ที่มา ประชาไท
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
แปลจาก Pavin Chachavalpongpun, Bangkok doesn't deserve its special protection and privilege, the Nation. 9/10/2011
"เขาเปียกปอนจนถึงถุงเท้า
ท่ามกลางวิกฤติการณ์น้ำท่วม เขาลุยไปทั่วหัวถนน ทุ่มเททั้งตัวและหัวใจ ฉันต้องเตือนตัวเองว่า เขาคือหลานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ และ เหลนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนึ่งในพระมหาราชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย"
นี่คือสิ่งที่เลขานุการของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรณนาถึงนายของเธออย่างภาคภูมิใจในเฟสบุ๊ค
ดังนั้น ประชาชนชาวกรุงเทพก็ได้มี "ราชนิกุล" ของตัวเองที่พร้อมจะปกป้องเมืองหลวงอันเป็นที่รัก แน่นอนว่าสุขุมพันธุ์คือคนที่ใช่ที่สุดสำหรับภารกิจนี้ ด้วยความที่ตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มชนชั้นสูง สุขุมพันธุ์ต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะปกป้องผลประโยชน์ของผู้สนับสนุน ชาวกรุงเทพของเขา ซึ่งต่างก็มองตัวเองว่าเป็นชนชั้นสูงที่ชาญฉลาด ปู่ของสุขุมพันธ์คือ "เจ้าชายแห่งนครสวรรค์" (เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต) ส่วนในปัจจุบันเมื่อพิจาณาจากวิธีการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า "เจ้าชายแห่งกรุงเทพมหานคร" จะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจากสุขุมพันธุ์
อุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้ให้โอกาสแก่สุขุมพันธุ์ในการพิสูจน์อำนาจในฐานะ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็ทำได้อย่างชาญฉลาดด้วยการทำงานอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาล ลำดับความสำคัญของสุขุมพันธุ์แตกต่างกับของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างชัดเจน ส่งผลให้ นายกฯ กับ ผู้ว่าฯก.ท.ม. ทำงานร่วมกันแบบ ร่วมแรง "แข่งขัน" มากกว่าที่จะเป็น ร่วมแรง "แข็งขัน"
ภายใต้การบริหารงานของสุขุมพันธุ์ กรุงเทพฯ เปรียบเสมือนเกาะส่วนตัวของตัวเอง เมืองหลวงถูกแยกขาดจากส่วนอื่นของประเทศ ดูเหมือนว่าการที่จังหวัดอื่นๆ ต้องจมอยู่ใต้น้ำต่อไป จะเป็นอะไรที่ยอมรับได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร กรุงเทพฯ จะต้องถูกปกปักรักษาให้แห้งต่อไป แม้จะต้องแลกด้วยการทวีความรุนแรงของวิกฤตน้ำท่วมในระดับประเทศก็ตาม
วิธีการแบบกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของสุขุมพันธุ์บอกอะไรเราบ้าง? มันเผยให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทยและในทางกลับกันประเทศไทยก็ไม่ใช่กรุงเทพ มันจึงเป็นรัฐซ้อนรัฐ แนวคิดเช่นนี้จึงเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลในการนำแผนการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่าง บูรณาการมาปฏิบัติ
นอกจากนี้แล้วแนวคิดของสุขุมพันธุ์ในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมนี้โดยหลัก แล้วก็คือมุมมองแบบชนชั้นนำและจักรวรรดินิยม ด้วยคำนำหน้าชื่อว่า หม่อมราชวงศ์ ที่จะฟังดูล้าหลังสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว สุขุมพันธ์แสดงตัวราวกับว่าเป็นขุนศึกโบราณกำลังทำสงครามเพื่อปกปักรักษาไว้ ซึ่งพระนคร แต่ในเวลานี้ข้าศึกมิใช่ชาวพม่าหรือเขมรที่ไหน แต่คือน้ำ อาจจะเปรียบเปรยได้ว่าภารกิจของสุขุมพันธุ์คือการปกป้อง"เอกราช"ของกรุงเทพ มหานคร
"เราจะต้องไม่เสียกรุงเป็นครั้งที่สาม" คือคำที่เขาน่าจะประกาศก้อง ครั้งสุดท้ายที่สยามสูญเสียสิ่งที่เรียกว่า"เอกราช"ก็คือในปี พ.ศ.2319 เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายด้วยน้ำมือของอริราชศัตรู
แต่อะไรคือมุมมองอย่างชนชั้นนำที่แท้จริง อย่างแรก คือ กรุงเทพฯสมควรเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดในราชอาณาจักร นี่คือความภูมิใจของชาติ คือที่พำนักของสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพ และ คือแหล่งที่มาของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่นี่คือมุมมองที่มีลักษณะอำนาจนิยมอย่างแท้จริง มุมมองที่ให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯโดยละเลยจังหวัดอื่นที่ดูเหมือนว่าไม่ สำคัญเท่าใดนัก
กรุงเทพฯ อาจจะมีส่วนถึง 41 เปอร์เซ็นต์ใน GDP ของประเทศไทย และ นักวิเคราะห์ก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่าความเสียหายอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเมือง หลวงแห่งนี้จะส่งผลลบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น แต่ทุกคนต้องไม่ลืมว่าจังหวัดในภาคกลางได้จมอยู่ใต้น้ำมาเป็นเดือนๆแล้ว ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ผลิตรถยนต์อย่าง โตโยต้า และ ฮอนด้า ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิคอย่าง แคนอน, แอ๊ปเปิ้ล, โซนี่ และ โตชิบา รวมถึงผู้ผลิตฮาร์ดดิสค์อย่าง ซีเกต และ เวสเทิร์นดิจิตอล อุทกภัยได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้กับห่วงโซ่อุปทานของโลกใน อุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งยืนยันความจริงที่ว่า จังหวัดอื่นนอกกรุงเทพฯ ต่างก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมากไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ประการที่สอง ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่กรุงเทพยังแห้งแต่พื้นที่ในชนบทถูกน้ำท่วมอย่างหนัก ชาวกรุงเทพไม่ได้แสดงความเป็นห่วง เห็นอกเห็นใจอะไรเลยต่อสถานการณ์ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น ราวกับว่ามันไม่เป็นไรหรอกที่คนในจังหวัดเหล่านั้นจะประสพทุกภัยตราบใดที่ กรุงเทพได้รับการปกปักรักษาไว้เป็นอย่างดี แต่ในวันนี้ชาวกรุงเทพกลายเป็นกลุ่มคนที่โวยวายเสียงดังที่สุด พวกเขามีอาการวิตกจริตอย่างยิ่งยวดกับเรื่องน้ำท่วม การพากันกักตุนอาหารช่วยกระพือบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ที่น่าขันก็คือพวกเขาทำราวกับว่าไม่มีความไว้ใจและความศรัทธาในตัวสุขุม พันธุ์ บุคคลที่พวกเขาสนับสนุนมาตลอดช่วงวิกฤติการณ์อีกต่อไปแล้ว
ถ้าจะมองว่าพฤติกรรมของชาวกรุงเทพเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องสองมาตรฐานที่ตก ทอดมาอย่างยาวนานในสังคมไทย คงไม่เกินเลยที่จะบอกว่าในช่วงเวลาที่สังคมไทยยังมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่าง น่ากลัว สุขุมพันธุ์มีบทบาทในการทำให้รอยร้าวระหว่างกรุงเทพ กับ ส่วนอื่นของประเทศไทย ร้าวลึกยิ่งขึ้น
ความทุ่มความสนใจไปที่การปกปักรักษากรุงเทพครั้งนี้เป็นสิ่งสะท้อนให้ เห็นถึงแนวคิดเรื่องการรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางที่ยังคงอยู่ แต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่ อำนาจและความมั่งคั่ง คือสินทรัพย์ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของกรุงเทพ สำหรับชาวกรุงเทพจำนวนมากแล้วการที่จังหวัดอื่นจะอ่อนแอ และไร้อำนาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เช่นเดียวกับการคงไว้ซึ่ง ความยากจนและด้อยพัฒนาในต่างจังหวัดก็ไม่เห็นจะเป็นไร ภายใต้ทัศนคติแบบนี้พวกเขาก็สมควรแล้วที่จะต้องทนยืนหยัดสู้ภัยน้ำท่วม
แต่ไม่ใช่ด้วยทัศนคติแบบเดียวกันนี้หรือที่เป็นหนึ่งในสาเหตุมูลฐานของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย?
ประการที่สาม การที่สุขุมพันธุ์ยังคงขัดแย้งกับรัฐบาลต่อไปเป็นการพิสูจน์ให้เห็นความจริง อีกข้อที่ว่า กลุ่มชนชั้นนำมีมุมมองส่วนตัว และ มีสิทธิ์ในการนิยามให้คำนิยามคำว่าผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ของชาติ นี่ช่วยอธิบายว่าทำไมสุขุมพันธุ์จึงเลือกที่จะไม่ฟังคำสั่งของรัฐบาล
การที่กระแสน้ำจากอุทกภัยกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้กรุงเทพฯเข้าไปทุกทีๆ อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความแค้นเคืองที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆ ของจังหวัดอื่นที่ถูกเอาเปรียบมายาวนานจนถึงจุดที่จะเอาคืนกรุงเทพฯบ้างแล้ว กรุงเทพฯ เห็นแก่ตัวมานานมากเกินไปแล้ว สุขุมพันธุ์ไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากผนึกรวมความรู้สึกเห็นแก่ตัวระหว่าง ชาวกรุงเทพด้วยกัน
มันยากที่จะวัดว่าสุขุมพันธุ์รักประเทศไทยมากกว่าคนนอกกรุงเทพฯหรือไม่ แต่น่าเสียดายที่ว่าการให้ความสนใจกับกรุงเทพฯเพียงอย่างเดียว ได้บดบังวิสัยทัศน์ของเขาในการมองปัญหาจากมุมกว้าง จากมุมมองที่ปราศจากเกมการเมือง และเปี่ยมด้วยความห่วงใยในความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมชาติ เพื่อนร่วมประเทศไทยโดยไม่แบ่งแยกภูมิลำเนา