ที่มา มติชน
(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 7 พ.ย.2554)
"น้ำท่วม" ครั้งนี้เท่ากับเปิดโฉมหน้า "ผู้นำ" โง่
"น้ำท่วม" ครั้งนี้เท่ากับเปิดเปลือยสาวเหนือหน้าตาดี แต่สมองกลวง เหมาะกับการเป็นอย่างอื่นมากกว่าจะเป็นผู้บริหาร
อาจเป็นเช่นนั้น
กระนั้น หากกล่าวอย่างหยั่งลึกไปในแต่ละพื้นที่ซึ่งน้ำไหลบ่าจากพิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี ต่อเนื่องมาจากปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และค่อยๆ ขยายวงรุกคืบเข้ามายังบางส่วนของ กทม.
"น้ำท่วม" ครั้งนี้ได้เปิดโฉมแห่ง "สังคมไทย" ให้ปรากฏอย่างเด่นชัด
ให้ ปรากฏอย่างเด่นชัดว่า น้ำท่วมพิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม อาจเป็นเรื่องใหญ่ อาจสร้างความยากลำบากให้กับชาวบ้าน
กระนั้น ในความรู้สึกของประชาชนอันสะท้อนผ่านผู้บริหาร กทม. สะท้อนผ่านผู้บริหารในรัฐบาล สะท้อนผ่านสื่อ เรื่องใหญ่กว่ายังเป็นน้ำท่วม กทม. ยังเป็นความยากลำบากของชาว กทม.
กทม.หรือกรุงเทพมหานครต่างหากคือ กล่องดวงใจ อย่างแท้จริง
กล่าวในเชิงเปรียบเทียบ ความอดทน อดกลั้นของชาว กทม.กับชาวต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันในอัตราที่สามารถสัมผัสได้
ดังที่ปรากฏผ่านปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.
"ผม เห็นใจพี่น้องชาว กทม. แต่จะต้องนึกถึงพระนครศรีอยุธยาและลพบุรีที่น้ำท่วมประมาณ 1-2 เดือน แต่ในพื้นที่ กทม.แค่ 2 อาทิตย์ ก็จะต้องนึกถึงคนอื่น"
การนึกถึง "คนอื่น" ใน "พื้นที่อื่น" จึงเป็นเรื่องสำคัญ
เหมือน กับที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครหลายคนออกมาแสดงความหงุดหงิดเมื่อสัมผัสกับ ปฏิกิริยาของชาวคลองสามวา เหมือนกับที่ผู้บริหารกรุงเทพมหานครหลายคนออกมาแสดงความหงุดหงิดเมื่อเห็น ชาวอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ออกมารวมตัวกันในกรณีประตูระบายน้ำคลอง 8 คลอง 9 และคลอง 10
หลายคนเรียกร้องความเฉียบขาดเพราะเกรงว่าข้อเรียก ร้องของชาวคลองสามวา ข้อเรียกร้องของชาวลำลูกกา อาจกระทบกับน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาใน กทม.
ขณะที่อาจลืมไปแล้วก็ได้ว่า ชาวลำลูกกา ชาวคลองสามวา แช่น้ำต่อเนื่องมา 2 เดือนแล้ว
ยัง ดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังเน้นในเรื่องการพูดคุยกัน ยังดีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยังเน้นในเรื่องการทำความเข้าใจ
มิเช่นนั้นคงมีการยิงกระสุน มิเช่นนั้นคงมีคนต้องตายจากลูกปืน
หากมองในระดับโลก ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาเติบใหญ่ ขยายตัว เพราะสูบมูลค่าส่วนเกินและค่าเช่าจากประเทศด้อยพัฒนา
ประเทศโลกที่ 1 ขูดรีดสร้างความร่ำรวยจากประเทศโลกที่ 3
นั่นก็คือ โลกใจกลางขูดรีด สร้างความมั่งคั่ง จากการเสียสละทรัพยากร วัตถุดิบ และแม้กระทั่งแรงงานของโลกที่ด้อยพัฒนา
ถามว่าความมั่งคั่งของ กทม.ได้มาจากไหน หากมิใช่จากต่างจังหวัด
ต่าง จังหวัดอย่างเชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต ล้วนถูกสูบรีดไปรวมศูนย์ความมั่งคั่ง ความเจริญอยู่ที่ส่วนกลางคือ กทม.
เป็นเช่นนี้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคเกษตรกรรมกระทั่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม
อย่า ว่าแต่จะมีความแตกต่างระหว่าง กทม.กับหัวเมืองชายขอบเลย แม้กระทั่งภายใน กทม.และปริมณฑลเอง ก็ยังแยกจำแนกระหว่าง กทม.ชั้นในกับ กทม.ชายขอบ อย่างหนองจอก สายไหม ดอนเมือง อย่างทวีวัฒนา บางพลัด หนองแขม
ความรู้สึกที่ว่าน้ำกำลังไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ กทม.ชั้นในอย่างบางซื่อ สามเสน สะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จึงเป็นความเจ็บปวด
เป็นความเจ็บปวดที่คนอย่างอัจฉริยะสร้างได้หรือนักธุรกิจแชร์ลูกโซ่ทนไม่ได้
นํ้าที่ไหลบ่าเข้ามายังกรุงเทพมหานครจึงมิได้เป็นเรื่องของธรรมชาติ หากยังเป็นเรื่องของสังคม
เป็น สังคมอันสะท้อนความแตกต่าง ความแปลกแยก ไม่เพียงในทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงในทางการเมือง หากที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นคือความแตกต่างในทางความคิด
เป็นความคิดอันกำหนดจากสภาพการดำรงและวิถีชีวิตซึ่งไม่เหมือนกัน