ที่มา Thai E-News
โดย ทหารอาชีพ
7 กรกฎาคม 2552
*บทความครบชุดประกอบด้วย:
-ตอนที่1:สงครามประชาชน สงครามปฏิวัติ
-ตอนที่2:การปฏิวัติสังคม
-ตอนที่3:ยุทธศาสตร์ นโยบาย ภารกิจ
-ตอนที่ 4:แนวทางการต่อสู้/องค์กรนำและหน่วยปฏิบัติการ
-ตอนจบ:ภาคการทหาร หลักการรบ สงครามประชาชน
ภาคการทหาร
จากความจริงที่ว่าการสงครามนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายของทางการเมือง ซึ่งหมายถึงหากมีการดำเนินการทางการเมืองที่ถูกต้อง การเจรจาต่อรอง การแบ่งสรรอำนาจเพื่อยุติความขัดแย้งอาจเป็นไปได้ด้วยวิถีทางทางการเมือง แต่ถ้าหากการเจรจา ต่อรอง ประนีประนอมนั้นเป็นไปไม่ได้ หนทางสุดท้ายของการเมืองก็คือสงคราม และในกรณีนี้สงคราม ขั้นสุดท้ายคือสงครามประชาชน (Clause Witz: ttp://www.clausewitz.com/CWZHOME/VomKriege2/ONWARTOC2.HTML)
อย่างไรก็ตามหากการเดินเรื่องทางการเมืองประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นการหลีกเลี่ยงสงครามไปได้ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนจำนวนแสน จำนวนล้านจากสงคราม ดังนั้นในทุกสถานการณ์ จึงต้องใช้การเมืองนำการทหาร ไม่ใช้การทหารนำการเมืองเป็นอันขาด ความสำเร็จและชัยชนะต้องได้มาจากความสำเร็จด้านการเมืองก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเกิดสงครามในที่สุดหรือไม่ก็ตาม หรือแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางสงครามก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้เรื่องการทหารจึงมีความจำเป็น แนวคิดด้านการทหารนี้ จะประยุกต์ทั้งที่เป็นของตะวันตกและตะวันออก ในส่วนของตะวันตกนั้นจะเป็นหลักสงครามทั่วไป ส่วนทางตะวันออกนั้นจะเป็นยุทธวิธีการทหารของจีนเพื่อให้มีแนวคิดทฤษฎีเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์กับสภาพแวดล้อมจริงที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเช่นเคยเอกสารนี้จะไม่จำกัดอยู่ในเรื่องเฉพาะถิ่น เฉพาะพื้นที่หากแต่จะเป็นหลักการทั่วไปที่สามารถ นำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ปฏิบัติการในสนามไปจนถึงระดับชาติขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการนำไปใช้
นอกเหนือจากนั้น แนวคิดด้านการทหาร ที่เป็นกลยุทธด้านต่างๆนั้น สามารถนำไปใช้ในยามสงบในเรื่องของ การแข่งขันทางการเมือง ทางธุรกิจและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือยุติไม่ให้เกิดเงื่อนไขสงครามที่จะนำไปสู่การเกิดสงครามได้ ดังนั้นเอกสารนี้ จึงเป็นเรื่องของทั้งสงครามและสันติภาพในตัวเอง มีลักษณะของความเป็นกลางขึ้นอยู่กับผู้ที่นำไปใช้ว่ามีจิตใจรับใช้มวลชนหรือต้องการอำนาจผูกขาดไว้กับตนเองและพวกพ้อง
อย่างไรก็ตามเอกสารนี้ผลิตขึ้นเพื่อรับใช้มวลชน รับใช้ประชาชน มีแนวทางการต่อสู้ในวิถีทางของประชาธิปไตย ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารนี้จึงเป็นแนวทางของฝ่ายธรรมะ ของฝ่ายประชาธิปไตยเสมอ
หน่วยทหารในที่นี้ อาจเป็นหน่วยทหารขนาดเล็ก หน่วยอาสาสมัครฝ่ายพลเรือน หรือแม้แต่ทหารบ้านหรือชุดรักษาหมู่บ้านหรือแม้แต่ ไทยอาสาป้องกันชาติในอดีตที่ติดอาวุธก็สามารถนำไปใช้งานได้เช่นกัน และ อาจขยายตัวเป็นได้ถึง กองทัพแห่งชาติซึ่งรวมเอาทุกเหล่าทัพไว้ด้วยกันก็ได้ ไม่จำกัดขนาด สถานที่และเวลา อยู่ที่การนำไปปรับใช้อย่างแยบคายเท่านั้น
การเมืองนำการทหาร
- การเมืองอยู่เหนือการทหาร อย่าให้ชัยชนะทางทหารเล็กๆน้อยๆ มาทำให้เข้าใจว่าชนะสงครามนั่นเป็นเพียงการรบเท่านั้น การทหารต้องรับใช้การเมือง การเมืองเป็นผู้กำหนดทิศทางของการทหาร
- งานการเมืองจัดตั้งขึ้นในหน่วยทหารเพื่อสร้างความสามัคคีในหน่วยของตนก่อน จึงจะออกไปปฏิบัติงาน การเมือง การทหารภายนอกได้ งานการเมืองนี้รวมถึงกลุ่มที่เป็นพันธมิตร การสามัคคีกับประชาชน การทำให้กลุ่มคู่ขัดแย้งหรือศัตรูหมดพันธมิตรหรือกำลังของตนลง สิ่งนี้จะเป็นหลักประกันแห่งชัยชนะในบั้นปลาย
- การให้การศึกษาทางความคิดเป็นหัวใจ ในการสร้างความสามัคคีทั่วทั้งมวลชน
- หลักการทางการเมืองข้อแรกคือ หลักความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างผู้นำและผู้ตาม นายทหารกับ พลทหาร กวาดล้างการถือตัว หยิ่งยโส เจ้าขุนมูลนายออกให้สิ้น ยกเลิกระบบดุด่า ทุบตี สร้างวินัยจาก ความสำนึกและการใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน
- หลักการทางการเมืองข้อที่สองคือ หลักการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง มวลชนกับประชาชน กองทัพกับประชาชน ได้แก่การไม่ล่วงเกินมวลชนเลยในทุกประการ พบปะให้ความรู้ต่อประชาชน ฝึกสอน อบรมประชาชน ติดอาวุธให้กับประชาชน (ทำนอง ทสปช.) ผ่อนเบาภาระของประชาชนที่จะมีต่อหน่วยทหาร โจมตีและลงโทษพวกทรยศอย่างรุนแรง
- หลักการประการที่สามประการสุดท้ายคือ คือ หลักการทำให้กองทหารของข้าศึกสลายตัวและปฏิบัติต่อเชลยศึกด้วยความเมตตา
- นายทหารต้องถนอมรักพลทหาร จะเฉยเมยไม่เอาใจใส่หรือแม้แต่ลงโทษทางการไม่ได้ กองทัพต้องเคารพรัฐบาล และเคารพแขนขาของรัฐบาล จะตั้งตัวเป็นอิสระไม่ได้
- เชลยต้องได้รับการปล่อยตัว ยกเว้นเชลยที่มวลชนมีความเคียดแค้น ถ้าเชลยศึกกลับมารบอีก จับได้อีกก็ปล่อยอีก อย่าเหยียดหยาม อย่าค้นทรัพย์ อย่ายักยอกทรัพย์เชลย ใช้แต่ความเมตตาและจริงใจเท่านั้น
- กองทัพจะชนะได้ ก็เพราะพลทหาร จึงต้องใช้งานการเมืองเพื่อบรรลุความเป็นเอกภาพระหว่างนายทหารกับพลทหารด้วยการเป็นกรรมการร่วมกัน รับประทานอาหารจากหม้อเดียวกัน การทำสงครามจึงจะมีประสิทธิภาพ
- ต้องใช้วิธีจูงใจเท่านั้น จะใช้การบังคับหรือสั่งให้พลทหาร หรือ มิตรยอมทำตามนั้นไม่ได้
แนวทางประชาธิปไตยในกองทัพ
- นายทหารและพลทหารรับประทานอาหารในหม้อเดียวกัน และเหมือนกันทุกประการ
- พลทหารมีเสรีภาพในการเปิดการประชุมและพูดในกิจการของหมู่พลทหาร
- พลทหารมีสิทธิเข้าร่วมเป็นกรรมการในการจัดเลี้ยงอาหารด้วยการเป็นผู้ช่วยนายทหารในการประกอบเลี้ยง
- ยกเลิกพิธีการจุกจิก เพื่อแสดงอาการเหนือกว่ากันระหว่างนายทหารกับพลทหาร
- ต้องไม่แสดงว่าทหารมีความเหนือกว่าประชาชน ทั้งในด้านภาษา พฤติกรรม เรื่องชู้สาว และห้ามดื่มสุรากับประชาชน
- เป้าหมายการเมืองในหน่วยทหารคือ ให้ความรู้และการศึกษากับพลทหาร นายสิบและนายทหารเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดความต้องการเข้าร่วมกระบวนการประชาธิปไตย
- จุดมุ่งหมายทางการเมืองในหน่วยทหารมี 3 ประการได้แก่ ความสามัคคีในระดับสูงทางการเมือง การปรับปรุงชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและเป็นการยกระดับยุทธวิธีและเทคนิคทางการทหารให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่านั้น
- การฝึกให้นายทหารและพลทหารสอนซึ่งกันและกันในความถนัดของตนที่ต่างกันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ การฝึกอย่างสูงสุด
- การฝึกให้พลทหาร สอนพลทหารด้วยกันทางการเมืองและการทหาร
- ในการรบ ต้องมีการจัดประชุมในทุกระดับในรูปแบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเข้าใจในการปฏิบัติการรบร่วมกันด้วยการอภิปราย ผลัดกันพูดและฟังอย่างมีระเบียบ กำหนดแนวทางการปฏิบัติการรบด้วยความรู้ทางยุทธวิธีที่ได้ฝึกไป โดยมีการประชุมหลายครั้งในการรบครั้งหนึ่งๆ เพื่อให้มีความคิดตรงกันอย่างสมบูรณ์ก่อนออกปฏิบัติการ
- แนวทางการอภิปรายมีสองประการคือ เมื่อรู้ต้องพูด และเมื่อพูดต้องพูดให้ครบทุกแง่มุม และใครพูดไม่มีความผิด ผู้ฟังต้องตั้งใจฟังในกรอบการอภิปรายที่กำหนดร่วมกัน
- ประชาธิปไตยในหน่วยทหาร ต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยเฟ้อที่ไร้ระเบียบวินัย แต่ต้องมีการกำหนดจุดหมาย เพื่อเสริมสร้างวินัยให้เกิดความมั่นคงและเป็นการเพิ่มสมรรถภาพในการรบให้สูงขึ้นเท่านั้น
- ต้องวิจารณ์ตนเองว่า การใช้เสรีภาพอย่างไม่มีระเบียบวินัยและเอาเปรียบผู้อื่น หรือบั่นทอนสมรรถนะในการรบและวินัยในหน่วยคือ ลัทธิประชาธิปไตยเฟ้อ
หลักการรบ
- ตีข้าศึกที่กระจัดกระจายและโดดเดี่ยวก่อน
- ยึดเมืองเล็กและชนบทก่อนเมืองใหญ่
- ทำลายล้างกำลังก่อนยึดที่มั่น
- การรบเด็ดขาด ใช้กำลังมากกว่า 2-3 เท่า หากมีอาวุธเหนือกว่ามาก และ ใช้กำลังมากกว่า 5-6 เท่าหากอาวุธเสมอกันและต้องทำลายกำลังข้าศึกไม่ให้เหลือ
- หลีกเลี่ยงการเสียกำลังพล จากการรบที่มีกำลังพอๆกันหรือเสียเปรียบ
- จะทำการรบต้องมีความพร้อมเท่านั้นและมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะเด็ดขาดในการรบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
- การรบใหญ่คือการมีมวลชนจำนวนมหาศาลนำหน้าเข้าหาข้าศึกและมีแนวร่วมจากฝ่ายข้าศึกเข้ามาร่วมกับ ฝ่ายเราทำให้ข้าศึกระส่ำระสายและยอมแพ้ตลอดทุกแนวรบ ที่ใดที่ยังมีกำลังข้าศึกอยู่ให้ใช้กองกำลังทำลายกำลังฝ่ายข้าศึกให้หมดสิ้น การรบใหญ่นี้ จะมีเพียงครั้งเดียวในการสงครามและเป็นการรบแตกหักครั้งสุดท้าย
- การรบใช้การรบอย่างกล้าหาญและหนุนเนื่องติดต่อกัน
- พยายามทำลายข้าศึกที่กำลังเคลื่อนที่
- เข้ายึดที่มั่นที่อ่อนแอก่อน แต่หากข้าศึกเข้มแข็ง ต้องรอให้งานการเมืองสุกงอมก่อน
- ชิงอาวุธและกำลังของข้าศึกมาเป็นฝ่ายเราให้มากที่สุด ด้วยงานการเมืองและการทหาร
- ในระหว่างทำการรบ ต้องทำจังหวะการรบหนุนเนื่องให้ต่อเนื่องมากกว่าของฝ่ายข้าศึก รุกรวดเร็วจนกว่าจะได้ชัยชนะ
- กำลังแม้น้อยกว่า แต่หากมีคุณภาพมากกว่า มีการเตรียมการมากกว่า ก็จะสามารถเอาชนะข้าศึกที่กำลังเหนือกว่าแต่ประมาทและไม่ระมัดระวังตัวได้
- สงครามจะชนะเพราะ กำลังมวลชน กำลังใจ มาก่อน แล้วจึงจะเป็นกำลังทหารและกำลังทางเศรษฐกิจ
- ทุกขั้นตอนการรบ มีงานการเมืองกำกับทั้งในชนบท ในเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายสงครามประชาชน
หน้าที่ของกองทัพ
- ทำลายกำลังทหารของข้าศึก ไม่ใช่การยึดที่มั่น
- โฆษณาต่อมวลชน
- จัดตั้งมวลชน
- ฝึกและติดอาวุธให้มวลชน
- ช่วยมวลชนจัดตั้งอำนาจรัฐ
- จัดตั้งแกนนำและองค์กร
การสร้างความสามัคคีของกองทัพ
- ระหว่างนายทหารกับพลทหาร
- ระหว่างหน่วยเหนือกับหน่วยรอง
- ระหว่างงานด้านการทหาร งานด้านการเมืองและงานการส่งกำลังบำรุง
- กองทัพกับประชาชน
- กองทัพกับรัฐบาล
- กองทัพฝ่ายเรากับพันธมิตร
การตัดสินใจปฏิบัติการใด ๆ ขึ้นอยู่กับ
- ต้องมีข่าวกรองที่รอบคอบและจำเป็น
- วิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นที่สำคัญ ครอบคลุมอุปนิสัยใจคอและความคิดของศัตรูที่เผชิญหน้าทั้งในด้าน การเมืองและการทหาร
- การวิเคราะห์ปัญหาต่างๆต้องมีข้อมูลที่เป็นรูปธรรม เป็นภววิสัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช้อารมณ์
- เปรียบเทียบสถานการณ์ฝ่ายข้าศึกกับฝายเรา ชั่งน้ำหนักข้อดี ข้อเสีย รอบด้าน
- ตัดสินใจ กำหนดแผนการ ให้ความสำคัญกับการหลอกล่อ กลอุบายใช้กำลังน้อยเอาชนะกำลังมากด้วยการ ดึงเข้ามาสู่กับดักที่ได้เตรียมไว้
หลักการจรยุทธ์
- เอ็งมา ข้ามุด เอ็งหยุด ข้าแหย่ เอ็งแย่ ข้าตี เอ็งหนี ข้าตาม
- รบชนะถึงรบไม่ได้เปรียบรบชนะไม่ได้ก็จรยุทธ์ไปเรื่อยๆ
- แกรบของแก ข้ารบของข้า รบชนะก็รบ รบไม่ชนะก็มุด
- คุณค่าของทหารอยู่ที่คุณภาพและประสิทธิภาพของคน ไม่ใช่จำนวนคน
งานการเมืองในกองทัพ
- งานการเมืองต้องจัดตั้งเพื่อสร้างความสามัคคีในกลุ่มของตน ( จากหลักการที่กล่าวมา การเรียกร้องทั่วไป ไม่สำคัญเท่ากับการจัดตั้ง) การจัดตั้งจึงเป็นหัวใจของงานการเมือง นำการจัดตั้งไปให้กับกลุ่มมิตรเพื่อสร้างการร่วมมือกันต่อไปโดยส่วนมากคือแนวร่วมทางตรง สามัคคีกับประชาชนทั่วไปคือฝ่ายเป็นกลางไม่ให้เกิดความไม่พอใจหรือรังเกียจฝ่ายเรา เจาะเข้าไปในกลุ่มของฝ่ายตรงข้ามให้เกิดการสลายตัวโดยเริ่มจากจุดที่ อ่อนแอก่อนแล้วขยายไปทั่วทั้งกลุ่ม ทั้งองค์กร เพื่อเป็นหลักประกันในชัยชนะเมื่อมีการรุกใหญ่ครั้งเดียว
- การให้การศึกษาทางความคิดเป็นหัวใจในการสร้างความสามัคคีทั้งทั้งองค์กรและมวลชน สร้างจิตสำนึกรังเกียจ ลัทธิศักดินาขุนศึกเจ้าขุนมูลนาย นายทุนเอารัดเอาเปรียบ ความไม่ยุติธรรม การใส่ร้าย ป้ายสี การยัดเยียดข้อหา และการรังเกียจทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และศาสนา ที่ดำรงอยู่ในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยมีการเสแสร้งอ้างอุดมการณ์ทางการเมือง ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือจริยธรรม จารีตประเพณีของกลุ่มตนเพื่อดำรงการเอารัดเอาเปรียบทางผลประโยชน์เอาไว้
สร้างความตระหนักในการถูกกดขี่ ขูดรีดตลอดมาดังกล่าวให้มีความตั้งใจที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อลูกหลานของตน และเข้าใจถึงวิธีการที่จะบรรลุความสำเร็จนั้น