ที่มา ข่าวสด
บทความแนะนำ
ช่อง 11 และชนชั้นกลาง โดยสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
อ่านบทความของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนรายวันนี่แหละ ตีพิมพ์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พูดถึงกรณี "สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้เลือกที่จะเสนอตัววิ่งจากเอสเอ็มเอสที่ผู้ ชมส่งเข้ามาในรายการข่าวตอนเที่ยงว่า′แม่น้ำเจ้าพระยาลงโทษพวกเสื้อแดง′ผู้ ส่งใช้นามว่ามหานทีสีทันดร"
โดยอาจารย์นิธิมีความเห็นว่า
"ท่ามกลางความทุกข์ยากของผู้คนแทบเลือดตากระเด็นนี้คงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าความเห็นนี้อัปลักษณ์"
นึกถึงบทความนี้ เพราะในระหว่างฟังการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ มี ส.ส.ฝ่ายค้าน พยายามหยิบประเด็นน้ำท่วมขึ้นมาโจมตีรัฐบาล โดยเน้นไปยังการเสนอข่าวของโทรทัศน์ช่อง 11 ว่าไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ
พร้อมกับยกย่องสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ อย่างเลอเลิศ
ส.ส.ที่อภิปราย คงไม่รู้ว่า ข่าวโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในวิกฤตน้ำท่วม ได้สร้างความผิดหวังให้ชาวบ้านไปถ้วนหน้า
จุดสำคัญคือการเร่งรีบเสนอข่าว ชิงกันโชว์ความรวดเร็วฉับไว
จึงทำให้ความไม่น่าเชื่อถือกระจายไปทั่วทุกช่อง
อย่างเช่นรีบจะบอกว่าน้ำได้ท่วมถนนสายนี้แล้วโดยขาดการอธิบายว่าท่วมตั้งแต่ตรงไหนถึงตรงไหนของถนนสายนั้น
อีกทั้งนักข่าวทุกคนก็มีความจำเป็นต้องไปยืนในจุดที่น้ำท่วมสูงสุดของบริเวณนั้น เพื่อให้ได้ภาพที่เร้าใจคนดู และให้เห็นว่าท่วมสูง
กลายเป็นว่า ถนนนั้นทั้งสาย ซอยนั้นทั้งซอย ท่วมสูงมากเท่ากับที่นักข่าวยืนรายงานอยู่
ผลกระทบที่ตามมา นอกจากสร้างความตกอกตกใจแล้ว ธุรกิจร้านค้าพลอยเจ๊ง เพราะลูกค้านึกว่าท่วมไปแล้ว
ส่วนสถานีช่อง 11 ซึ่งจำเป็นที่ ศปภ.จะต้องยึดมาเป็นสถานีกลางในการรายงานข่าวสาร ในนามรัฐบาลหรือ ศปภ.เสนอต่อประชาชน
ไม่เห็นจะเป็นเรื่องผิดปกติอะไร
ในภาวะวิกฤต ข้อมูลสับสนวุ่นวาย ก็ต้องมีสถานีช่องใดช่องหนึ่ง สำหรับการนำเสนอข้อมูลในนามของรัฐบาลหรือของ ศปภ.
อยากดูความเร็ว เร้าใจ ก็เลือกดูช่องต่างๆ ถ้าอยากฟังคำแถลงที่เป็นทางการก็ต้องช่อง 11
แล้วที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเผลอเชียร์ช่อง 3 ไม่นึกหรือว่าหัวหน้าจะสะดุ้งโหยง
เพราะตอนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ก็ช่อง 3 นี่แหละ สรยุทธ สุทัศนะจินดา นี่แหละ ที่เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ประสบภัยฉับไวกว่านายกรัฐมนตรีขณะนั้น
จนเป็นประเด็นกระทบทางการเมืองไม่น้อย
อีกตอนของบทความอาจารย์นิธิยังเขียนอย่างน่าสนใจว่า
"ความเข้าใจนี้ทำให้ผมเห็นใจความอัปลักษณ์ต่างๆ ที่เกิดในสังคมไทยได้ดีขึ้น เห็นใจคุณ ′มหานทีสีทันดร′ เห็นใจผู้บริหารทีวีไทย เห็นใจการกักตุนอาหารอย่างบ้าคลั่ง เห็นใจคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ฟูมฟายกับซากโรงหนังและช็อปปิ้งเซ็นเตอร์มากกว่าซากศพของผู้คน"
เดาได้เลยว่า ชนชั้นกลางหรือที่อยากเป็นชนชั้นกลาง อ่านแล้วคงไม่พึงพอใจ
จงนึกถึงภาพคนตาย 91 ศพกลางแหล่งหรูหรา จากการปราบปรามของรัฐ แล้วคงยอมรับความจริงกันมากขึ้น
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554)