ที่มา เดลินิวส์
หลังจากโดนข้อกล่าวหา “ก่อการร้าย” จริงหรือที่ นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ถูกรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี “อุ้มไว้” ในฐานะ ส.ว.สรรหาผู้ใกล้ชิด “คนเสื้อเหลือง” อย่าง นายคำนูณ สิทธิสมาน กลับไม่คิดเช่นนั้น แต่มองว่าเป็นเรื่อง “นัยทางการเมือง” อะไรทำให้นายคำนูณคิดเช่นนั้น
** ข้อหาก่อการร้ายต่อนายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ มองว่ารุนแรงหรือไม่
ผมคิดว่า ถ้าลำพังข้อหาที่รุนแรงเกินเหตุ ท่านกษิตไม่จำเป็นต้องพิจารณาตัวเองลาออก ถ้าไม่อย่างนั้นก็เกิดการกลั่นแกล้งทางการเมืองได้ อย่างผมเป็น ส.ว. หากมีใครไปแจ้งข้อหาอะไรอย่างหนึ่งแล้วตำรวจก็จะออกหมายเรียกทั้งที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งขณะนี้การตั้งข้อหาต่อกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งหมดกำลังหารือแนวทางต่อสู้กันว่าจะมีการฟ้องร้องตำรวจกลับกรณีตั้งข้อหาที่เกินกว่าเหตุ
ผมคิดว่าท่านกษิตต้องพิจารณาตัวเองให้ถ่องแท้ เพราะผมไม่เชื่อว่ากรณีนี้เป็นการกระทำโดยตำรวจแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะเรื่องระดับนี้เป็นไปได้หรือที่คนฝ่ายการเมือง คนของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงที่ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีจะไม่รู้เรื่องแม้แต่น้อย หรือว่าท่านรู้แล้วท่านไม่ทักท้วง ท้วงติงอะไรเลย หรือเพราะมันเป็นการตั้งข้อหาที่เกินเหตุ เป็นเพราะใครบางคนหรือคนของพรรคประชาธิปัตย์ คนในรัฐบาลที่บางส่วนไม่ใช่คนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ต้องการให้ท่านเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลต่อไปอีกหรือไม่ จึงได้ปล่อยปละให้เกิดการกระทำเช่นนี้
นอกจากนี้ระยะหลังความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา มีสัญญาณที่สับสน ประชาชนทั่วไปดูแล้วก็งงว่า ตกลงผู้ที่จะรับผิดชอบเจรจาเป็นใคร ควรเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศไม่ใช่หรือ แต่ในระยะหลังเห็นมีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม มีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง หรือในกรณีที่เกี่ยวข้องการ เสนอเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกก็มี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปแสดงตนต่อคณะกรรมการฯ ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าแนวทางของนายกษิตไม่เป็นที่ถูกใจของคนบางคนในรัฐบาลนี้ อาจเป็นคนที่อยู่ในและนอกพรรคประชาธิปัตย์ เขาเห็นว่าท่านเป็นอุปสรรคจึงผสมผสานกันนำไปสู่การออกหมายเรียก แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เรื่องเก่าอาจจะมีคนในพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งและคนในรัฐบาล เห็นว่าท่านกษิตมีภาพขึ้นเวทีพันธ มิตรฯ การที่มีท่านเป็นรัฐมนตรีก็ทำให้รัฐบาลถูกโจมตีว่าเอียงข้างพันธมิตรฯ
** ทำไมถึงเสนอให้นายกษิตลาออกดีกว่า
ผมอยากให้ท่านกษิตพิจารณาว่า ถ้าท่านยืนยันว่าท่านยังทำงานได้ไม่กระทบกระเทือนต่อความเป็นอิสระต่อการตัดสินใจและการปฏิบัติตามนโยบายก็นั่งทำงานต่อไป แต่ถ้าเผื่อว่าการอยู่ต่อไปทำให้ทำงานไม่เป็นธรรมชาติ หรือไม่เป็นไปตามความคิดเห็นส่วนตัวของท่าน ผมคิดว่าท่านก็ควรพิจารณาตัวเองลาออก แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การถูกตั้งข้อหา และการที่ท่านอยู่ต่อไปทำให้ท่านปฏิบัตินโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา แต่อย่างไรก็ตามท่านกษิตได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า เรื่องไทย-กัมพูชาใครจะไปเจรจาก็ถือว่าร่วมงานกับท่าน ไม่ติดใจ แต่สุดท้ายก็ต้องผ่านท่านอยู่ดี ถ้าท่านไม่อนุมัติหรือลงนามก็ไม่ได้ เพราะท่านยืนยันว่าจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติในทุกประการ
** คนในพรรคประชาธิปัตย์วางยาหรือไม่
ยอมรับว่าคนอย่างท่านกษิต คนที่ชอบก็ชอบมาก คนที่ไม่ชอบก็ไม่ชอบมาก แล้วคนในรัฐบาลหรือคนในพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับตัวท่าน ผมเพียงแต่อยากให้มองสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็น บทเรียน ช่วงก่อนหน้าเมื่อรัฐบาลขึ้นมาใหม่ไม่ได้จัดแถวจึงส่งผลเสียหายในเหตุการณ์สงกรานต์วิกฤติ แต่หลังเหตุการณ์รัฐบาลได้จัดแถวตำรวจใหม่ ดังนั้นผมจึงคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลหรือคนบางคนในรัฐบาลน่าจะต้องรู้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการออกหมายเรียก ซึ่งเรื่องนี้นอกจากเป็นการกดดันรัฐบาลแล้วและยัง กดดันไปที่ท่านกษิตโดยตรง แม้จะทำงานอยู่ก็จะไม่สะดวก เพราะฉะนั้นท่านต้องประเมินว่า การอยู่ต่อไปจะทำงานได้เต็มที่ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ ผมคิดว่าท่านควรจับเข่าพูดคุยกับหัวหน้ารัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นทะเบียน เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกที่ขั้นตอนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ผมคิดว่าท่านกษิตและรัฐบาลมีนโยบายอย่างไร ท่านควรจะแถลงต่อสาธารณชนให้ชัดเจน เพราะมันจะมีผลต่อปัญหาเรื่องเขตแดน โดยเฉพาะแผนที่พื้นที่เขตแดนทางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ แก๊ส น้ำมันด้วยหรือไม่ เพราะสังคมมีความสงสัยมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ระหว่างเรื่องปราสาทพระวิหารกับเขตแดนทางทะเล มีความเกี่ยวโยงหรือสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะดูการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ หรือรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม มีความเหลื่อมกัน
** แสดงว่าแนวทางการทำงานของนายกษิตกับรัฐบาลเริ่มขัดกัน
ผมคิดว่าน่าจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในประเด็นความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา โดยมุมมองของทหารและ รมว.กลาโหม มองอย่างหนึ่ง รองนายกฯ มองอีกอย่าง และท่านกษิตก็อีกอย่าง ซึ่งไม่แน่ใจว่ามุมมองของท่าน กษิตเริ่มมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ผู้รับผิดชอบในการเจรจาเรื่องจึงมีหลายส่วน
** พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาปกป้องนายกษิตเต็มที่หรือไม่
โดยการเปิดเผยก็เห็นนายกฯ ออกมาพูดปกป้องในระดับหนึ่ง รวมถึงโฆษกประจำตัวนายกฯ แต่เมื่อกระแสสังคมจำนวนหนึ่งเรียกร้องและผล โพลออกมา พรรคประชาธิปัตย์ก็ระบุว่าพร้อมรับฟังเสียงของประชาชน เชื่อว่าท่านกษิตเองก็คงอึดอัดใจว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ ความจริงไม่ควรปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะท่านกษิตจะต้องแบกรับแรงกดดันสูง และเมื่อมีหมายเรียกออกมารัฐบาลซึ่งมีปัญหาต้องรับมือสถานการณ์ที่มีอยู่มากมายก่ายกองในขณะนี้อยู่แล้วก็ต้องมารับมือกับเรื่องเหล่านี้อีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเลย ผมเชื่อว่าฝ่ายการเมืองที่รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รู้ตั้งแต่ต้นก็น่าจะบริหารจัดการได้ดีกว่านี้ คือเราจะไม่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่ว่างานในชั้นตำรวจไม่ใช่องค์กรอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล นายกฯ ก็เป็นประธาน ก.ตร. โดยตำแหน่ง ท่านก็ต้องให้นโยบายว่า การตั้งข้อหา ใด ๆ กับฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือพรรคเพื่อไทย จะต้องยึดหลักความยุติธรรม ไม่ใช่ว่ามีอะไรก็ใส่เข้าไปหมด ไม่ใช่ตั้งไว้แล้วให้จำเลยไปแก้ข้อกล่าวหาที่ศาล ขณะเดียวกันการเลือกบุคคลที่จะตั้งข้อหาดูจากรายชื่อก็ไม่ค่อยได้มาตรฐาน จะเอาทุกคนที่ขึ้นเวทีหมดก็ไม่ใช่ นักวิชาการ นักการทูต หลายคน ไม่ใช่ท่านกษิตคนเดียวแต่ก็ไม่โดน
** แสดงว่ารัฐบาลไฟเขียวให้ตำรวจดำเนินการ
รัฐบาลก็คงบอกว่าไม่มีใบสั่งแน่นอน แต่ผมคิดโดยสามัญสำนึกว่ามีหรือตำรวจจะออกหมายเรียกรัฐมนตรี แล้วคนที่กำกับดูแลตำรวจโดยตรงจะไม่รู้เรื่องเลย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เมื่อเกิดเรื่องแรงกระแทกจะกลับมาที่รัฐมนตรีของตัวเอง แล้วกระแทกกลับมาที่รัฐบาลของตัวเอง ผมก็มีสิทธิที่จะตั้งข้อสงสัยหรือว่ามีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่นอยู่ว่าที่มีท่านกษิตอยู่ มีภาพของความใกล้ชิดกับพันธมิตรฯ ซึ่งเสียหายต่อรัฐบาล
** การที่พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองมีความเกี่ยวพันด้วยหรือไม่
ผมในฐานะ ส.ว. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมา แต่ต้องยอมรับว่า ผู้ที่สนับสนุนพันธมิตรฯ จำนวนไม่น้อยก็สนับสนุนพรรค ประชาธิปัตย์ด้วย ถือว่ามีฐานคะแนนนิยมที่ซ้ำกัน ซึ่งทั้งคู่ต่างก็มีความคิดของตัวเอง แต่ก็มีบางอย่างที่คิดต่างกัน และที่ผ่านมาถูกโจมตีว่าพันธมิตรฯ ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่เป็นความจริง อย่างท่านกษิตมีความพยายามพูดว่า เป็นโควตาของพันธมิตรฯ ซึ่งไม่ใช่ ท่านกษิตไม่ได้เป็นแกนนำพันธมิตรฯ ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้ง แต่ท่านกษิตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกฯ และนาย สุเทพอย่างดีมานาน และเล่นการเมืองในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมีพรรคการเมืองใหม่แล้วจะขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่นั้นก็ต้องรอดูนโยบาย เพราะเมื่อเป็นพรรคการเมืองก็ต้องต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องนโยบาย ซึ่งอาจจะมีความเหมือนและแตกต่างกันก็ได้
** เป็นการสกัดพรรคการเมืองใหม่หรือไม่
ผมไม่กล้าคิดอย่างนั้น เท่าที่ทราบท่านกษิตก็เคยยืนยันว่ายังไงก็จะอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ท่านเกิดที่พรรคประชาธิปัตย์ก็จะตายที่พรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับกันการตั้งข้อหาที่รุนแรงจะส่งผลสะท้อนในทางตรงข้ามก็ได้ เช่น คนที่เคยสนับสนุนพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ จะเกิดคำถามว่า ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ไม่สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ทั้งที่สิ่งที่พันธมิตรฯ ทำเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เอาตัวเข้าแลกขนาดนี้ ซึ่งจะเป็นผลลบต่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ.
พิมเพชร์ พัฒนประสิทธิ์ชัย...สัมภาษณ์/โกวิท คงหาสุข...ถ่ายภาพ