ที่มา มติชน
(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 12 พ.ย. 2554)
ทั้งๆ ที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ทั้งๆ ที่ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย
ล้วนเป็น "นายทุน" ระดับเอ้
หรือถึงมิได้เป็น "นายทุน" โดยตน แต่ก็ทำงานรับใช้ระบอบทุนในฐานะ "มืออาชีพ" อย่างยาวนาน
ทำไมจึงมีความเห็น "ต่าง" ในเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ
ความโน้มเอียงของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นความโน้มเอียงในแนวทางเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์
คือ ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน
ความโน้มเอียงของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัวใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เป็นความโน้มเอียงในแนวทางเดียวกับพรรคเพื่อไทย
คือ เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน
น่า สนใจก็ตรงที่เมื่อประสบกับวิกฤตน้ำท่วม พรรคประชาธิปัตย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นควรให้ชะลอการปรับและรวมถึงนโยบายประชานิยมอื่นๆ
ขณะที่ "เจ้าสัวซีพี" ให้เดินหน้านโยบายต่อไปอย่างไม่ลังเล
ไม่ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไม่ว่าหอการค้าแห่งประเทศไทย ล้วนเคลื่อนไหวอยู่ภายในองคาพยพแห่งระบอบทุน
เป็นเจ้าของโรงงาน เป็นเจ้าของธุรกิจ อุตสาหกรรม
แต่ 2 องค์ประกอบนี้มีความเห็นต่อกระบวนการขับเคลื่อนระบอบทุนแตกต่างกัน เหมือนกับพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์
"เจ้าสัวซีพี" เห็นว่าการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเป็นการขับเคลื่อน
"เจ้าสัวซีพี" เห็นว่าการเดินหน้านโยบายรถยนต์คันแรก นโยบายบ้านหลังแรก เป็นการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพราะเมื่อผู้ใช้แรงงานมีเงินในมือมากก็จับจ่ายใช้สอยได้มาก สินค้าก็ขายได้มาก
เช่นเดียวกับนโยบายรถคันแรก นอกจากคนจะได้มีรถราคาถูกแล้ว ผู้ประกอบการรถยนต์ก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย
เช่นเดียวกับนโยบายบ้านหลังแรก เท่ากับเป็นการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ตรง กันข้าม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่ได้มองในด้านกระตุ้น หากมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเศรษฐกิจ
มุมมองแตกต่างกันทำให้แสดงออกแตกต่างกัน
อย่า ได้แปลกใจหากในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 จะสัมผัสได้ถึงความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์
เป็นความขัดแย้งอันต่อเนื่องจากการนำเสนอนโยบายระหว่างการเลือกตั้ง
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ประชาชนกว่า 15 ล้านคนเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคเพื่อไทย ขณะที่ประชาชนกว่า 11 ล้านคนเห็นด้วยกับแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์
อันเป็นปัจจัยชี้ขาดว่า พรรคเพื่อไทยกำชัยเหนือพรรคประชาธิปัตย์
แต่ การต่อสู้ในทางความคิด การต่อสู้ในทางการเมือง จากระหว่างหาเสียงเลือกตั้งก็ยืดเยื้อเรื้อรังมายังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ และการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นไปตามความคาดหมาย
คือรัฐบาลชนะฝ่ายค้าน
แท้จริงแล้ว ความขัดแย้งจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณก็มิได้แสดงว่าพรรคประชาธิปัตย์มิได้ไม่ต้องการกระตุ้น เศรษฐกิจ และมิได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยจะเห็นแก่คนยากคนจนกระทั่งล้มและมองข้าม ความสำคัญของผู้ประกอบการ
ตรงกันข้าม แนวทางของพรรคเพื่อไทยก็ต้องการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย เพื่อให้ประชาชนมีเงินอยู่ในมือมากขึ้น เพื่อที่จะนำเงินเหล่านั้นมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นวงรอบ
ทุกอย่างล้วนอยู่ในกรอบแห่งเคเนเซี่ยน ต่อยอดและพัฒนาระบอบทุนให้เติบใหญ่
น่ายินดีที่กระบวนการทางสังคมทำให้มีความรับรู้ในระบอบทุนมากยิ่งขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง
โดย เฉพาะความขัดแย้งระหว่างเครือซีพีกับสภาอุตสาหกรรมฯและหอการค้าแห่งประเทศ ไทย และความขัดแย้งระหว่างแนวนโยบายพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์
ระหว่างแนวคิดใหม่กับเก่า ระหว่างความใหม่ที่ใหม่ยิ่งกว่า พัฒนากว่า
...........
เจ้าสัวซีพี. "ธนินท์" แนะ" รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ฟื้นศก.ประเทศหลังน้ำลดอย่างไร? ...คลิกอ่าน