ที่มา มติชน
คอลัมน์ วิเคราะห์
กลับกลายเป็นว่า นายอภิสิทธิ์ ได้ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นประโยชน์ทางการเมืองอย่างได้ผล
เปลี่ยนจาก "กอดคอกันตาย" มาเป็น "รวมกันเราอยู่"
ทั้งนี้เพราะผลการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดได้บ่งชี้ชัดแจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงได้รับความนิยมอยู่
ไม่ว่าจะเป็นความนิยมอันเนื่องมาจากโครงการ "ประชานิยม" ที่ของแท้ต้องมีโลโก้ "นายห้างตราสามใบห่อ"
หรือว่าจะเป็นความนิยมที่เกิดจากอาการรังเกียจพฤติกรรม "เนรคุณ" อย่างที่มีการกล่าวอ้าง
หรือเป็นอิทธิฤทธิ์การ "โฟนอิน" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และการเดินหาเสียงของคนในตระกูล "ชินวัตร"
แต่ทั้งหมดนี้ล้วนโฟกัสไปที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงมีบารมีเต็มเปี่ยมในพื้นที่ภาคอีสาน
ภาคอีสานที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าภาคอื่นๆ ในประเทศไทย
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เมื่อผลการเลือกตั้งซ่อมปรากฏออกมาเช่นนี้ จะเกิดผลสะเทือนในแวดวงการเมืองไม่ใช่น้อย
เป็นผลสะเทือนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ภาคอีสานที่กำลังเลือกพรรคที่จะสังกัดในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า
เป็นผลสะเทือนของพรรคภูมิใจไทย ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นพรรคของคนอีสานที่เข้ามาแทนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยสโลแกน "ประชานิยม สังคมเป็นสุข"
เป็นผลสะเทือนของพรรคการเมืองขั้ว "ประชาธิปัตย์" และพรรคการเมืองขั้ว "เพื่อไทย"
และเป็นผลกระทบที่สะเทือนมาถึงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค
ผลสะเทือนดังกล่าวทำให้นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ว่า "ต้องทำงานหนักขึ้น"
ขณะที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยอย่างนายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ออกมาบอกให้รัฐบาลทุ่มงบประมาณลงอีสานมากๆ มิเช่นนั้นก็ต้องกอดคอกันตายหมู่
จังหวะเดียวกัน กลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุม ณ ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนก็แสดงความขึงขัง รับฟังเสียง "โฟนอิน" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ท่ามกลางสายฝน และประกาศเจตนารมณ์ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ
ท่ามกลางความฮึกเหิมที่ถ่ายทอดผ่านการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ การประชุมพรรคเพื่อไทยที่ยังยืนยันเจตนารมณ์เชิดชู พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค และความเคลื่อนไหวของบรรดาลูกๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ยกเงินค่าหนังสือให้การกุศล
ทำให้บรรดาฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณเกิดความหวาดหวั่นขึ้นมาอีกครั้ง
อย่าลืมว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีลักษณะโดดเด่นในการบริหารงาน คือ "บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ"
ดังนั้น นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสกลนครปรากฏออกมา บรรยากาศการเขียน "ทักษิณ" ให้ฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณกลัวก็อุบัติ
สังเกตได้จากข่าวคราวต่างๆ เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณปรากฏขึ้น
มีข่าวคราวเรื่อง "แผนตากสิน ภาค 2" มีข่าวคราวเรื่อง "เส้นทางการเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ" และข่าวคราวอื่นๆ ที่ยังยืนยันว่า "ทักษิณจะกลับมา"
บรรยากาศการเขียน "ทักษิณ" ให้ใครต่อใครกลัวนั้นทำให้เกิดผลสะท้อนกลับ
จาก "กอดคอกันตาย" มาเป็น "รวมกันเราอยู่" โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นคนเดิมเกม
เริ่มตั้งแต่การประกาศ "ผมไม่กลัวคุณทักษิณ" ของนายอภิสิทธิ์
เรื่อยมาจนถึงการนัดเจรจาความเมืองกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำคนสำคัญของพรรคภูมิใจไทยที่มีข่าวระหองระแหงกับพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องงบประมาณและโครงการใหญ่ๆ ของรัฐบาล ทั้งโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน โครงการจำนำข้าวโพด โครงการจำนำข้าว ฯลฯ
จากนั้นออกมาเปิดเผยผลการหารือว่า จะหยุดโครงการที่ไม่โปร่งใส และเดินหน้าสร้างเอกภาพในรัฐบาล
เป็นเอกภาพที่เกิดขึ้นจากความกลัว
กลัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ยังมีอนาคตทางการเมือง ประกาศยุบสภา ตัดทอนการใช้เงินงบประมาณ 8 แสนล้านบาทที่วางกองอยู่ตรงหน้า หากเห็นว่า หนทางที่จะก้าวเดินต่อไปเป็น "โทษ" มากกว่า "คุณ"
จังหวะเดียวกันก็กลัวกระแส พ.ต.ท.ทักษิณ ที่คอยคุกคามคะแนนนิยมในพื้นที่ภาคอีสาน
วันนี้พรรคร่วมรัฐบาลจึงต้องคิดถึงหนทางแห่งความอยู่รอด
และมีแนวโน้มว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเลือกหนทางที่นายอภิสิทธิ์ขีดให้เดิน
นั่นคือ "รวมกันเราอยู่" นั่นเอง