ที่มา ประชาไท
สุรพศ ทวีศักดิ์เสนอทางแก้ปัญหาเรื่อง “วัฒนธรรมโกง” ไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนทัศนคติของประชาชน แต่ต้องสร้างช่องทางให้ประชาชนรู้ทันและสามารถตรวจสอบอำนาจอันเป็นที่มาของวัฒนธรรมโกงนั้นมากกว่า!
ผลสำรวจของเอแบคโพลล์จากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวน 1,228 ครัวเรือน พบว่า “ร้อยละ 84.5 มองว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ ร้อยละ 51.2 ยังยอมรับได้ที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น โดยคิดว่าทุกรัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าทุจริตแล้วทำให้ประเทศรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดีก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้” (ประชาไทออนไลน์, 29-06-2552)
ผู้เขียนไม่ได้เห็นคำถามของเอแบคโพลล์ที่ใช้ถามกลุ่มตัวอย่าง แต่จากผลสรุปข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ตอบคำถามเชื่อหรือยอมรับอยู่แล้วว่า การทุจริตคอรัปชั่นในวงการธุรกิจและรัฐบาลทุกรัฐบาลเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงจนถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา และจากความเห็นที่ว่า “ถ้าทุจริตแล้วทำให้ประเทศรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดีก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้” สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนหมดหวังกับการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ความหวังที่ยังพอจะเหลืออยู่ คือ หวังว่ารัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นจะใช้ความสามารถหรือยอมเหลือ “ส่วนแบ่ง” สำหรับพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นบ้าง
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ การมองว่า “การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่มีอยู่จริงในทุกวงการ” กับการมองว่า “การทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทุกวงการ” มีนัยต่างกัน กล่าวคือมุมมองแรกไม่ได้มีความหมายในเชิงยอมรับหรือปฏิเสธการทุจริตคอรัปชั่น แต่มุมมองหลังมีความหมายในเชิงยอมรับการทุจริตคอรัปชั่นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หรือเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ (ใครๆเขาก็ทำกัน ฉันก็ต้องทำบ้าง)
ส่วนมุมมองที่ว่า “ถ้าทุจริตแล้วทำให้ประเทศรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดีก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้”
นั้น นอกจากจะเป็นทัศนคติที่สยบยอมต่อ “วัฒนธรรมโกง” แล้ว ยังฝากความหวังไว้กับวัฒนธรรมโกงด้วยว่าจะสามารถนำพาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี
หากพิจารณาในเชิงตรรกะ การทุจริตคอรัปชั่นกับความเจริญรุ่งเรืองของประเทศย่อมไปด้วยกันไม่ได้ เพราะสิ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ นอกจากความเจริญทางวัตถุ เทคโนโลยี ความสามารถในการผลิต การแข่งขัน ประชาชนอยู่ดีกินดี เป็นต้นแล้ว ความสุจริตโปร่งใสและความเป็นธรรมก็ถือเป็นตัวบ่งชี้หรือองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งของ “ความเจริญรุ่งเรือง” ของประเทศ
จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ทำไมประชาชน (กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ) กว่าร้อยละ 51 จึงคิดว่าการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลไปด้วยกันได้กับความเจริญรุ่งเรืองของประเทศและการอยู่ดีกินดีของประชาชน เพราะโดยเหตุผลแล้วการทุจริตคอรัปชั่นคือสิ่งทำลายความเป็นธรรมทางสังคม และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จะช่วยลดวิถีการแข่งขันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือวิถีการแข่งขันที่ทำให้คนรวยจำนวนน้อยยิ่งรวยขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด ส่วนคนจนจำนวนมากยิ่งจนลงๆ
ดังนั้น จึงน่าตั้งคำถามต่อมุมมอง “ถ้าทุจริตแล้วทำให้ประเทศรุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดีก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้” ว่ามุมมอง (หรือประชาชนที่มีมุมมอง) ดังกล่าวนี้นิยาม “ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ” อย่างไร
แต่ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นคือ ทัศนคติที่ยอมรับว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา หมดหวังต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และสยบยอมต่อวัฒนธรรมโกงดังกล่าว เป็นทัศนคติที่สวนทางกับกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยแบบตรวจสอบ/แบบมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม
ถ้าเราเชื่อว่าประชาธิปไตยแบบตรวจสอบ/แบบมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตยก้าวหน้าที่สังคมเราควรพยายามสร้างขึ้น ทัศนคติของประชาชนในชาติที่ยอมรับ สยบยอม หรือกระทั่งหวังพึ่งรัฐบาลโกงในการสร้างความเจริญของประเทศและความอยู่ดีกินดีของประชาชน ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรด่วนสรุปว่า ทัศนคติที่ยอมรับ สยบยอม (หรือกระทั่งหวังพึ่ง) วัฒนธรรมโกงดังกล่าว เป็นปัญหาความไม่สามารถแยกแยะถูก-ผิดของประชาชน แล้วก็เลยคิดว่าจะต้องไปให้ “ปัญญา” ที่ทำให้ประชาชนหายโง่
สิ่งที่เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของทัศนคติดังกล่าว เช่น อำนาจต่างๆที่ตรวจสอบไม่ได้ วิถีการเมือง/เศรษฐกิจที่รองรับหรือปกป้องการมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างอำนาจรัฐอำนาจทุน หรืออำนาจขุนนางอำมาตยาธิปไตยที่ครอบงำสังคมนี้มาอย่างยาวนานต่างหาก คือสิ่งสร้าง/รองรับ “วัฒนธรรมโกง” และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดทัศนคติดังกล่าวในหมู่ประชาชน
ทางแก้ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนทัศนคติของประชาชน แต่ต้องสร้างช่องทางให้ประชาชนรู้ทันและสามารถตรวจสอบอำนาจอันเป็นที่มาของวัฒนธรรมโกงนั้นมากกว่า!