ที่มา มติชน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554)
หลายคนพูดถึงความงดงามที่หายไปจากสังคมไทยได้กลับคืนมาในน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งก็เป็นความงดงามจริง
เรา ได้เห็นภาพผู้คนส่งความช่วยเหลืออย่างล้นหลามแก่ผู้ประสบภัย อีกหลายคนลงไปช่วยด้านแรงงาน นับตั้งแต่บรรจุถุงทราย ไปจนถึงเอารถบรรทุกไปช่วยขนส่ง บางคนช่วยพายเรือรับส่ง อีกไม่น้อยนำเอาสกู๊ตเตอร์น้ำซึ่งซอกซอนได้ดีจากพัทยาไปช่วยนำน้ำและอาหารไป ถึงบ้านเรือนด้านใน หลายบ้านตั้งโรงครัวแจกจ่ายอาหารฟรี ไกลไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังอุตส่าห์ขนเสบียงมาตั้งโรงครัว หรือส่งน้ำและอาหารมาจุนเจือ ฯลฯ
(แต่ก็เหมือนกับรัฐไทยที่เป็นอย่าง นี้ตลอดมา กล่าวคือ ไม่เคยสามารถจัดองค์กรทางสังคมเพื่อทำให้ความช่วยเหลือเหล่านี้กระจายไปถึง ผู้เดือดร้อนอย่างเป็นระบบ รัฐบาลที่เก่งคือรัฐบาลที่สามารถจัดองค์กรภาครัฐในยามเกิดภัยพิบัติได้เก่ง แต่ไม่ว่าจะเก่งอย่างไร ก็ไม่เคยสามารถจัดองค์กรภาคสังคมให้มีประสิทธิภาพได้สักรัฐบาลเดียว)
ภาพ ของสังคมไทยที่ดูเหมือนกำลังแตกสลายลงใน 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงกลับมาแสดงพลังของความผูกพันระหว่างกันให้เห็นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางความพยายามอย่างหนักของนักการเมืองฝ่ายค้านและบริวารในสื่อ ที่จะใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหนทางกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่ง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า มีภาพอัปลักษณ์ให้เห็นในน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้อยู่ไม่น้อย
ใน วันที่ 7 ตุลาคม เมื่อน้ำเริ่มหลากลงสู่อยุธยา ทีวีทุกช่องเสนอภาพความเดือดร้อนของผู้คนจากนครสวรรค์ลงมาถึงอ่างทองและบาง ส่วนของอยุธยา อยู่ทุกรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้เลือกที่จะเสนอตัววิ่งจากเอสเอ็มเอสที่ผู้ชมส่ง เข้ามาในรายการข่าวตอนเที่ยงว่า "แม่น้ำเจ้าพระยาลงโทษพวกเสื้อแดง" ผู้ส่งใช้นามว่า "มหานทีสีทันดร"
ที่ผมบอกว่าสถานี "เลือก" ที่จะเสนอความเห็นจากผู้ชมท่านนี้ ก็เพราะผมเข้าใจว่า ผู้ส่งเอสเอ็มเอสแสดงความเห็นในรายการข่าวของทุกช่อง คงมีมากเกินกว่าจะนำเสนอได้หมด ฉะนั้นถึงอย่างไรก็ต้อง "เลือก" นอกจากนี้สถานีไทยพีบีเอสยังเสนอข้อความดังกล่าวซ้ำถึงสองหนในรายการข่าว เดียวกันด้วย
แน่นอนก็เป็นความเห็นหนึ่ง ซึ่งควรมีพื้นที่แสดงออกได้ในสังคมของเรา ไม่มีใครผิดหรอกครับ แต่ท่ามกลางความทุกข์ยากของผู้คนแทบเลือดตากระเด็นนี้ คงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ความเห็นนี้อัปลักษณ์
ยังไม่ พูดถึงสงครามคันกั้นน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อันเป็นความอัปลักษณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากจิตใจของผู้คน แต่เกิดขึ้นจากการไม่มีข้อมูลข่าวสารต่างหาก
บ้านใครก็ตามที่แช่น้ำมาเป็นเดือน ต้องรู้ว่าจะแช่ไปทำไม ในเมื่อฝั่งตรงข้ามแห้งสนิท คำปลอบใจให้ "เสียสละ" ทั้งไม่เพียงพอและไม่ทำให้เข้าใจอยู่นั่นเองว่าเสียสละทำไม และเสียสละให้ใคร
จำเป็นที่เขาต้องรู้ภาพรวมว่า การบริหารจัดการให้น้ำไหลลงทะเลอย่างรวดเร็วนั้นเป็นอย่างไร ที่แช่บ้านเขาอยู่ในน้ำนั้น จะเป็นผลดีแก่ส่วนรวมอย่างไร หรือการรื้อคันกั้นน้ำ นอกจากไม่ช่วยให้เขาพ้นจากภัยพิบัติอย่างจริงจังแล้ว ยังทำให้คนอื่นเดือดร้อนโดยไม่จำเป็นอย่างไร
ทุกคนจึงเข้ามาบริหารจัดการน้ำเอง จากข้อมูลที่ตัวมีในท้องถิ่นแคบๆ ของตัว ไม่ใช่จากภาพรวม เพราะไม่มีใครรู้ว่าภาพรวมเป็นอย่างไร (แต่ก็หวังว่า ศปภ.จะรู้)
ความงดงามและความอัปลักษณ์ยืนอยู่เคียงข้างกันตลอดเวลาในวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้...ทำไม?
ก่อน ที่ผมจะเสนอความเห็นที่เป็นคำตอบของปัญหา ผมขอพูดถึงความงดงามและความอัปลักษณ์อีกบางอย่างที่แตกต่างจากความงดงามและ ความอัปลักษณ์ที่ได้กล่าวไปแล้ว
รายการข่าวทีวีช่องหนึ่งซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าช่องไหน เสนอเหตุการณ์อันหนึ่งในปทุมธานี ซึ่งแช่น้ำมาหลายสัปดาห์แล้ว
ผู้ สื่อข่าวเดินทางไปไกลจากตัวเมือง และได้พบคุณลุงคนหนึ่ง ซึ่งดูจากการแต่งเนื้อแต่งตัวแล้ว ก็น่าจะเป็นคนชั้นกลางที่ไปสร้างบ้านอยู่ในเขตไกลเมืองเมื่อเลิกทำงานแล้ว คุณลุงกำลังลุยน้ำเพื่อต่อเรือและรถหลายทอดเข้ามาสู่ตัวเมืองปทุมธานี คุณลุงเล่าว่า จำเป็นต้องเข้ามาหาซื้ออาหาร เพราะน้ำท่วมสูงจนหาซื้ออะไรไม่ได้ นอกจากที่ตัวเมือง ก่อนหน้านั้นคุณลุงเคยออกล่าหาอาหาร กว่าจะมาถึงตัวเมืองก็กินเวลาไปกว่า 4 ชั่วโมง วันนั้นได้อาหารแล้วฟ้าก็มืดลง ไม่สามารถหารถ-เรือกลับบ้านได้ จึงต้องนอนค้างที่ตัวเมือง และกลับวันรุ่งขึ้น (ผมได้แต่หวังว่า ยังสามารถติดต่อกับบ้านทางโทรศัพท์ได้ ไม่อย่างนั้นทางบ้านคงห่วงกันจนนอนไม่หลับ เพราะไม่รู้ว่าตาแก่คนหนึ่งซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน ถูกกระแสน้ำพัดไปทางไหน)
คุณ ลุงบอกผู้สื่อข่าว ซึ่งให้คุณลุงอาศัยนั่งรถกลับบ้านว่า บ้านซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองไปประมาณ 20 กิโลเมตรนั้น มีคนอาศัยอยู่หลายคน เมื่อรถของผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงที่สุดเท่าที่รถกระบะจะลุยเข้าไปได้ ก็ต้องให้คุณลุงลุยต่อหรือหาเรือกลับบ้านเอาเอง ผู้สื่อข่าวซึ่งนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายระหว่างทำข่าวด้วย จึงมอบถุงยังชีพให้คุณลุงอีกหลายถุง เพราะเห็นว่าอยู่กันหลายคน แต่คุณลุงขอรับไปเพียงถุงเดียว ด้วยเหตุผลว่า "ยังมีคนอื่นที่เขาต้องการอีกมาก"
นี่ เป็นความงดงามแน่ แต่ไม่เหมือนกับความงดงามของความช่วยเหลือนานาชนิดที่คนไทยทุ่มเทลงไปช่วย ผู้ประสบภัย ไม่เหมือนอย่างไร จะพูดถึงข้างหน้า
แม่ค้าขาย อาหารสำเร็จคนหนึ่งในเชียงใหม่ เตือนลูกค้าซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยว่า น้องสั่งอาหารแต่พอกินเถิด เช่นมีกับสักอย่างเดียวหรือสองอย่างก็พอ อาหารกำลังเริ่มขาดแคลนทั้งในเชียงใหม่และในประเทศไทย ถ้าน้องไม่กินทิ้งกินขว้าง ก็จะมีอาหารเหลือแก่คนอื่นๆ ได้อีกทั้งประเทศ
ในทรรศนะของผม นี่ก็เป็นความงดงามอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากความงดงามที่เกิดขึ้นจากความช่วยเหลือส่วนใหญ่
ความ งดงามของคุณลุงและคุณพี่แม่ค้านี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการกักตุนอาหารอย่างเอาเป็นเอาตายของผู้คน จนกระทั่งเกิดขาดแคลนอาหารบางอย่าง เช่นไข่ไก่และน้ำดื่ม เป็นต้น ผู้อพยพมาสู่เชียงใหม่ทำให้ชั้นวางของในซุปเปอร์ว่างลงเหมือนกรุงเทพฯ แม้จะติดป้ายให้ซื้อน้ำมันได้รายละไม่เกิน 6 ขวด น้ำ, ไข่ไก่, มาม่า, ฯลฯ ไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ ก็มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยใช้วิธี "เวียน" ซื้อ จนชั้นวางของว่างลง
ผมเชื่อว่า ผู้กักตุนอาหารเหล่านี้คงเต็มใจแบ่งปันน้ำดื่มหรืออาหารให้แก่เพื่อนบ้าน ฟรีๆ หากได้รู้ว่าเพื่อนบ้านกำลังจะอดตาย คนที่ต่างหนีเอาตัวรอดเหล่านี้ไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำมาจากไหน แต่คือคนไทยใจดีที่เราคุ้นเคยนั่นแหละ มีอุดมคติของความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หากเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ทางตรง (direct contact)
เช่นเดียวกับความกระตือรือร้นของคนไทยอีกมาก ที่สู้ลำบากลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเลย แต่ลักษณะของความเสียสละเหล่านี้ คือเสียสละบนฐานของความสัมพันธ์ทางตรง (ช่วยอพยพผู้คน, นำอาหารและถุงยังชีพไปแจกจ่าย, นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล, อุ้มคนแก่ ฯลฯ) จริงอยู่ ผู้ให้ความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้รู้จักมักจี่กับผู้รับความช่วยเหลือมา ก่อน แต่ก็เป็นความช่วยเหลือที่กระทำกันโดยตรงอยู่นั่นเอง
แตกต่าง จากคุณลุงและคุณพี่แม่ค้า ที่กำลังให้ความช่วยเหลือแก่ "สังคม" ไม่ได้ติดต่อสัมพันธ์ทางตรงกับใคร แต่กระทำด้วยสำนึกว่า มี "คนอื่น" ที่ร่วมอยู่ใน "สังคม" ซึ่งการกระทำส่วนบุคคลของแต่ละคน ย่อมมีผลกระทบในทางดีหรือทางร้ายแก่เขาเหล่านั้น คนที่เราไม่มีทางรู้จักตลอดชีวิตนี้ แต่มีอยู่จริงและเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเอง "คนอื่น" ที่ไม่มีตัวมีตน แต่มีอยู่
"คนไทยไม่ทิ้งกัน" แน่ครับ แต่เราไม่ทิ้งคนไทยที่เป็นคนๆ หรือคนไทยที่เป็นองค์รวมนามธรรม ซึ่งไม่มีใครอาจสัมผัสได้ แต่ทุกคนก็สำนึกว่ามีอยู่จริง "คนไทย" ในมิตินามธรรมหรือ "สังคมไทย" นี่ต่างหากที่ขาดหายไปสำนึกส่วนใหญ่ ไม่ว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วม
คงไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งคนปฏิเสธการซื้อหาหรือรับของเกินจำเป็น เพราะเกรงว่า "คนอื่น" จะขาดแคลน พยายามใช้ไฟฟ้าให้น้อยลง เพราะเกรงว่าไฟฟ้าจะไม่พอใช้กันทั่วถึง ฯลฯ
ผมไม่ได้คิดว่า สำนึกถึง "คนอื่น" ที่เราไม่รู้จักหน้าค่าตา และทั้งชีวิตก็คาดได้ว่าจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับเขาเลยนั้น ไม่มีในหมู่คนไทยปัจจุบัน สำนึกนี้มีแน่ แต่เป็นสำนึกที่ได้สร้างและปลุกเร้ากันมานานในนามของ "ชาติ" รัฐได้จับจองสำนึกนี้ไว้เป็นของตนแต่ผู้เดียว ในขณะที่คนไทยซึ่งต้องสัมพันธ์กันผ่านระบบที่ซับซ้อนขึ้นของเศรษฐกิจ-สังคม สมัยใหม่ ไม่ได้มีสำนึกอย่างนี้ในหมู่พวกเรากันเองโดยไม่เกี่ยวกับรัฐ
พูดอีกอย่างหนึ่งคือคนไทยมีแต่สำนึกร่วมในความเป็นชาติ แต่ไม่มีสำนึกร่วมในความเป็นสังคม ถ้าจะนับว่ามี ก็เป็นสำนึกร่วมทางสังคมของชุมชนขนาดเล็กซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ ทางตรง ไม่ใช่สังคมสมัยใหม่ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสสัมพันธ์ทางตรงต่อกันอีกแล้ว
ความ เข้าใจนี้ ทำให้ผมเห็นใจความอัปลักษณ์ต่างๆ ที่เกิดในสังคมไทยได้ดีขึ้น เห็นใจคุณ "มหานทีสีทันดร" เห็นใจผู้บริหารทีวีไทย เห็นใจการกักตุนอาหารอย่างบ้าคลั่ง เห็นใจคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ฟูมฟายกับซากโรงหนังและช็อปปิ้งเซ็นเตอร์มากกว่าซากศพของผู้คน เห็นใจการเรียกร้องความจงรักภักดีต่อบุคคลยิ่งกว่าสถาบัน เห็นใจตุลาการที่ให้ความสำคัญแก่กฎหมายอาญายิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ ฯลฯ