่าย
ถูกบล็อกโดยไอซีที
January 24th 2009/The trouble with Harry
ผู้จัดจำหน่ายตัดสินใจไม่จำหน่ายเอง
ยังเข้าถึงได้
January 31st 2009/ A sad slide backwards
ผู้จัดจำหน่ายตัดสินใจไม่จำหน่ายเอง
ยังเข้าถึงได้
July 4th 2009/ Treason in cyberspace
ผู้จัดจำหน่ายตัดสินใจไม่จำหน่ายเอง และ ตำรวจสันติบาลห้ามจำหน่าย
ยังเข้าถึงได้
ที่มาของตาราง: เรียบเรียงโดยประชาไท

ปกดิอีโคโนมิสต์ ฉบับ 6 ธ.ค. 2008 ฉบับที่จำหน่ายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ปกดิอีโคโนมิสต์ ฉบับ 24 ม.ค. 2009

ปกดิอีโคโนมิสต์ ฉบับ 31 ม.ค. 2009

ปกดิอีโคโนมิสต์ ฉบับ 4 ก.ค. 2009 นับเป็นฉบับล่าสุดที่ไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย
ฉบับแรกต้องห้ามทั้งแบบตีพิมพ์และออนไลน์
โดยการงดวางจำหน่ายครั้งแรกเกิดเมื่อปลายปี 2551 โดยมีการห้ามจำหน่ายดิอีโคโนมิสต์ ฉบับ 6 ธ.ค. 2008 ซึ่งมีบทรายงาน The king and them: The royal role in Thailand chaos
โดยฉบับที่จำหน่ายในภูมิภาคอื่น หน้าปกของนิตยสารเป็นภาพชายนักธุรกิจก้มมองหลุมขนาดใหญ่ โปรยว่า “Where have all your savings gone?” ตามเนื้อหาในเล่มที่พูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ ส่วนฉบับที่จำหน่ายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เลือกเหตุการณ์ในประเทศไทยมาเป็นเรื่องหลัก ส่วนภาพปกใช้ภาพผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับยืนคู่กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเหนือศีรษะ
โดยนอกจากการห้ามจำหน่ายฉบับตีพิมพ์แล้ว ในอินเทอร์เน็ตยังมีการบล็อกหน้าบทความดังกล่าวโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ด้วย โดยที่หน้าบทความหากเข้าชมผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยจะระบุข้อความว่า
TTP/1.0 302 Moved Temporary
Location: http://w3.mict.go.th
Connection: close
Content-type: text/plain
โดยเมื่อ 9 ธ.ค. 51 หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ ของสิงคโปร์ ได้อ้างถึงข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งรายงานการห้ามจำหน่ายด้วย โดยทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า รับรู้เรื่องห้ามจำหน่ายนิตยสารฉบับนี้อย่างเป็นทางการ
ผู้ดูแลร้านเอเชียบุคส์คนหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่านิตยสารดังกล่าวถูกห้ามขาย แต่ไม่รู้ว่าใครสั่ง และยังกล่าวว่าที่ถูกห้ามเป็นเพราะบทความพูดถึงพระเจ้าอยู่หัว
ประชาสัมพันธ์ของเอเชียบุ๊คส์ ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีคำสั่งห้ามขายอย่างไม่เป็นทางการโดยกล่าวว่า นิตยสารฉบับดังกล่าวไม่มีจำหน่ายเพราะมีการประท้วงที่สนามบินในขณะนั้น ในขณะที่นิตยสารไทม์ และนิวส์วีคฉบับล่าสุด ยังมีวางจำหน่ายในกรุงเทพฯ
ส่วนโฆษกของดิ อีโคโนมิสต์ ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผู้สื่อข่าวประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนิตยสารดังกล่าวได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปเมื่อเร็วๆ นี้ และบทความที่เป็นปัญหาอยู่นั้น ดูได้ทางอินเทอร์เน็ตเป็นเวลา 4 วันหลังจากที่มีการเผยแพร่ครั้งแรก
ตำรวจใช้วิธี “ขอความร่วมมือ” ผู้จำหน่าย แต่ถ้าใครลอบจำหน่ายจะเจอดำเนินคดี
ส่วนเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ อ้างคำพูดของ พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งระบุเมื่อ 9 ธ.ค. ว่าการห้ามจำหน่ายนิตยสารดังกล่าวเป็นลักษณะ “ขอความร่วมมือ” ผู้จัดจำหน่ายไม่ให้นำเข้าประเทศ “ตำรวจได้คุยกับผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ ซึ่งเห็นพ้องที่จะไม่นำเข้านิตยสารฉบับวันที่ 6-10 ธ.ค. เพราะบทความในนิตยสาร ที่มีเนื้อหาวิจารณ์เบื้องสูง ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ทางตำรวจจะต้องสั่งห้ามการจำหน่ายนิตยสารอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด” พล.ต.ท.ธีรเดชกล่าว
ด้านหนังสือพิมพ์สยามรัฐ รายงานคำพูดของ พล.ต.ท.ธีระเดช เมื่อ 9 ธ.ค. เช่นกัน ซึ่งกล่าวถึงการสั่งตำรวจสันติบาลตรวจสอบการจำหน่ายนิตยสารดังกล่าว โดย พล.ต.ท.ธีรเดช ระบุว่า ขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉเพาะตำรวจสันติบาลเข้าไปตรวจสอบแล้ว และยังไม่พบหนังสือดังกล่าวนำเข้ามาจำหน่ายประเทศไทยแต่อยากจะมีบางส่วนที่ลักลอบนำเข้ามาเป็นบางส่วนถ้าพบเห็นตำรวจก็ต้องดำเนินการจับกุมทันที และให้ตำรวจเร่งหาข่าวอย่างเร่งด่วนแล้ว
ส่วนเมื่อ 12 ธ.ค. 51 นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือประท้วงไปยังบรรณาธิการนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ ระบุว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อมุมมองและทัศนคติของนิตยสารฉบับดังกล่าว ซึ่งลงบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทย
ปัญหาของ “แฮรี่ นิโคไลดส์” กับการเซ็นเซอร์ตัวเองของนิตยสาร
ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับต่อมาที่ไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย คือฉบับวันที่ 24 ม.ค. 2009 โดยกองบรรณาธิการนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ของอังกฤษ ได้ส่งอีเมลแจ้งต่อสมาชิกของนิตยสารในประเทศไทยได้รับทราบว่า ผู้แทนจำหน่ายนิตยสารดังกล่าวในเมืองไทยตัดสินใจงดจำหน่าย ดิ อีโคโนมิสต์ประจำสัปดาห์ล่าสุด เนื่องจากหวั่นเกรงว่า ข้อเขียนว่าด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในฉบับล่าสุดอาจก่อให้เกิดปัญหา
โดยในฉบับนี้ มีบทรายงานเรื่อง “The trouble with Harry” ซึ่งเผยแพร่ในเว็บของดิ อีโคโนมิสต์เมื่อ 22 ม.ค. กล่าวถึงกรณีที่นายแฮรี่ นิโคไลดส์ (Harry Nicolaides) นักเขียนและอาจารย์ชาวออสเตรเลีย ถูกจับหลังเผยแพร่นิยายที่เขาแต่งเรื่อง “Verisimilitude” ซึ่งมีข้อความไม่กี่ย่อหน้าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งแฮรี่ถูกตัดสินจำคุก 3 ปี และต่อมาได้รับการอภัยโทษ โดยบทรายงานของดิ อีโคโนมิสต์ดังกล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย และมีเนื้อหาบางช่วงกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
แม้ตัวแทนผู้จัดจำหน่ายจะตัดสินใจไม่จัดจำหน่ายดิ อีโคโนมิสต์ฉบับนี้ แต่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ยังสามารถอ่านบทรายงานดังกล่าวได้โดยที่กระทรวงไอซีทียังไม่ดำเนินการปิดกั้น
ผู้จัดส่งไทยปฏิเสธส่ง The Economist สองฉบับติด
ในสัปดาห์ถัดมา เมื่อ 31 ม.ค. 52 เว็บไซต์ SIU อ้างรายงานข่าวของรอยเตอร์ ระบุว่า ผู้แทนจำหน่ายนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ในไทย ได้ปฏิเสธส่งนิตยสารฉบับวันที่ 31 มกราคม 2009 อีกครั้งหนึ่ง โดยรอยเตอร์มองว่าการปฏิเสธการจัดจำหน่ายครั้งนี้เป็นเพราะ ตัวเนื้อหาในบทรายงาน “A sad slide backwards” ซึ่งกล่าวถึงการที่ทางการไทยผลักดันผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญาที่มาจากรัฐอาระกัน ประเทศพม่าออกจากประเทศอย่างไม่มีมนุษยธรรม
รอยเตอร์มองว่า เนื้อหาของบทรายงานดังกล่าวอาจพาดพิงถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และกองทัพ อย่างไรก็ตาม SIU รายงานเพิ่มเติมว่า จากอีเมลที่ ดิ ดิอิโคโนมิสต์ ที่ส่งถึงสมาชิกที่อยู่ในไทย อธิบายเหตุผลในการไม่จัดส่งนิตยสารดิ อิโคโนมิสต์ว่า เป็นเพราะมีเนื้อหาที่พาดพิงถึงราชวงศ์ไทย และว่าจะมีการชดเชยฉบับอื่นโดยยืดเวลาสมาชิกภาพออกไปให้
และเช่นเดียวกับฉบับก่อน ที่แม้ฉบับนี้จะไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย แต่ยังสามารถอ่านบทรายงานดังกล่าวได้ทางอินเทอร์เน็ตโดยที่กระทรวงไอซีทียังไม่ปิดกั้น
และล่าสุดสำหรับการเป็นนิตยสารต้องห้ามของดิ อีโคโนมิสต์ ก็คือฉบับล่าสุดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตในไทย